ไทยแลนด์
Friday 26th of April 2024
0
نفر 0

อิมามมะฮ์ดีในมุมมองของปรัชญาประวัติศาสตร์ ตอนที่ 4

อิมามมะฮ์ดีในมุมมองของปรัชญาประวัติศาสตร์ ตอนที่ 4

อิมามมะฮ์ดีในมุมมองของปรัชญาประวัติศาสตร์ ตอนที่ 4

 

 

ยุคต่าง ๆ ของสังคมแห่งอุดมคติ

 

เพื่อที่บทความของเราจะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่า เราน่าจะปิดท้ายประเด็นการศึกษาของเราเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดีในมุมมองของปรัชญาประวัติศาสตร์ด้วยทฤษฎีที่กล่าวถึงยุคต่าง ๆ ของสังคมแห่งอุดมคติซึ่งเป็นประเด็นศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องนี้

 

ท่านชะฮีดมุฮัมมัด  อัศศ็อดร์ ผู้เขียนสารานุกรมอิมามมะฮ์ดี (เมาสูอะฮ์ อัลอิมาม อัลมะฮ์ดี) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโลกภายหลังจากการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดีไว้ โดยอาจแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆได้ดังนี้

 

ยุคแห่งการปรากฏกาย (อัศร์ อัซซุฮูร)


ยุคของกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรม (อัศร์ อัลเอาลิยาอ์  อัศศอลิฮีน)


ยุคของสังคมแห่งผู้ปราศจากความผิดพลาด (อัศร์ อัลมะอ์ศูม)

 

ในยุคแห่งการปรากฏกาย สังคมมนุษย์จะเข้าสู่ความรุ่งเรือง ความผาสุก ความยุติธรรม และความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในยุคใด ซึ่งตัวบทรายงานทางศาสนากล่าวถึงระยะเวลาของยุคนี้ไว้ต่างกัน รายงานบางบทกล่าวว่ายุคนี้จะมีระยะเวลายาวนานถึงเจ็ดปี บางบทกล่าวว่าเก้าปี บางบทกล่าวว่าสิบเจ็ดปี หรือบางบทกล่าวว่าสี่สิบปี แต่อย่างไรก็ดี หลังจากการปรากฏกายของอัลมะฮ์ดีประวัติศาสตร์ก็จะเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่ายุคแห่งอัลมะฮ์ดียูน (ผู้ได้รับการชี้นำ) หรือที่ชะฮีดมุฮัมมัด อัศศ็อดร์ เรียกว่า “กัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรม” (อัลเอาลิยาอ์  อัศศอลิฮีน) ซึ่งภายหลังจากอิมามมะฮ์ดีโลกก็จะอยู่ภายใต้การปกครองของคนกลุ่มหนึ่งที่มีกล่าวถึงไว้ในตัวบทรายงานว่า “อัลมะฮ์ดียูน” ดังวจนะของศาสดามุฮัมมัดที่บันทึกอยู่ในบิหาร อัลอันวาร ว่า “โอ้อะลี ภายหลังจากฉันจะมีอิมามสิบสองคน และหลังจากพวกเขาก็จะมีอัลมะฮ์ดีสิบสองคน และเธอก็เป็นคนแรกของอิมามสิบสองคนนั้น”[1] และในคำวิงวอน (ดุอาอ์) บทหนึ่งก็กล่าวว่า

 

“ข้าแต่อัลลอฮ ขอโปรดทรงประสาทพรแด่บรรดาผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา ผู้เป็นอิมามภายหลังจากเขา และขอทรงทำให้ความปรารถนาของพวกเขาเป็นจริง และโปรดทรงเพิ่มระยะเวลาให้แก่พวกเขา และขอทรงให้การช่วยเหลือพวกเขา ...”[2]

 

ชะฮีดมุฮัมมัด อัศศ็อดร์ กล่าวว่า


“การปกครองของกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรมจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานหรือการเปลี่ยนผ่านที่จะนำสังคมโลกไปสู่ยุคแห่งการปราศจากความผิดพลาด (อัศร์ อัลอิศมะฮ์) ซึ่งความเห็นส่วนรวมที่เป็นเอกฉันท์จะปราศจากความผิดพลาด (อัลมะอ์ศูม) และเมื่อนั้นก็จะไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องมีการแต่งตั้งผู้นำเหมือนกับยุคของกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรม แต่การเป็นผู้นำจะกำหนดโดยสภาและการคัดเลือก”[3]

 

ยุคของอัลมะฮ์ดียูนหรือยุคแห่งกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรมจะมีระยะเวลานานนับสิบปี และหลังจากนั้นโลกก็จะเข้าสู่ยุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คือ ยุคของสังคมแห่งผู้ปราศจากความผิดพลาด (อัศร์ อัลมะอ์ศูม) ที่สังคมมนุษย์จะมีความเป็นเอกเทศในจัดบริหารจัดการโดยไม่ต้องอาศัยผู้นำที่มาจากการแต่งตั้ง แต่การบริหารปกครองทั้งหมดจะอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรม เพียงแต่ข้อแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการคัดเลือกกับกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรม (ดังที่ชะฮีดมุฮัมมัด อัศศ็อดร์ ได้กล่าวไว้) อยู่ตรงที่ “บรรดากัลยาณมิตรผู้ทรงคุณธรรมที่มาจากอัลมะฮ์ดียูนนั้นเกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติจากการอบรมที่พิเศษ และได้รับอำนาจจากอำนาจที่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานและกฎเกณฑ์ที่ได้รับมาจากอิมามมะฮ์ดี ส่วนผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมาจากความเห็นส่วนรวมที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ซึ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่บรรลุถึงความยุติธรรมขั้นสูงถึงระดับของการปราศจากความผิดพลาด (อิศมะฮ์) ที่เกิดขึ้นโดยมิได้อาศัยความจำเป็นใด ๆ ”[4]

 

ยุคสมัยดังกล่าวจะมีระยะเวลายาวนานอยู่หลายศตวรรษ ต่างกับบางทฤษฎีที่กล่าวว่ายุคแห่งสังคมอุดมคติจะดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหลังจากนั้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็จะเข้าสู่ความอยุติธรรมความและความมืดมิดอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างอิงตัวบทรายงานที่ไม่ได้รับการยอมรับบทหนึ่งที่กล่าวว่า “กาลเวลา (วันสิ้นโลก) จะอุบัติขึ้นเหนือเหล่าทุรชน”

 

อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมของพระเจ้ากำหนดว่ายุคแห่งสังคมอุดมคติจะต้องดำรงอยู่อย่างยาวนานเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเป็นการทดแทนให้มนุษยชาติสำหรับความอยุติธรรมและการกดขี่ที่พวกเขาต้องประสบพบเจอมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ อนึ่ง เราจะพบได้ว่ามีตัวบททางศาสนามากมายที่ยืนยันถึงความเชื่อของเรา เช่น “พลพรรคแห่งสัจธรรมยังคงอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ใกล้เข้ามา ซึ่งความสุขสบายในช่วงเวลานั้นยาวนานยิ่ง”[9] ซึ่งวจนะบทนี้บ่งบอกถึงความสุขสบายที่ยาวนานมิใช่ระยะเวลาสั้น ๆ ที่สูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีหะดีษกุดสีย์บทหนึ่ง กล่าวว่า

 

“ขอสาบานด้วยเกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของข้า ข้าจะทำให้ศาสนาของข้าได้ปรากฎด้วยพวกเขา และจะเทิดวจนะของข้าด้วยพวกเขา และจะชำระล้างผืนแผ่นดินให้หมดสิ้นไปจากศัตรูของข้าด้วยคนสุดท้ายของพวกเขา และจะทำให้เขามีอำนาจในปัจฉิมทิศและบูรพาทิศของผืนแผ่นดิน ... จากนั้นข้าก็จะบันดาลให้อำนาจการปกครองของเขามีเวลาอันยาวนาน และข้าจะเปลี่ยนผ่านวันเวลาระหว่างกัลยาณมิตรของข้าไปจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”[6]

 

ซึ่งหะดีษกุดสีย์บทนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า สังคมอุดมคติที่จะสถาปนาขึ้นโดยอิมามมะฮ์ดีจะดำรงอยู่ไปจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และเช่นนี้เองที่สังคมจะเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าทางจิตวิญญาณหลังจากที่ได้ทำการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากร เพื่อที่สมาชิกทุกคนในสังคมจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระผู้สร้าง

 

“เพื่อที่คนทุกคนจะเฝ้าคอยการกลับไปพบกับอัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่อย่างเต็มไปด้วยความปีติยินดีในการบรรลุถึงความพึงพอพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และความโปรดปรานอันยืนนาน ซึ่งอัลลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และเกรียงไกรจะทรงประสงค์ที่จะรับพวกเขาไปสู่พระองค์โดยถ้วนหน้ากัน เสมือนเจ้าบ่าวที่รับตัวเจ้าสาว และคนรักที่กลับไปหาคนรักของตน จากนั้นพวกเขาทั้งหมดจะพบกับความตายในสภาพที่เหมือนกับการดมกลิ่นอันหอมหวนของร็อยฮาน (พืชที่มีกลิ่นหอมชนิดหนึ่ง) และเมื่อนั้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็จะปิดฉากลง เพื่อเข้าสู่การเริ่มต้นของวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”[7]

 


 แหล่งอ้างอิง


[1] บิฮารุลอันวาร มูฮัมมัดบากิร มัจญลิซี เล่ม 36 หน้า 261
[2] หนังสือเดิม เล่ม 92 หน้า 332  
[3] ตารีค มา บะอ์ดัซซูฮูร มูฮัมมัด อัศศ็อดร์ หน้า 647
[4]  เล่มเดิม
[5] บิฮารุลอันวาร มูฮัมมัดบากิร มัจญลิซี เล่ม 64 หน้า 213
 [6]  หนังสือเดิม เล่ม 52 หน้า 312
 [7]  ตารีค มา บะอ์ดัซซูฮูร มูฮัมมัด อัศศ็อดร์ หน้า 665


บทความโดย เชคมิกด๊าด วงศ์เสนาอารี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

อิมามอะลี ...
เตาฮีด ...
...
อิสลามกับการบริจาค
“มุบาฮะละฮ์” ...
อัลมะอาด วันแห่งการฟื้นคืนชีพ
...
ชีวประวัติของท่านหญิงฟาติมะฮ์ ...
ความหมายของตักวาในอัลกุรอาน
อายะฮ์กุรซี กุญแจไขปัญหาต่างๆ

 
user comment