ไทยแลนด์
Wednesday 24th of April 2024
0
نفر 0

ฟิรอูนถูกลงโทษต่อพฤติกรรมที่เป็นบททดสอบของอัลลอฮ์ได้อย่างไร?

โองการที่ ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์กล่าวว่า “และจงรำลึกเถิด ยามที่เราได้ช่วยเหลือสูเจ้าให้พ้นจากการกดขี่ของฟิรอูน ซึ่งสูเจ้าเคยถูกพวกเขาทรมานอย่างสาหัสมาก่อน ถึงขั้นที่ได้สังหารบุตรชายและไว้ชีวิตบุตรสาวของสูเจ้า เหล่านี้ล้วนเป็นบะลา (บททดสอบ) ที่ยิ่งใหญ่” เป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะกริ้วโกรธฟิรอูน ทั้งที่พระองค์ระบุว่าพฤติกรรมของเขาเป็นบททดสอบของพระองค์?
คำตอบโดยสังเขป

หนึ่งในจารีตของพระองค์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ “การทดสอบปวงบ่าว” ซึ่งกระทำผ่านเหตุการณ์และปัจจัยต่างๆ บางครั้งพระองค์ใช้ผู้กดขี่เป็นบททดสอบทั้งๆที่ตัวผู้กดขี่เองไม่ทราบว่าตนเองเป็นบททดสอบ กรณีเช่นนี้จึงหาได้ลดทอนความน่ารังเกียจของพฤติกรรมของพวกเขาไม่ และไม่ทำให้สมควรได้รับการลดหย่อนโทษแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าพระองค์ไม่ได้สั่งให้เขาเป็นบททดสอบสำหรับผู้อื่น ทว่าพระองค์ทรงตระเตรียมการในลักษณะที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้กดขี่แสดงพฤติกรรมกดขี่ด้วยการตัดสินใจของตนเอง การกดขี่ดังกล่าว (ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระองค์) ก็จะกลายเป็นบททดสอบสำหรับผู้อื่น และเนื่องจากการกดขี่ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจตนาของผู้กดขี่เอง จึงสมควรได้รับบทลงโทษ

คำตอบเชิงรายละเอียด

ในโองการนี้ อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่ทรงประทานชาวบนีอิสรออีล นั่นก็คือการปลดแอกพวกเขาให้พ้นจากเหล่าผู้อธรรม
“ทรงปลดปล่อยสูเจ้าให้พ้นจากเงื้อมมือของฟิรอูนที่เคยทรมานสูเจ้าอย่างแสนสาหัส (บั่นคอเด็กชายและจับเด็กหญิงไว้เป็นทาส) การนี้ถือเป็นบททดสอบอันยากเข็ญจากอัลลอฮ์แด่สูเจ้า”
เนื่องจากโองการข้างต้นใช้กริยาปัจจุบันกาล นั่นหมายความว่าชาวบนีอิสรออีลถูกพวกฟิรอูนทรมานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นทาสแรงงานสำหรับฟิรอูนและข้าราชบริพาร

จุดที่สำคัญก็คือ การที่กุรอานถือว่ากรณีดังกล่าวเป็น “บททดสอบ” ที่ยากเข็ญสำหรับบนีอิสรออีล (ความหมายหนึ่งของบะลาคือการทดสอบ) ซึ่งจริงๆแล้วก็ต้องถือว่าการที่จะอดทนต่อความยากลำบากเช่นนั้นเป็นบททดสอบที่ยากยิ่ง[1] คำถามก็คือ เหตุใดที่ฟิรอูนจะต้องถูกลงโทษต่อพฤติกรรมที่อัลลอฮ์ทรงใช้เป็นบททดสอบเล่า?

ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ควรทราบว่าเหตุการณ์ต่างๆล้วนมองได้หลายด้าน เหตุการณ์เดียวสามารถจะเป็นบทลงโทษสำหรับคนหนึ่ง เป็นบททดสอบสำหรับอีกคนหนึ่ง และเป็นเหตุให้ได้รับการเลื่อนขั้น ณ พระองค์สำหรับบางคน ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “บะลาและเหตุการณ์ต่างๆถือเป็นเครื่องดัดนิสัยเหล่าผู้กดขี่ เป็นการทดสอบเหล่าผู้ศรัทธา และเป็นการเลื่อนขั้นสำหรับกัลยาณมิตรของพระองค์”[2]

อีกด้านหนึ่ง “การทดสอบปวงบ่าว”ถือเป็นจารีต (ซุนนะฮ์) ของพระองค์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง กุรอานกล่าวถึงจารีตดังกล่าวว่า “ผู้คนคิดหรือว่าจะถูกปล่อยปละละเลยต่อเมื่อเอ่ยว่า“เราศรัทธาแล้ว”โดยไม่ถูกทดสอบ เราได้ทดสอบกลุ่มชนยุคก่อนหน้าพวกเขา (และจะทดสอบพวกเขาเช่นกัน)”[3] การทดสอบเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปของเหตุการณ์และปัจจัยต่างๆสำหรับแต่ละคน อาทิ ความยากจน ความร่ำรวย การป่วยไข้ การมีสุขภาพดี บางกลุ่มถูกทดสอบด้วยอำนาจวาสนาและความต่ำต้อย บางกลุ่มชนถูกทดสอบด้วยแผ่นดินไหวหรืออุทกภัย แต่อีกกลุ่มชนหนึ่งอาจถูกทดสอบด้วยความมั่งมีศรีสุข บางคนถูกทดสอบด้วยความดีและความชั่ว ฯลฯ

กุรอานกล่าวถึงบททดสอบอันหลากหลายว่า “และเราได้ทดสอบสูเจ้าด้วยเหตุร้ายและเรื่องดี ท้ายที่สุดสูเจ้าก็จะถูกนำตัวกลับมายังเรา”[4]
อีกโองการหนึ่งกล่าวถึงรูปแบบของการทดสอบว่า “...และเราได้ทดสอบแต่ละกลุ่มชนด้วยกลุ่มอื่นๆเช่นนี้”[5]

บางครั้งพระองค์ทรงถือว่าผู้กดขี่เป็นบททดสอบสำหรับบุคคลอื่นๆ ทั้งที่ผู้กดขี่เองก็ไม่รู้ตัว แต่การที่ผู้กดขี่กลายเป็นบททดสอบก็มิได้ลดทอนความผิดบาปและโทษทัณฑ์ของเขาแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะว่าอัลลอฮ์มิได้ทรงบังคับให้เขาทำบาปเพื่อให้เป็นบททดสอบ แต่ทรงตระเตรียมการในลักษณะที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้กดขี่แสดงพฤติกรรมกดขี่ด้วยการตัดสินใจของตนเอง การกดขี่ดังกล่าว (ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระองค์) ก็จะกลายเป็นบททดสอบสำหรับผู้อื่น และสมควรได้รับบทลงโทษด้วยเหตุที่การกดขี่ดังกล่าวกระทำโดยเจตนาของผู้กดขี่เอง

ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงช่วยเหลือศาสนาของพระองค์โดยใช้เหล่าผู้กดขี่เป็นเครื่องมือ ท่านนบี(ซ.ล.)เคยกล่าวว่า “อัลลอฮ์ทรงพิทักษ์ศาสนานี้ (อิสลาม) ด้วยกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความเหมาะสมด้วยประการใดๆทั้งสิ้น”[6]
แม้ว่าในบางครั้งพฤติกรรมของเหล่าอธรรมจะกลายเป็นเหตุให้ศาสนาของพระองค์แข็งแกร่งขึ้น แต่ก็มิได้เป็นเหตุให้คนเหล่านี้ควรได้รับรางวัลจากพระองค์แต่อย่างใด

จากข้อชี้แจงข้างต้นทำให้ทราบว่า แม้ความประพฤติของผู้กดขี่จะเป็นบททดสอบหนึ่งของอัลลอฮ์ก็ตาม แต่ก็มิได้ทำให้ความผิดและโทษทัณฑ์ของเขาลดหย่อนแต่ประการใด เนื่องจากพระองค์มิได้ทรงบัญชาให้เขาทำบาป (เพื่อให้เป็นบททดสอบ) ทว่าทรงทำให้ “ความผิดบาปของเขา” เป็นบททดสอบสำหรับผู้อื่น
 

 


[1] มะการิม ชีรอซี, นาศิร, ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 1,หน้า 248,429(ปรับปรุงเล็กน้อย), ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1374

[2] นูรี,มุสตัดเราะกุ้ลวะซาอิ้ล,เล่ม 2,หน้า 438, 23-2400 ,สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์,กุม,ฮ.ศ.1408 ญามิอุ้ลอัคบ้าร قَالَ أَمِيرُ الْمُؤْمِنِينَ ع إِنَ الْبَلَاءَ لِلظَّالِمِ أَدَبٌ وَ لِلْمُؤْمِنِ امْتِحَانٌ وَ لِلْأَنْبِيَاءِ دَرَجَةٌ وَ لِلْأَوْلِيَاءِ كَرَامَةٌ

[3] อังกะบูต,2,3 أَ حَسِبَ النَّاسُ أَن يُترَْكُواْ أَن يَقُولُواْ ءَامَنَّا وَ هُمْ لَا يُفْتَنُونَ(2)وَ لَقَدْ فَتَنَّا الَّذِينَ مِن قَبْلِهِم

[4] อันบิยาอ์,35 وَ نَبْلُوكُم بِالشَّرِّ وَ الخَْيرِْ فِتْنَةً  وَ إِلَيْنَا تُرْجَعُونَ

[5] อันอาม,53 وَ كَذَالِكَ فَتَنَّا بَعْضَهُم بِبَعْضٍ...

[6] กุลัยนี,มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ,อัลกาฟี,เล่ม 5,หน้า 19,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1365 :"... إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَ جَلَّ يَنْصُرُ هَذَا الدِّينَ بِأَقْوَامٍ لَا خَلَاقَ لَهُمْ ...

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
“มุบาฮะละฮ์” ในประวัติศาสตร์
จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ ...
มะอาด : ...
ฟาฏิมะฮ์ ...
มองเรื่อง “ข่าวลือ” ...
เคล็ดลับอายุยืน(1)
ชัยฏอน คือ ...
มุอ์ญิซะฮ์ (ปาฏิหาริย์) ...

 
user comment