ไทยแลนด์
Tuesday 16th of April 2024
0
نفر 0

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 6

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 6

 

จุดประสงค์ที่แท้จริงในการเรียกร้อง “อิบนิฮุร” ให้ทำการช่วยเหลือ

 

 

          เมื่อพิจารณาถึงเรื่องราวของการพบปะกันของท่านอิมาม (อ.) กับอับดุลลอฮ์ บินฮุร และการขอความช่วยเหลือของท่านจากเขา อาจจะมีคำถามต่อไปนี้เกิดขึ้นในความนึกคิดของผู้อ่านได้ นั่นคือ การเรียกร้องเชิญชวนของท่านอิมาม (อ.) จากบุคคลที่เป็นขุนโจรและเป็นอาชญากรที่เลื่องชื่อของโลกอาหรับ ที่มิได้มีจิตใจผูกพันใดๆ ต่อท่าน อีกทั้งเคยเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้คัดค้านและเป็นศัตรูของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) มาก่อน ส่วนในอีกด้านหนึ่ง คือการอนุญาตอย่างเป็นอิสระแก่กลุ่มชนหนึ่งที่ร่วมเดินทางมากับท่าน ตั้งแต่นครมะดีนะฮ์และมักกะฮ์ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความเสียสละและมีความพร้อมที่จะยอมพลีในระดับที่สูงส่ง อีกทั้งเป็นผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของท่านในทุกเวลา ซึ่งเป็นไปตามคำพูดของท่านอิมาม (อ.) เองว่า ไม่มีสาวกในช่วงสมัยใดที่จะเป็นผู้มีความจริงใจและเป็นผู้เสียสละยิ่งไปกว่าพวกเขาเหล่านั้น ทั้งสองสิ่งนี้ (การเรียกร้องขุนโจรให้ทำการช่วยเหลือ กับการให้อิสระแก่บรรดาสาวกที่มีความจริงใจเหล่านั้น) มันจะเป็นเรื่องที่เข้ากันได้อย่างไร การให้อิสระแก่บรรดาสาวกที่พร้อมยอมพลีเหล่านั้นเพื่อเหตุผลอันใด และการเรียกร้องผู้ที่มีพฤติกรรมเยี่ยงขุนโจรผู้นี้ให้มาช่วยเหลือและขอความร่วมมือจากเขานั้น มีจุดมุ่งหมายอันใด?!

 

 

          หากเราพิจารณาใคร่ครวญสักเล็กน้อยเกี่ยวกับบทบาทของบรรดาอิมามผู้ชี้นำทาง และตรวจสอบถึงแผนงานต่างๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำศึกสงครามและการสร้างสันติภาพ การเดินทางและการหยุดนิ่งของพวกเขา คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นจะเป็นที่ประจักษ์ชัดสำหรับเรา เพราะว่าบรรดาอะอิมมะฮ์ (ผู้ชี้นำทาง) คือผู้สานต่อแนวทางและเจตนารมณ์ของศาสดาทั้งหลาย ซึ่งไม่มีเป้าหมายอื่นใดเลยนอกจากการปลดปล่อยมนุษยชาติ และให้ความรอดพ้นแก่ผู้ที่กำลังจมดิ่งลงสู่ห้วงเหวทั้งหลาย การให้ความรอดพ้นดังกล่าวนี้ บางครั้งเป็นการปฏิบัติในรูปของส่วนรวม บางครั้งเป็นการปฏิบัติในรูปแบบที่เป็นการเฉพาะสำหรับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นพิเศษ และการไปยังที่พักของขุนโจรผู้ละเมิดของท่านอิมาม (อ.) เป็นเหมือนเช่นเดียวกับที่ศาสดาอีซา (อ.) ที่ไปยังบ้านของผู้เก็บส่วยภาษีและบ้านของหญิงชั่วนางหนึ่ง ซึ่งสาเหตุและแรงบันดาลใจของบุคคลทั้งสองนั้นคือสิ่งเดียวกัน ท่านศาสดาอีซา (อ.) ได้ให้คำตอบแก่บุคคลที่กล่าวว่า “ทำไมท่านกับสาวกของท่านจึงไปยังบ้านของหญิงชั่วผู้นั้น” ท่านกล่าวว่า “ในบางครั้งหมอก็จำเป็นต้องไปยังบ้านของผู้ป่วยด้วยตนเองเหมือนกัน” (1)

 

 

          ในการพบปะกับอับดุลลอฮ์ บินฮุรนั้น ท่านอิมาม (อ.) ก็ได้หยิบยกปัญหาของความเป็นหมอและการให้ความรอดพ้นแก่เขาจากความผิดบาปและจากอาชญากรรมอันมากมายในอดีตของเขาขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก และท่านได้นำเอาหนทางแห่งความรอดพ้นมาวางลงแทบเท้าเขา โดยท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงเจ้านั้นมีบาปอยู่มากมาย (ซึ่งกระทำไว้ตลอดชั่วอายุของเจ้า) ดังนั้นเจ้าพร้อมหรือไม่ที่จะทำการเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) ซึ่งเจ้าจะได้ลบล้างความผิดบาปทั้งหลายของตนเองด้วยสิ่งนี้”

 

 

          แต่อับดุลลอฮ์มิได้ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของท่านอิมาม (อ.) เขากลับเสนอให้ท่านอิมาม (อ.) รับเอาม้าตัวหนึ่งของเขาไปแทน เพื่อว่าในวันที่ทำการสู้รบมันจะทำให้ท่านปลอดภัยจากคมหอกคมดาบจากการสู้รบที่หนักหน่วงได้ เขามองปัญหาทั้งหมดด้วยสายตาแห่งวัตถุ จากมุมมองของชัยชนะและความพ่ายแพ้เพียงด้านภายนอก และเขาได้สรุปคำพูดของตนไว้เพียงคำสองคำคือ “การจู่โจม” และ “การถอยหนี” ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวว่า “ดังนั้นเราก็ไม่มีความต้องการใดๆ จากเจ้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นม้าศึกของเจ้าหรือว่าตัวเจ้าเอง” และ “ฉันจะไม่ยึดเอาบรรดาผู้หลงทางมาเป็นแขน (ขุมกำลัง) ของตนเองอย่างแน่นอน”

 

 

คำตอบที่มีต่อ “อัมร์ บินเกซ” และบุตรของลุงของเขา

 

 

          ในสถานที่พักแห่ง “บนีมุกอติล” ก็เช่นเดียวกัน อัมร์ บินเกซ มัชริกีย์ ได้เข้ามาพบท่านอิมาม (อ.) พร้อมด้วยบุตรของลุงของเขา ท่านอิมาม (อ.) ถามว่า “เจ้าทั้งสองมาเพื่อการช่วยเหลือฉันกระนั้นหรือ” พวกเขาตอบว่า “หามิได้! เพราะว่าในด้านหนึ่งนั้นพวกเรามีลูกๆ จำนวนมาก และในอีกด้านหนึ่ง ทรัพย์สินจากการค้าขายของประชาชนอยู่ที่เรา และพวกเราก็รู้ดีว่าชะตากรรมของท่านจะดำเนินไปถึงจุดใด ดังนั้นไม่เป็นการเหมาะสมที่ทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่กับเราจะถูกทำลายและถูกทำให้เสียหายไป”

 

 

          ตรงจุดนี้เองที่ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบโต้บุคคลทั้งสองว่า “เจ้าทั้งสองจง (ละทิ้งไปจากสถานที่แห่งนี้) เสียเถิด เพื่อเจ้าทั้งสองจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากฉัน และจะได้ไม่ต้องพบเห็นร่องรอยใดๆ ของฉัน เพราะแท้จริงบุคคลใดก็ตามที่ได้ยินเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของเรา และเห็นร่องรอยใดๆ ของเรา แต่เขามิได้ตอบสนองต่อคำเรียกร้องของเรา หรือมิได้ให้การช่วยเหลือเรา ดังนั้นเป็นหน้าที่ของอัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกร ที่จะกระชากจมูกของเขาให้คว่ำคะมำลงสู่ไฟนรก”

 

การลงโทษอันหนักหน่วง

 

          จากคำพูดข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) และที่คล้ายคลึงกันจากบทก่อนหน้านี้ ท่านได้กล่าวมันออกมาเพื่อเป็นการตักเตือนและเป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อ ”อับดุลลอฮ์ บินฮุร” ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญต่อไปนี้คือ

 

          บุคคลต่างๆ ที่มิได้ตอบสนองต่อการเรียกร้องขอความช่วยเหลือของท่านอิมาม (อ.) และของผู้นำทางศาสนาของพวกเขา ในขณะที่พวกท่านต้องการการช่วยเหลือค้ำจุน แน่นอนพวกเขาจะต้องประสบกับการลงโทษอันหนักหน่วงที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยความต่ำต้อยและความไร้เกียรติ เพราะสำนวนคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ในสองประเด็นที่เกี่ยวกับบุคคลประเภทนี้มิได้มีความหมายเพียงแค่ว่า พวกเขาจะต้องเข้าสู่นรกญะฮันนัมเท่านั้น แต่ทว่าสำนวนคำพูดของท่านอิมาม (อ.) เกี่ยวกับการผลของการลงโทษของบุคคลประเภทนี้นั้นก็คือ

 

          “อัลลอฮ์จะทรงฉุดกระชากปลายจมูกของพวกขาให้คว่ำคะมำลงสู่ไปนรก” ความหมายของคำพูดประโยคนี้มันคือการลงโทษที่หนักหน่วง ซึ่งประกอบไปด้วยความต่ำต้อยและไร้เกียรติ… ก็จะทำไมเล่า! ที่โทษทัณฑ์ดังกล่าวจะไม่ติดตามบุคคลเหล่านี้ไป? หรือว่าการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากท่านอิมามและผู้นำทางศาสนาเป็นอื่นไปจากการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากอัลกุรอานและจากศาสนากระนั้นหรือ? หรือว่าการเรียกร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นอื่นไปจาการเรียกร้องขอความช่วยเหลือของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และการขอความช่วยเหลือของท่านศาสนทูตนั้นมิใช่คำสั่งที่เด็ดขาดจากพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ?

 

          จึงจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจด้วยว่า โทษทัณฑ์ดังกล่าวตามคำพูดของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) มิใช่เป็นประเด็นเฉพาะหรือจำกัดอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทว่ามันเป็นประเด็นที่สัมพันธ์โดยตรงไปยังตำแหน่งและฐานะของความเป็นผู้นำ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ในวันหนึ่งมันอาจจะปรากฏขึ้นในตัวของศาสนทูต และในวันหนึ่งมันอาจจะปรากฏขึ้นในตัวแทนทั้งหลายของท่าน คือบรรดาอะอิมมะตุ้ลฮุดา (อ.) และในอีกวันหนึ่งมันอาจจะปรากฏขึ้นกับบุคคลที่มีฐานะตำแหน่งที่ต่ำลงมา ซึ่งเป็นบรรดาตัวแทนของท่านอิมามเหล่านั้น นั่นก็คือตำแหน่ง “วิลายะตุ้ลฟะกีย์”

 

 

อีกตัวอย่างหนึ่งจากความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่

 

          แม้ว่า “อับดุลลอฮ์ บินฮุร” จะสูญเสียโอกาสแห่งความสำเร็จและความไพบูลย์ที่มีมาถึงเขา ณ ค่ายพักของตนเองไปอย่างไร้ค่า แม้ว่าเขาจะมิได้ตอบรับการให้ความช่วยเหลือต่อท่านอิมามและตำแหน่งของการเป็นชะฮีด ซึ่งจะเป็นการสร้างหลักประกันแห่งความปลอดภัยและความโชคดีสำหรับเขา จนเป็นเหตุให้เขาต้องหลั่งน้ำตาแห่งความรันทดต่อความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่นี้ไปตลอดชีวิตของเขาก็ตาม แต่ทว่าประวัติศาสตร์แห่งอาชูรอก็ได้ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างจาก “อัมร์ บินเกซ” ว่าเป็นตัวอย่างชี้ชัดที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า “อับดุลลอฮ์ บินฮุร” ในเรื่องของความอัปยศและการพลาดโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ เพราะดั่งที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบทก่อนหน้าว่า การใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อันไม่จีรังยังยืนของ “อับดุลลอฮ์” ที่หลงใหลในตัวเองถึงขั้นที่ว่า เขาได้นำตัวเองเข้าสู่มุมอับด้วยการปฏิเสธคำตักเตือนและความปรารถนาดีของท่านอิมาม (อ.) ตั้งแต่เริ่มแรก และเขาหลีกเลี่ยงจากการแบกรับความรับผิดชอบทั้งหมดด้วยคำพูดประโยคเดียวที่ว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านจงอย่าได้ถือโทษต่อข้าพเจ้าจากการตัดสินใจเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้าจะหลบหนีจากความตายจนถึงที่สุด”

 

 

          ส่วน “อัมร์ บินเกซ” หลังจากข้ออ้างในการแก้ตัว เขาต้องตกอยู่ในภวังค์จากคำตักเตือนของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) อีกครั้งหนึ่ง และด้วยกับการรับฟังคำพูดที่ว่า “เจ้าทั้งสองจง (ออกไปจากสถานที่แห่งนี้) เถิด เพื่อที่เจ้าทั้งสองจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของฉัน…” ทำให้เขาต้องแยกตัวออกจากบรรดาสาวกของท่านอิมาม (อ.) แต่เขาได้ตั้งเงื่อนไขกับท่านอิมามว่า “ข้าพเจ้าจะขอปกป้องท่านตราบเท่าที่การให้การป้องกันของข้าพเจ้ายังคงมีประโยชน์สำหรับท่าน และมีผลต่อชะตากรรมแห่งชัยชนะของท่าน และหากเป็นไปในรูปอื่นนอกจากนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ที่มีอิสระจากการแยกตัวและการละออกไปจากท่าน” และท่านอิมาม (อ.) ก็ตอบรับการบัยอะฮ์ (ให้สัตยาบัน) ที่มีเงื่อนไขของเขา

 

          ส่วน “อัมร์ บินเกซ” ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านอิมาม (อ.) ในขณะที่เขาได้ยินเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของท่านอิมาม (อ.) และในขณะที่บรรดาสาวกผู้ซื่อสัตย์ของท่านต้องกลิ้งเกลือกลงบนพื้นดิน และชุมโชกไปด้วยเลือดของตนเองคนแล้วคนเล่า เขาจึงขึ้นขี่ม้าร่างเพรียวของเขาและเลือกเอาการหลบหนีแทนการตั้งมั่น เขาได้ละทิ้งท่านอิมาม (อ.) ไปในสถานการณ์เช่นนั้น และเพียงไม่กี่อึดใจเท่านั้น หากเขาออกไปยังสนามศึก เขาก็จะได้ติดตามบรรดาชะฮีดทั้งหลายไป แต่ทว่าเขาได้สูญเสียโชคผลอันยิ่งใหญ่ สูญเสียความสำเร็จและความไพบูลย์อันเป็นนิรันดร์นี้ไป

 

 

          ท่านฏ็อบรีย์ อ้างรายงานการพบปะกันครั้งนี้ และเหตุการณ์แยกตัวออกไปของเขาไว้อย่างละเอียด ด้วยการเล่าเรื่องราวจากตัวของเขาเอง และคำพูดโดยสรุปของเขาในวัน “อาชูรอ” ก็คือ เมื่อฉันได้ประจักษ์แจ้งว่า บรรดาทหารแห่งเมืองกูฟะฮ์ได้จู่โจมติดตามเหล่าม้าศึกของฝ่ายท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เข้ามาอย่างกระชั้นชิด ฉันได้ผูกม้าของฉันไว้ในค่ายพักที่ว่างเปล่าหลังหนึ่ง ฉันเดินจ้ำไปยังข้าศึก และสามารถสังหารพวกเขาได้ถึงสองคน ส่วนคนที่สามนั้นฉันได้ตัดแขนของเขา ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) กล่าวซ้ำขึ้นหลายครั้งว่า “ดีแล้ว เข้าเป้าแล้ว ขออัลลอฮ์ทรงอย่าได้ตัดแขนเจ้าเลย และขออัลลอฮ์ทรงประทานรางวัลตอบแทนที่ดีแก่เจ้า”

 

 

          อัมร์ บินเกซ ได้กล่าวเสริมว่า เมื่อฉันมองเห็นบรรดาสาวกทั้งหมดของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้เป็นชะฮีดจนหมดสิ้น คงเหลืออยู่ก็แต่เพียง “ซุเวจ บินอัมร์” และ “บะชัร ฮัฎระมีย์” ฉันก็ได้ไปพบท่านและกล่าวกับท่านว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ท่านก็ทราบดีว่าระหว่างข้าพเจ้ากับท่านนั้นมีเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “เจ้าพูดถูกแล้ว แต่ทว่าเจ้าจะนำชีวิตออกไปจากสนามรบนี้อย่างปลอดภัยได้อย่างไรเล่า หากเจ้ามีความสามารถที่จะกระทำมัน เจ้าก็มีอิสระที่จะออกไป”

 

 

          อัมร์ บินเกซ กล่าวว่า “เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้อนุญาตแก่ฉัน และยกเลิกการบัยอะฮ์จากฉัน ฉันจึงจูงมาของฉันออกมาจากในค่ายพัก ฉันขึ้นขี่และควบมันฝ่าวงล้อมของบรรดาศัตรูออกไป ฉันมุ่งหน้าเดินทางไปอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากฝ่าวงล้อมของข้าศึกจำนวนสิบห้าคนที่ไล่ตามฉันมา พวกเขาเข้ามาใกล้ฉัน ณ ชายฝั่งแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) ในสถานที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านหนึ่งที่มีชื่อว่า “ชะฟีย์” เมื่อฉันหันหลังกลับ สามคนจากพวกเขาซึ่งรู้จักฉัน พวกเขากล่าวกับบรรดาสหายของเขาว่าให้เลิกล้มการติดตามฉันเสีย และด้วยเหตุนี้เองฉันจึงรอดพ้นจากความตายมาอย่างหวุดหวิด”

 

 

ณ สถานที่ที่ใกล้เคียงกับกัรบาลาอ์

 

 

          ณ สถานที่พักซึ่งมีชื่อว่า “ก็อศรุบนีมะกอติล” และในช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืน ท่านอิมาม (อ.) ได้ออกคำสั่งให้บรรดาชายหนุ่มบรรจุน้ำลงในถุงหนังทั้งหมดให้เต็ม และให้มุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังสถานที่พักต่อไปข้างหน้า ในขณะที่คาราวานยังคงเคลื่อนที่ไปอยู่นั้น เสียงของท่านอิมาม (อ.) ดังขึ้นจนได้ยินถึงโสตประสาทของบุคคลทั้งหลาย โดยท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราต้องกลับคืนสู่พระองค์ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากุลโลก” ท่านกล่าวสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

 

          ท่านอะลี อักบัร บุตรชายผู้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญของท่านจึงถามสาเหตุของการกล่าว “อินนาลิลลาฮ์…” ครั้งนี้ของท่าน ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบว่า “แท้จริงฉันได้เผลอหลับไปชั่วขณะหนึ่ง ในขณะนั้นเองมีชายคนหนึ่งขี่ม้ามาปรากฏขึ้นต่อหน้าฉัน โดยที่เขาได้กล่าวว่า “กลุ่มชนนี้กำลังมุ่งหน้าไปในยามค่ำคืน ความตายก็เช่นเดียวกัน มันกำลังเคลื่อนตามไปยังพวกเขา ดังนั้นฉันจึงรู้ได้ทันที่ว่า แท้จริงเราได้รับแจ้งข่าวแห่งความตายแล้ว” ท่านอะลี อักบัร กล่าวว่า “ขออัลลอฮ์อย่าได้ทรงทำให้ท่านพบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายเลย เรามิใช่เป็นฝ่ายที่อยู่บนสัจธรรมหรือ”

 

 

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ใช่ซิ! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า เรามิได้ย่างก้าวไปนอกเสียจากบนหนทางแห่งสัจธรรม” ท่านอะลี อักบัร กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องใส่ใจอะไรกับการที่เราจะต้องตายลงในสภาพที่อยู่กับสัจธรรม”

 

 

          ในช่วงเวลานั้นเองท่านอิมาม (อ.) ได้ขอพรให้กับท่านโดยกล่าวว่า “ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนรางวัลแห่งบุตรให้กับเจ้า อันเป็นรางวัลที่ดีที่สุดที่พระองค์จะทรงตอบแทนมันแก่บุตร (ที่ปฏิบัติดี) ต่อผู้เป็นบิดาของเขา”

 

 

          ใช่แล้ว! หากการถูกสังหารรวมทั้งการยืนหยัดต่อสู้และการปฏิวัติ เป็นสิ่งที่อยู่ในหนทางแห่งสัจธรรม จึงไม่มีความน่าหวาดกลัวใดๆ ทั้งสิ้นในความตายเช่นนี้ และนี่คือบทเรียนหนึ่งที่โรงเรียนแห่งฮูเซน (อ.) ได้อบรมสั่งสอน มิใช่เพียงแต่สำหรับบุตรของตนเองเพียงเท่านั้น แต่ทว่ามันสำหรับบรรดาผู้ที่ยึดมั่นปฏิบัติตามแบบฉบับของพวกท่านทั้งหลาย

 

 

          “หากความตายคือการเป็นสุภาพชนแล้ว จงกล่าวเถิด จงมาสู่ฉันซิ เพื่อที่ฉันจะได้สวมกอดมันไว้ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยในอ้อมอกของฉัน”

 

 

 

 

เชิงอรรถ :

 

(1) จากจุดนี้เราจะพบว่า ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ไว้ว่า “(ท่านศาสนทูตคือ) หมอคนหนึ่งที่ทำการรักษาเยียวยา (ผู้ป่วย) ด้วยตัวของท่านเองอย่างขะมักเขม้น”

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ปรัชญาของวันอีดฟิตร์
...
...
ตัฟซีร ซูเราะฮ์อัลอิคลาศ ตอนที่ ...
การผ่าดวงจันทร์ (ชักกุ้ลกอมัร) ...
บันทึกประวัติ “ปาเลสไตน์” ...
...
ดุอากุเมล คำอ่านพร้อมความหมาย
อัลกุรอาน โองการสุดท้ายคืออะไร ...
ความอธรรมในอัลกุรอาน

 
user comment