ไทยแลนด์
Friday 29th of March 2024
0
نفر 0

เคมีแห่งความผาสุกและความสำเร็จในชีวิต


เคมีแห่งความผาสุกและความสำเร็จในชีวิต

 

    มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งเพื่อที่จะสนองตอบความจำเป็นทางร่างกาย วัตถุ จิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกของตนนั้น จำเป็นจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดเวลา และหากปราศจากการคบหาสมาคมกับผู้อื่น มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มขีดความสามารถของตนในทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ทั้งส่วนบุคคลและด้านสังคมให้ครอบคลุมอย่างสมบูรณ์ได้

 

      มนุษย์ทุกคนเพื่อที่จะสนองตอบความจำเป็นในการคบหาสมาคมและการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้นจะพยายามค้นหาคนที่เมื่ออยู่ร่วมกับพวกเขาแล้วจะรู้สึกถึงความสงบสุข สะดวกสบายและความโชคดี ด้วยเหตุนี้เองอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดจึงคำนึงถึงมารยาทและศักยภาพต่างๆ ที่หลากหลายที่จะสนองต่อมนุษย์เพื่อจะบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว และได้ใช้ประโยชน์จากกลยุทธ์และวิธีการทางความคิดและอารมณ์ทั้งหมด ที่จะส่งผลต่อการชี้นำและความสำเร็จของมนุษย์ และได้จัดเตรียมพื้นฐานของการพัฒนา ความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้าของบุคคลและสังคมมนุษย์ขึ้นภายใต้กรอบของคำเชิญชวนไปสู่คำสอนต่างๆ ที่ทรงคุณค่านั้น

 

      หนึ่งในมารยาทเหล่านี้คือกระบวนการคบหามิตรและการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายมารวมตัวกันและจะช่วยอำนวยความสะดวก ความสุขสบายและความสวยงามของการดำเนินชีวิตให้แก่พวกเขา

 

      มิตรภาพและการคบหาสมาคมกับคนดีมีคุณธรรมนั้นถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่สุดในชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งจากปัจจัยของความผาสุกและความภาคภูมิใจของมนุษย์ ด้วยกับมิตรสหายที่เป็นคนดีและมีคุณธรรมนั้นจะทำให้มนุษย์สามารถข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ที่หนักหน่วงในชีวิตไปได้และจะทำให้เขาบรรลุเป้าหมายและอุดมคติต่างๆ ที่แท้จริงของตนได้

 

      แนวทางของศาสนาและจิตวิทยาบ่งชี้ว่า บุคคลที่ไร้มิตรและขาดการคบหาสมาคมกับเพื่อนมนุษย์นั้นจะเป็นคนแปลกหน้าและโดดเดี่ยว คนลักษณะนี้จะเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกและสิ่งต่างๆ อยู่ในหัวใจของตนและไม่สามารถรู้จักตัวตนของตัวเองตามที่ควรจะเป็นได้ โดยที่ในการดำเนินชีวิตนั้นเขาจะขาดความเบ่งบานและความมั่งคั่งทางปัญญาและจะสูญเสียสดใสและความมีชีวิตชีวาไป ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

مُلاقاهُ الاْ خوانِ نَشْرَهٌ، وَ تَلْقیحٌ لِلْعَقْلِ وَ إ نْ کانَ نَزْرا قَلیلا

 

"การพบปะ (และการไปมาหาสู่) กับมิตรสหายนั้นจะก่อให้เกิดความเบิกบานและความเบ่งบานของสติปัญญา (ความคิดอ่าน) แม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม” (1)

 

      จากมุมมองของท่านอิมามญะวาด (อ.) คนที่จะถูกนับเป็นเพื่อนที่แท้จริงได้นั้นจะต้องเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนถึงคุณค่าทางจริยธรรม เป็นผู้รักษาความลับ เป็นผู้ช่วยเหลือและที่ปรึกษาทางด้านความคิดในปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ ที่มาประสบในชีวิต ช่วยเหลือผู้อื่นในทางของการดำรงตนอยู่ในศาสนาและยกระดับความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และความใกล้ชิดต่อพระเจ้า โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องธำรงความเป็นสายกลางและความพอเหมาะพอควรในเรื่องนี้

 

      เนื่องจากการรักษาความเป็นสายกลางและความพอเหมาะพอควรในมิตรภาพและความเป็นเพื่อนนั้นจะเป็นหลักประกันของความคงทนยั่งยืนของความรัก โดยที่มิตรภาพลักษณะนี้เท่านั้นที่จะก่อประโยชน์และสายสัมพันธ์ของมันจะมีความแข็งแรงโดยที่จะไม่ขาดสะบั้นลงอย่างเด็ดขาด  ดังนั้นคนเราต้องระมัดระวังและจะต้องเลือกบุคคลทั้งหลายมาเป็นมิตรที่จะทำให้ความกรุณาและความเมตตา (เราะห์มัต) ของพระเจ้าปกคลุมพวกเขาและอย่าได้กระทำอะไรอันจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความกริ้วโกรธของพระเจ้า ในความเป็นจริงแล้วการคบมิตรกับปวงบ่าวที่มีคุณธรรมคือการโน้มเอียงไปสู่ความเมตตา (เราะห์มัต) ของพระเจ้าและการละทิ้งจากการคบมิตรกับคนเลวคือการหลีกหนีจากความกริ้วโกรธและพิโรธของพระองค์

 

       คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَتَوَلَّوْا قَوْمًا غَضِبَ اللَّهُ عَلَيْهِمْ قَدْ يَئِسُوا مِنَ الْآخِرَةِ كَمَا يَئِسَ الْكُفَّارُ مِنْ أَصْحَابِ الْقُبُورِ

 

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! พวกเจ้าอย่าได้เอาหมู่ชนที่อัลลอฮ์ทรงกริ้วพวกเขามาเป็นมิตร แน่นอนพวกเขาสิ้นหวังต่อวันปรโลก เช่นเดียวกับที่พวกปฏิเสธศรัทธาที่อยู่ในหลุมศพสิ้นหวัง” (2)

 
มิตรแบบไหน?

 

       มิตรภาพและการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นๆ หากเป็นไปเพื่อพระเจ้าและวางอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและบริสุทธิ์จากสีสันของผลประโยชน์ทางวัตถุและความโลภหลงแล้วมันจะคงทนยั่งยืน เนื่องจากพื้นฐานของมันเป็นสิ่งคงทนถาวรและเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความพึงพอพระทัยของพระเจ้า มิตรภาพลักษณะนี้จะเป็นสื่อของการพัฒนาและการยกระดับสถานะทางจิตวิญญาณของบรรดาบุคคลในสังคมโดยที่จะทำให้ทุกคนไปถึงความผาสุกและความสำเร็จในระดับสูงสุด

 

      ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้กล่าวถึงมิตรภาพที่แท้จริงว่า :

 

مَنِ استَفادَ أخاً فِي اللهِ عَزَّوجَلَّ استَفادَ بَيتاً فِي الجَنَّةِ

 

“ใครก็ตามที่ได้รับประโยชน์จากมิตรสหายในวิถีทางของพระเจ้าเขาจะได้ประโยชน์จากบ้านหลังหนึ่งในสวรรค์” (3)

 

       ถ้อยคำอันทรงคุณค่านี้ของท่านอิมาม (อ.) ชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ว่า การมิตรภาพที่เป็นไปเพื่อความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้านั้น จะสื่อในการบรรลุสู่สรวงสวรรค์และปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะมัต) ต่างๆ ในชีวิตแห่งปรโลกผู้ศรัทธาและคนดีมีคุณธรรม เนื่องจากคนดีและมีคุณธรรมนั้นในผลของการปฏิสัมพันธ์และการคบหาสมาคมกับคนดีด้วยกันจะช่วยส่งเสริมตนให้ทำความดีและมีนิสัยใจคอที่ดีงามซึ่งผลของมันก็คือความสำเร็จและความผาสุกอันเป็นนิรันดร์

 

      แต่ถ้าหากการคบมิตรกับผู้อื่นๆ เป็นไปในทิศทางอื่นที่ไม่ใช่ทางแห่งพระเจ้าและห่างไกลจากความยำเกรงพระเจ้า (ตักวา) แล้วไม่ช้าก็เร็วพวกเขาจะกลายเป็นศัตรูต่อกัน

 

      คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :

 

الْأَخِلَّاءُ يَوْمَئِذٍ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ عَدُوٌّ إِلَّا الْمُتَّقِينَ

 

“ในวันนั้นบรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูต่อกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง (พระเจ้า)” (4)

 
การคบมิตรเครื่องสะท้อนถึงบุคลิกภาพของบุคคล

 

      บุคลิกภาพของแต่ละคนในสังคมจะถูกพิจารณาด้วยกับมิตรสหายที่เขาคบหาสมาคมด้วย อิทธิพลและผลกระทบของกลุ่มเพื่อนที่มีต่อพฤติกรรม คำพูดและการกระทำของบุคคลนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงขั้นสามารถจะรับรู้ถึงบุคลิกภาพผู้คนทั้งหลายได้โดยผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้บรรทัดฐานที่ดีที่สุดประการหนึ่งในการรู้จักคนนั้นคือหมู่มิตรและเพื่อนฝูงของเขา

 

      มีรายงานจากท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ซึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

لا تَحكُموا عَلى رَجُلٍ بِشَي ءٍ حَتّى تَنظُروا مَن يُصاحِبُ ؛ فَإِنَّما يُعرَفُ الرَّجُلُ بِأَشكالِهِ و أقرانِهِ ، و يُنسَبُ إلى أصحابِهِ وإخوانِهِ

 

 "ท่านทั้งหลายอย่าได้ตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร จนกว่าพวกท่านจะได้พิจารณาดูบุคคลที่เขาคบเป็นเพื่อน เพราะแท้จริงคนเราจะถูกรู้จักได้ด้วยกับคนที่เหมือนกับเขาและผู้คนที่รายล้อมเขา และเขาจะถูกอ้างสัมพันธ์ไปยังมิตรสหายและเพื่อนฝูงของเขา” (5)

 

      โดยทั่วไปการคบมิตรกับคนเลวและคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้นจะทำให้คนเราแยกตัวออกจากกลุ่มคนดีและคนมีคุณธรรม และทำให้เขาเข้าอยู่ในหมู่ของคนชั่ว โดยที่เขาจะไม่สนใจและรับฟังคำตักเตือนของคนดีอีกต่อไป กระทั่งว่าจะทำให้เขาคิดในแง่ร้ายต่อคนดีทั้งหลายได้ ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามญะวาด (อ.) จึงกล่าวว่า :

 

مُجَالَسَةُ الْأَشْرَارِ تُورِثُ سُوءَ الظَّنِّ بِالْأَخْيَارِ

 

“การคบหาสมาคมกับคนชั่วนั้นจะทำให้คิดในแง่ร้ายต่อบรรดาคนดี” (6)

 

     ดังนั้นหนึ่งในบรรทัดฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับการรู้จักคนนั้นคือเพื่อนฝูงและหมู่มิตรของเขาซึ่งเป็นคนเหล่านี้จะเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพและการดำรงอยู่ของเขา เนื่องจากคนเราจะโน้มเอียงไปสู่บรรดาผู้ที่ในแง่ของด้านใน (จิตใจ) และโครงสร้างทางด้านบุคลิกภาพมีความคล้ายกันกับตัวเอง

 

แหล่งอ้างอิง:

 

1.มุนตะฮัลอามาล, เชคอับบาส กุมมี, เล่ม 2, หน้า 229

2.อัลกุรอานบทอัล มุมตะฮินะฮ์ โองการที่ 13

3.เมาซูอะฮ์ กะลิมาต อัลอิมามุลญะวาด (อ.), เล่ม 2, หน้า 352

4.อัลกุรอานบทอัซ ซุครุฟ โองการที่ 67

5.ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี, เล่ม 15, หน้า 73

6.อัล อะมาลี, เชคซอดูก, หน้า 531

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

อาชญากรรมยะซีด ...
อรรถาธิบายดุอาอฺ ประจำวันที่ 1 ...
...
เหตุผลของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ...
บทธรรมเทศนาของอิมามริฎอ
ทำไมต้องซัจดะฮฺบนดิน
...
ดุอาประจำวันที่ 17 ...
...
เป้าหมายของการถือศีลอด ...

 
user comment