ไทยแลนด์
Tuesday 16th of April 2024
0
نفر 0

อาชูรออ์ บทเรียนแห่งการแข่งขันและการรีบรุดสู่ความดีงาม

อาชูรออ์ บทเรียนแห่งการแข่งขันและการรีบรุดสู่ความดีงาม ในคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่ออัลลอฮ์ทรงเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์สู่การทำความดีและการเข้าร่วมในการกระทำต่างๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์นั้น พระองค์จะทรงใช้สำนวนว่า “จงแข่งขันกัน” และคำสองคำที่ถูกใช้คือคำจากรากศัพท์ว่า “



อาชูรออ์ บทเรียนแห่งการแข่งขันและการรีบรุดสู่ความดีงาม

     

 ในคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่ออัลลอฮ์ทรงเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์สู่การทำความดีและการเข้าร่วมในการกระทำต่างๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์นั้น พระองค์จะทรงใช้สำนวนว่า “จงแข่งขันกัน” และคำสองคำที่ถูกใช้คือคำจากรากศัพท์ว่า “ซิบเกาะฮ์” (การนำหน้าผู้อื่น)

และคำว่า “ซุรอะฮ์” (การรีบเร่ง ความรวดเร็ว) โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

فَاسْتَبِقُوا الْخَيْراتِ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَميعاً

 

“ดังนั้น พวกเจ้าจงรีบรุดนำหน้ากันในความดีงามทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับคืนของพวกเจ้าทั้งมวล” (1)

     

 และในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า :

 

وَسَارِعُوا إِلَىٰ مَغْفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ

 

“และพวกเจ้าจงแข่งขันกันสู่การอภัยโทษจากองค์พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าและสวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันประดุจดังชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน มันได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้วสำหรับบรรดาผู้ยำเกรง” (2)

 

     คำว่า “ซิบเกาะฮ์” นั้น หมายถึงการนำหน้าผู้อื่นในการเดินทาง การทำงาน การคิดและความรู้ และคำว่า “ซุรอะฮ์” นั้นหมายถึง การเร่งรีบและการกระทำอย่างรวดเร็วในเรื่องต่างๆ

       

การรีบเร่งและการนำหน้าผู้อื่นในการทำดีนั้น เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ดีงามและน่าสรรเสริญ และศาสนาอิสลามได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ ดังตัวอย่างในสองโองการข้างต้น และในคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ก็มีคำพูด (วจนะ) จำนวนมาก ด้วยกับสำนวนต่างๆ ที่ชี้ถึงการส่งเสริมการรีบรุดและความรวดเร็วในการทำความดี ตัวอย่างเช่น :

     

 ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ: شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ

 

“จงฉวยโอกาสห้าประการก่อนห้าประการ (คือ) ความหนุ่มของท่านก่อนความแก่ชราของท่าน ความมีสุขภาพที่สมบูรณ์ของท่านก่อนความเจ็บป่วยของท่าน ความมั่งมีของท่านก่อนความยากจนของท่าน ความว่างจากการงานของท่านก่อนความยุ่ง (ในภารกิจการงาน) ของท่าน และยามมีชีวิตอยู่ของท่านก่อนความตายของท่าน” (3)

       

ท่านอิมามอะลี (อ.) :

 

بادِرِ الْفُرْصَةَ قَبْلَ اَنْ تَکوُنَ غُصَّةً

 

“จงรีบเร่งในโอกาส ก่อนที่มันจะเป็นบ่อเกิดของความเศร้าเสียใจ” (4)

       

แต่การรีบร้อนและการผลีผลามในการกระทำโดยปราศจากการคิดใคร่ครวญและการตริตรองนั้น เป็นลักษณะนิสัยที่น่าตำหนิ เหตุผลของความน่าตำหนินั้นก็คือประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่แฝงอยู่ในความหมายของตัวมันเอง รอฆิบ อัลอิสฟะฮานี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลมุฟรอดาต” ในการอธิบายความหมายของคำว่า “อะญะละฮ์” (ความรีบร้อน) ว่า :

     

“อะญะละฮ์ (ความรีบร้อน) นั้น คือการแสวงหาสิ่งหนึ่งๆ ก่อนเวลาของมัน อันเกิดจากความกระสัน (อยากได้มาก) ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิในทั้งหมดของอัลกุรอาน กระทั่งมีผู้กล่าวว่า ความรีบร้อนนั้นมาจากมาร (ชัยฏอน)” (5)

       

ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

إِنّما أهلك الناس العجلة، ولو أنَّ الناس تثبتوا لم يهلك أحد

 

“แท้จริงความรีบร้อนนั้น จะทำให้มนุษย์พินาศ และหากมนุษย์มีความสุขุมรอบคอบแล้ว จะไม่มีผู้ใดพินาศ” (6)

 

   

  และท่านยังได้กล่าวอีกว่า :

 

الإناةُ مِنَ اللَّهِ وَالْعَجَلَةُ مِنَ الشَّيْطَانِ

 

“ความสุขุมนั้นมาจากอัลลอฮ์ และความรีบร้อน (ผลีผลาม) นั้นมาจากมาร” (7)

   

  ในแบบฉบับและวิถีปฏิบัติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) นั้น ก็ได้แสดงให้เราเห็นเป็นอย่างดีถึงความสุขุมรอบคอบและการคิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจกระทำ และเมื่อแยกแยะแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นความดีงาม พวกท่านก็จะรีบรุดในการกระทำมันอย่างไม่รีรอและปล่อยให้โอกาสของมันหลุดลอยไป

   

  ในคำสอนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านก็ได้พูดถึงการแข่งขันและการรีบรุดในเรื่องของคุณธรรมและความดีงามเอาไว้เช่นกัน โดยท่านได้กล่าวว่า :

 

اَيُّهَا النّاسُ نافِسوا فِى المَکارِمِ وَ سارِعوا فِى المَغانِمِ وَ لا تَحتَسِبوا بِمَعروفٍ لَم تَجعَلوا

 

“โอ้ประชาชนเอ๋ย! จงแข่งขันกันสู่การงานที่มีเกียรติ และจงแข่งขันกันในโอกาสอันดีงาม (สิ่งที่ได้มาโดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน) ทั้งหลาย และพวกท่านอย่าได้คิดคำนวณความดีที่พวกท่านไม่ได้ (รีบรุด) กระทำมัน” (8)

 

การรีบรุดและการแข่งขันกันสู่ความดีในขบวนการต่อสู้แห่งกัรบะลา

 

     

 ในสนามศึกแห่งกัรบะลา สหายและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทุกคนรู้ดีว่า พวกเขาจะต้องเป็นชะฮีดลงในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่า นั่นคือการพิทักษ์ปกป้องหลักธรรมแห่งอิสลาม ปกป้องท่านอิมามฮุเซน (อ.) และครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนั่นคือความดีงามและความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตของตน พวกเขาไม่ลังเลและประวิงเวลาที่จะให้การช่วยเหลือและสนองตอบเจตนารมณ์และคำบัญชาของท่าน แม้แต่บรรดาเยาวชนผู้เป็นลูกหลานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันอาชูรอ เราจะเห็นได้ถึงคุณลักษณะของการรีบรุดและการแข่งขันกันสู่ความดี ตามที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้

 

فَاسْتَبِقُوا الْخَيْراتِ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَميعاً

 

“ดังนั้นพวกเจ้าจงรีบรุดกันในความดีงามทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับคืนของพวกเจ้าทั้งมวล” (9)

 

       

ทุกคนต่างแย่งชิงกันเข้าไปขออนุญาตท่านอิมาม (อ.) เพื่อออกสู่สนามรบ บรรดาสหายผู้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ของท่านก็ไม่ยอม ตราบที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่พวกเขาจะขอปกป้องฮะรัม (ครอบครัว) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก่อน

 

ตัวอย่างการรีบรุดสู่ความดีในหมู่ผู้ช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

       วะฮับ บินอับดุลลอฮ์ กัลบี : หรือที่รู้จักกันในนาม “วะฮับ นัศรอนี” หนึ่งในผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งตามการบันทึกของนักประวัติศาสตร์บางคน ตัวเขา มารดาของเขาและภรรยาของเขาเป็นชาวคริสต์ (นัศรอนี) แต่ในเส้นทางกัรบะลา ในตำบลซะอ์ละบะฮ์ บุคคลทั้งสามได้เข้ารับอิสลามโดยการเชิญชวนของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

       ในวันอาชูรอ วะฮับ นัศรอนี มีอายุเพียง 25 ปี และเพิ่งผ่านการแต่งงานมาเพียง 17 วัน เขาได้ออกสู่สนามรบเป็นคนแรกๆ หลังจากการต่อสู้อย่างเต็มที่และสังหารศัตรูจำนวนหนึ่งลงได้ เขาได้กลับเขาไปยังกระโจมที่พัก ไปหามารดาและภรรยาของเขา ซึ่งร่วมอยู่ในกัรบะลาด้วย เขากล่าวกับมารดาของเขาว่า “ท่านพอใจจาก (การกระทำของ) ฉันแล้วใช่ไหม?” มารดากล่าวว่า “ฉันจะยังไม่พอใจจากเจ้า จนกว่าเจ้าจะถูกสังหารลงต่อเบื้องหน้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.)”

 

       ภรรยาของเขาได้กล่าวขึ้นว่า “ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า! ท่านอย่าได้ทำให้ฉันต้องจำพรากจากท่านเลย เพราะหัวใจของฉันไม่อาจจะอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดได้” มารดาของเขากล่าวว่า “ลูกรักของแม่ อย่าได้ฟังคำขอร้องของภรรยาเจ้าเลย จงกลับออกไปต่อสู้เคียงข้างบุตรชายของบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เถิด เพื่อเจ้าจะได้รับชะฟาอัต (การอนุเคราะห์ ช่วยเหลือ) จากตาของท่านในวันกิยามะฮ์”

 

       เขาได้กลับออกไปสู่สนามรบและทำการต่อสู้ต่อไป ในช่วงที่แขนทั้งสองข้างของเขาถูกฟันจนขาดนั้น ภรรยาของเขาได้ขว้างเสากระโจมที่พักและวิ่งออกไปหาเขา และกล่าวว่า “ขอพลีพ่อและแม่ของฉันเพื่อท่าน! ท่านจงต่อสู้ในทางของผู้บริสุทธิ์แห่งฮะรัม (ครอบครัว) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เถิด”

 

      วะฮับ ขอให้ภรรยาของตนเองกลับเข้าไปยังกระโจมที่พัก แต่นางได้กล่าวว่า “ฉันจะไม่เข้าไปอย่างเด็ดขาด นอกจากฉันจะถูกสังหารลงพร้อมกับท่าน” ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

جُزیُتْم مِنْ أَهْلِ بیتٍ خیراً إرْجعی إلی النساء یرحمك اللّه

 

“ขอให้พวกเจ้าจงได้รับการตอบแทนความดีงามจากอะฮ์ลุลบัยติ์ด้วยเถิด เธอจงกลับเข้าไปยังกลุ่มบรรดาสตรีเถิด ของอัลลอฮ์ทรงเมตตาเธอ”

 

ภรรยาของวะฮับจึงกลับเข้าไป แต่วะฮับยังคงอยู่ในสนามรบจนกระทั่งเขาเป็นชะฮีดลง (10) ในรายงานจากอบูมักนัฟ เขาสามารถสังหารศัตรูได้ 50 คน และบางรายงานกล่าวว่าถึง 100 คน (11)

 

       ฮุร บินยะซีด อัรริยาฮี : ผู้บัญชาการทหารของกูฟะฮ์ ที่ก่อนเหตุการณ์อาชูรอ เขาได้รับมอบหมายภารกิจพร้อมกับกองทัพจำนวน 1,000 คน ให้ออกไปสกัดกั้นกองคาราวานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ให้เดินทางเข้าสู่เมืองกูฟะฮ์ ขณะเดียวกันก็สกัดกั้นไม่ให้เดินทางกลับ ในวันอาชูรอหลังจากที่ฮุร บินยะซีด อัรริยาฮี ได้เห็นแล้วว่า กองทัพของชาวกูฟะฮ์ยืนที่จะสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขาจึงตัดสินใจแปรพรรคเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขามองเห็นตัวเองอยู่ระหว่างนรกและสวรรค์ เข้าได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางสู่สวรรค์ ด้วยการเป็นชะฮีดในทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

       ในขณะที่สงครามกำลังจะเริ่มต้นขึ้นนั้น ฮุรไม่ลังเลอีกต่อไปที่จะรีบรุดเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอิมาม (อ.) เขาได้กล่าวขึ้นว่า :

 

إنّي والله أخيّر نفسي بين الجنّة والنار، ووالله لا أختار على الجنّة شيئاً، ولو قطّعت وحرّقت

 

“แท้จริงขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ฉันเห็นตัวเองกำลังเลือกระหว่างสวรรค์และนรก และขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ฉันจะไม่เลือกสิ่งใดเหนือสวรรค์อย่างแน่นอน แม้ว่าฉันจะถูกสับเป็นชิ้นๆ และถูกเผาทั้งเป็นก็ตาม” จากนั้นเขาได้ควบม้าของเขาเข้าสมทบกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) (12)

 

       

ในบางรายงานได้กล่าวว่า เขาได้ขึ้นขี่ม้าและมุ่งหน้าไปยังท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในสภาพที่วางมือไว้บนศีรษะและร่ำไห้ พร้อมกล่าวว่า :

 

اللهُمَّ إليك أُنيبُ، فتُبْ عليَّ، فقد أرعبْتُ قلوبَ أوليائكَ وأولادِ بنتِ نبيِّك

 

“โอ้อัลลอฮ์! ข้าพระองค์ขอสารภาพผิดต่อพระองค์ ดังนั้นได้โปรดรับการสารภาพผิดของข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงข้าพระองค์ได้ทำให้หัวใจของบรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้เป็นที่รัก) ของพระองค์ และลูกๆ ของบุตรีของศาสดาของพระองค์ต้องหวาดกลัว” (13)

 

        เขาได้มาหยุดอยู่เบื้องหน้าท่านอิมามฮุเซน (อ.) และประกาศการเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) ของตน โดยกล่าวว่า :

 

إنّي قد جئتك تائباً ممّا كان منّي إلى ربّي، ومواسياً لك بنفسي حتّى أموت بين يديك، أفترى ذلك لي توبة؟

 

“แท้จริงข้าพเจ้ามายังท่านในสภาพของผู้สารภาพผิดต่อพระผู้อภิบาลของข้าพเจ้า ในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจากตัวข้าพเจ้า และมอบชีวิตของข้าเจ้าให้แก่ท่าน จนกว่าข้าพเจ้าจะตายลงเบื้องหน้าท่าน ท่านเห็นว่าสิ่งนี้จะทำให้ข้าพเจ้าได้รับการเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) หรือไม่?”

 

       ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

نعم، يتوب الله عليك، ويغفر لك

 

“ใช่แล้ว! อัลลอฮ์จะทรงรับการสารภาพผิดของเจ้า และจะอภัยโทษให้แก่เจ้า” (14)

 

     

 ก่อนที่จะเริ่มทำการรบพุ่งนั้น เขาได้ทำการตักเตือน (นะซีฮัต) ประชาชน แต่แทนที่พวกเขาจะยอมรับคำตักเตือนต่างๆ ของฮุร พวกเขากลับยิงธนูเข้าใส่เขา และไม่มีใครกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับเขา จนกระทั่งพวกเขาได้ฟันขาม้าของเขา และจากนั้นด้วยกับการรุมหมู่เข้าโจมตีทำให้พวกเขาสามารถสังหารฮุร จนเป็นชะฮีดได้ (15)

 

       

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับฮุร ก่อนจะสิ้นใจว่า :

 

أنت حرّ كما سمّيت في الدنيا والآخرة

 

“เจ้าคือเสรีชน (ฮุร) ทั้งในโลกนี้และในปรโลก สมดั่งที่แม่ของเจ้าได้ตั่งชื่อเจ้า” (16)

 

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 48

(2) อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 133

(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 81, หน้าที่ 173

(4) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, จดหมายฉบับที่ 31

(5) อัลมุฟรอดาต, รอฆิบ อัลอิศฟะฮานี, หน้าที่ 323

(6) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 129

(7) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 71, หน้าที่ 340

(8) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 75, หน้าที่ 121; อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, เล่มที่ 2, หน้าที่ 99

(9) อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 48

(10) อัลลุฮูฟ, ซัยยิดอิบนิฏอวูซ, เล่มที่ 1, หน้าที่ 63 ; มะซีรุ้ลอะห์ซาน, อิบนุนะมา ฮิลลี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 46 ; มักตัล อัลฮุเซน (อ.), คอรัซมี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 15-16 ; อัลฟุตห์, อิบนุอะอ์ซัม, เล่มที่ 5, หน้าที่ 104

(11) อะชะร่อตุ้ลกามิละฮ์, วะก๊อร ชีราซี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 369

(12) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 325

(13) มักตะลุลฮุเซน, มุก็อรร็อม, หน้าที่ 246

(14) อัลกามิล ฟิตตารีค, อิบนิอะซีร, เล่มที่ 4, หน้าที่ 47 ; อัลลุฮูฟ, หน้าที่ 43

(15) อัลกามิล ฟิตตารีค, อิบนิอะซีร, เล่มที่ 4, หน้าที่ 47 ; อัลลุฮูฟ, หน้าที่ 43

(16) อัลอามาลี, เชคซุดูก, หน้าที่ 223

 

ที่มา : มัจญ์ลิซอาชูรอ 1438 ณ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ท่านหญิงซัยนับ บินอะลี ...
ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
ชีวประวัติอิมามมุฮัมมัด อัล ...
ถุงเท้ามุสลิมะฮ์
อิสลามในโลกยุคใหม่
...
วันประสูติอิมามฮุเซน
ประวัติมัสยิดอัลอักซอ
การถูกล่ามโซ่ของชัยฏอน
ฮะดีษนี้น่าเชื่อถือหรือไม่? : ...

 
user comment