ไทยแลนด์
Wednesday 24th of April 2024
0
نفر 0

หน้าที่ของเยาวชนผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

หน้าที่ของเยาวชนผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยาวชนนั้นถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดของสังคม เนื่องจากสัญชาตญาณ (ฟิฏเราะฮ์) และธรรมชาติของเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้น มีความสะอาดบริสุทธิ์
หน้าที่ของเยาวชนผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)



หน้าที่ของเยาวชนผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

 

 

             ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยาวชนนั้นถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดของสังคม เนื่องจากสัญชาตญาณ (ฟิฏเราะฮ์) และธรรมชาติของเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้น มีความสะอาดบริสุทธิ์ จึงมีความตื่นตัวและมีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา ความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของแต่ละสังคมก็ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและการพัฒนาของเยาวชนคนหนุ่มสาวของมัน เยาวชนเป็นเหมือนแขนที่ทรงพลังการป้องกันและการสร้างสรรค์ในแต่ละสังคม ในทุกสังคมของมนุษย์นั้น เยาวชนคนหนุ่มสาวจะเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา พลังและความเจริญก้าวหน้า และจะมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ด้วยเหตุนี้เอง เยาวชนคนหนุ่มสาวจึงเป็นที่ได้รับความสนใจและคาดหวังเป็นพิเศษของปวงศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าและบรรดานักปฏิรูปสังคม

 

            เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติ ความต้องการและบุคลิกภาพของเยาวชนในยุคของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จะเป็นที่มีอายุอยู่ในวัยนี้ เนื่องจากพวกเขามีคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ อย่างเช่น จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ รักความสวยงาม ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ความคิดสร้างสรรค์ ความซื่อสัตย์ ความรักในเสรีภาพ ความเสียสละและอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะถูกสำแดงในรัฐและการปกครองของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (1)

 

           แต่จำเป็นที่เยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่มีความรักความผูกพันต่อท่านอิมาม (อ.) นั้นจะต้องรับรู้ว่า ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านนั้น พวกเขาจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร?        

         ในที่นี้เราจะมาพิจารณาดูหน้าที่หลักและสำคัญยิ่งสี่ประการสำหรับเยาวชนผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้แก่ :

1. ความรู้ 2. ความรัก 3. การเชื่อฟัง และ 4. กิจกรรมการเคลื่อนไหว

 

1.ความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) :

หนึ่งในประเด็นที่สำคัญในการรู้จักอิมามซะมาน (อ.) คือ ความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนา ในคำแนะนำที่มีต่อกุเมล บินซิยาด ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และภูมิปัญญาว่า :

 

یا کمیلُ ما مِنْ حَرَکةٍ الاّ وَ أنْتَ مُحْتاجٌ فیها إلی مَعْرَفَةٍ

 

“โอ้กุเมลเอ๋ย! ไม่มีการเคลื่อนไหว (และการกระทำ) ใด ๆ นอกจากเจ้าจำเป็นจะต้องมีความรู้ (และความเข้าใจ) ในมัน” (2)

 

 

            ประเด็นเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก็จำเป็นต้องมีความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เองบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวจำเป็นจะต้องทำความรู้จักต่อท่านอิมามแห่งยุคสมัยของตนและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวท่าน

 

            อบูนัศริ์ (คนรับใช้ผู้หนึ่งของท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) และเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้พบกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก่อนหน้าการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่าน) ในครั้งที่เขาได้พบกับท่านอิมาม (อ.) นั้นท่านอิมาม (อ.) ได้ถามเขาว่า : “ท่านรู้จักฉันไหม?” เขาตอบว่า : “ใช่ข้าพเจ้ารู้จัก! ท่านคือนายของฉัน และเป็นบุตรของบรรดานายของฉัน” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : “จุดประสงค์ของฉันไม่ใช่การรู้จักเช่นนี้” อบูนัศริ์ได้ถามว่า : “แล้วจุดประสงค์ของท่านคืออะไร ท่านจงกล่าวมาเถิด”

ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

أَنَا خَاتِمُ الْأَوْصِیَاءِ وَ بِی یَدْفَعُ اللَّهُ الْبَلَاءَ عَنْ أَهْلِی وَ شِیعَتِی

 

“ฉันคือตัวแทนคนสุดท้าย (ของท่านศาสดา) และโดยสื่อของฉันอัลลอฮ์จะทรงปัดป้องความทุกข์ยาก (บะลาอ์) ไปจากครอบครัวของฉันและจากชีอะฮ์ของฉัน” (3)

 

 

            การรู้จักท่านอิมาม (อ.) อย่างถูกต้องนั้นจะเป็นแนวทางไปสู่การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ที่แท้จริงเช่นนี้ต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

“… เรามีสิทธิเหนือพวกท่านสามประการ คือ การที่พวกท่านจะต้องรู้จักความดีงามของเรา จะต้องปฏิบัติตามเราและจะต้องรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (การมาของมะฮ์ดี) … ” (4)

 

            ดังนั้นในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น การทำความรู้จักต่อท่าน คือกุญแจสำคัญของชีวิตและสถานะการดำรงอยู่ของเรา จำเป็นที่เราจะต้องมีความรู้จักต่ออิมามของตนเอง เพราะถ้าหากเราไม่รู้จักท่าน เราจะเป็นผู้หลงทาง และจะมีชีวิตแบบยุคมืด :

 

مَنْ ماتَ وَ لَمْ يَعْرِفْ إمامَ زَمانِهِ ماتَ مَيْتَةً جاهِلِيَّةً

 

“ใครก็ตามที่ตายลง โดยที่ไม่รู้จักอิมาม (ผู้นำ) แห่งยุคสมัยของตน เขาตายในสภาพญาฮิลียะฮ์ (ความไม่รู้ในเรื่องศาสนา)” (5)

 

            นอกจากนี้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็ได้กล่าวเช่นกันว่า :

 

لايقبلُ اللهُ مِنَ العِبادِ عَمَلاً اِلّا بِمَعْرِفَتنا

 

“อัลลอฮ์จะไม่ยอมรับการกระทำจากปวงบ่าว นอกจากด้วยการมีความรู้จักต่อเรา” (6)

 

 

2. ความรัก :

 

           ความรักนั้น คือผลพวงที่เกิดจากความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และการรู้จักต่อสิ่งหนึ่ง และยิ่งความรู้และการรู้จักของคนเราที่มีต่อสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นมากเพียงใด ความรักของเขาที่มีต่อสิ่งดังกล่าวก็จะเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น

 

            ถ้าหากมนุษย์เป็นผู้ที่มีความใฝ่ฝันที่สูงส่งแล้ว เขาจะมุ่งแสวงหาผู้เป็นที่รักที่แท้จริง หากเรามีความรักและความผูกพันต่อท่านอิมามซะมาน (อ.) แล้วจะต้องมีสีสันและกลิ่นไอของผู้เป็นที่รักอยู่ในตัวเอง เพราะท่านอิมามซะมาน (อ.) นั้น รักเรามากถึงขั้นที่ท่านจะปัดป้องความทุกข์ยาก (บะลาอ์) ออกไปจากเราและจะภาวนาขอพร (ดุอาอ์) ให้แก่เรา จะเป็นสิ่งที่ดีงามยิ่งเสียกระไร ที่ความรักดังกล่าวนี้จะเป็นความรักของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เราในฐานะที่มีความรักและความผูกพันต่อท่านอิมาม (อ.) เราก็จะอธิษฐานวิงวอนขอให้ท่านมีสุขภาพที่ดีและให้พระผู้เป็นเจ้าทรงรีบเร่งอนุมัติการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่าน  ไม่ใช่ว่าเฉพาะในยามที่เราประสบกับปัญหาและความทุกข์ยากเราจะบากหน้าไปหาท่าน เราจะต้องใช่ชีวิตในลักษณะที่จะทำทำให้หัวใจของท่านรู้สึกปิติยินดีในตัวเรา ใครก็ตามที่กล่าวอ้างความรักและความเป็นมิตรต่อบรรดาผู้เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า (เอาลิยาอุลลอฮ์) เขาจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามความต้องการต่าง ๆ ของบุคคลเหล่านั้น

 

3.การเชื่อฟัง :

 

            หนึ่งในความสวยงามและความสุขของเยาวชนคนหนุ่มสาว คือการใช้ชีวิตอยู่ในหนทางของการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจะเป็นสื่อทำให้พวกเขาได้รับการอนุเคราะห์และความเมตตาจากพระองค์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า :

 

إنَّ اللّه يُحِبُّ الشّابَّ الَّذى يُفنى شَبابَهُ فى طاعَةِ اللّه

 

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตวัยหนุ่มสาวของตนไปในการเชื่อฟังอัลลอฮ์” (7)

 

            จะต้องเข้าใจว่าการเชื่อฟังผู้ปกครองของพระผู้เป็นเจ้า (วะลียุลลอฮ์) นั้นก็เช่นเดียวกับการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า และใครก็ตามที่กล่าวอ้างความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่ออิมามซะมาน (อ.) จำเป็นที่เขาจะต้องอุตสาห์พยายามในการเชื่อฟังด้วย

 

            ในบทซิยาเราะฮ์ “อัลญามิอะฮ์ อัลกะบีเราะฮ์” ได้กล่าวว่า :

 

مَنْ أَطَاعَکُمْ فَقَدْ أَطَاعَ اللَّه

 

“ใครก็ตามที่เชื่อฟังพวกท่าน แน่นอนเขาได้เชื่อฟังอัลลอฮ์แล้ว”

 

 

            ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อัลอันซอรี ได้เล่าว่า : “ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวกับฉันว่า :

 

يا جابر ، أيكتفي من ينتحل التشيع أنْ يقول بحبنا أهل البيت ؟! فو الله ما شيعتنا إلا من اتقى الله وأطاعه ، وما كانوا يُعرفون ـ يا جابر ـ إلاّ : بالتواضع ، والتخشُع ، والأمانة ، وكثرة ذكر الله ، والصَوم ، والصَّلاة ، والبر

بالوالدين ، والتعهد للجيران من الفقراء وأهل المسكنة والغارمين والأيتام ، وصدق الحديث ، وتلاوة القران ، وكف الالسن عن الناس ، إلا من خير

 

           “โอ้ญาบิร! คนที่อ้างตนว่าปฏิบัติตามแนวทางชีอะฮ์นั้น เพียงพอหรือที่เขาจะกล่าวว่ารักเรา อะฮ์ลุลบัยติ์เพียงเท่านั้น? ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ไม่ใช่ชีอะฮ์ของเรา นอกจากผู้ที่มีความยำเกรงอัลลอฮ์และเชื่อฟังพระองค์เท่านั้น โอ้ญาบิร! และพวกเขาจะไม่ถูกรู้จัก นอกเสียจากด้วยการมีความอ่อนโยน ความนอบน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ (อะมานะฮ์) การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย การถือศีลอด การนมาซ การทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง การเอาใจใส่ต่อเพื่อนบ้านผู้ยากไร้ คนยากจนขัดสน ผู้มีหนี้สิน เด็กกำพร้า มีวาจาสัจ อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและยับยั้งวาจาจากเพื่อนมนุษย์ นอกจากสิ่งที่ดีงาม” (8)

 

            ดังนั้นเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น นอกจากการแสดงความรักและความผูกพันต่ออัลลอฮ์และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้วยังจำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากเขาได้กระทำบาป ก็จะต้องไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากประตูของการสำนึกผิดและการกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) นั้นยังคงเปิดอยู่เสมอ ดังที่ท่านอิมามซะมาน (อ.) ได้วิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งให้ทรงประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) ในการสำนึกผิดและการกลับตัวกลับใจ ให้แก่บรรดาเยาวชนคนหนุ่มว่า :

 

 

وَ تَفَضَّلْ …. عَلَى الشَّبَابِ بِالْإِنَابَةِ وَ التَّوْبَةِ

 

“(โอ้พระผู้เป็นเจ้า!) และได้โปรดประทานความสำเร็จแก่เยาวชน ในการกลับตัวกลับใจและการสารภาพผิดด้วยเถิด” (9)

 

 

            เยาวชนที่ยึดแนวทางของการเชื่อฟังด้วยการละวางจากกิเลสตัณหา เขาได้เริ่มตนการโบยบินสู่โลกอันสูงส่งและจะเป็นเหมือนเช่นมวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ดังเช่นที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า : “โอ้เยาวชนที่ละทิ้งจากอารมณ์ใคร่ของตนเอ๋ย! เธอจะได้อยู่ ณ ที่ฉันนั้นเหมือนกับบางส่วนจากหมู่ทวยเทพ”. (10)

 

 

4. กิจกรรมและการเคลื่อนไหว :

 

            บทบาทสำคัญของเยาวชนนั้นก็คือการที่พวกเขาจะต้องกระตือรือร้น ดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหวและทันยุคทันสมัยอยู่ในเวทีของของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อยู่ตลอดเวลา เพราะเนื่องจากบรรดาศัตรูของความเชื่อเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น พวกเขาทำงานอย่างเอาจริงเอาจังมาก และเกี่ยวกับกรณีนี้เป็นที่คาดหวังจากบรรดาเยาวชนของอิหร่านมากกว่าทั้งหมด เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์พวกเขามีสถานะที่เป็นพิเศษกว่าใคร ๆ และในอนาคตก็จะเป็นเช่นเดียวกันนี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามซะมาน (อ.) ที่เป็นชาวอิหร่านไว้ โดยที่ท่านได้แตะไปที่ไหล่ของท่านซัลมาน อัลฟาริซี และกล่าวว่า : “จุดประสงค์จากบรรดาผู้ช่วยเหลือของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือผู้ร่วมแผ่นดินของบุรุษผู้นี้”

จากนั้นท่านกล่าวว่า :

 

لَوْ کَانَ الدِّینُ مُعَلَّقًا بِالثُّرَیَّا لَتَنَاوَلَهُ رِجَالٌ مِنْ أَبْنَاءِ فَارِسَ

 

“หากศาสนาถูกแขวนอยู่ที่ดาวลูกไก่ แน่นอนยิ่งปวงบุรุษจากลูกหลานแห่งเปอร์เซียจะเป็นผู้ได้รับมันมา” (10)

 

 

            ดังนั้น บรรดาผู้ช่วยเหลือและผู้ที่มีความรักผูกพันต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) นั้น พวกเขาจะต้องยกระดับมุมมองและวิสัยทัศน์ต่างๆ ของตนที่มีต่อการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า การรู้จักอิมามและโลกแห่งการดำรงอยู่ของตน เนื่องจากแผนงานของท่านอิมามซะมาน (อ.) นั้นคือแผนงานระดับโลก ดังนั้นบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านก็จำเป็นจะต้องมีมุมมองที่เปิดกว้างและระดับโลกเช่นเดียวกัน และจะต้องวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมในทิศทางของการจัดเตรียมพื้นฐานสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) และการปฏิวัติโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ในอีกด้านหนึ่ง จำเป็นที่พวกเขาจะต้องเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญ ความเสียสละ ความอดทน ความมีจิตใจที่มั่นคงและแน่วแน่ให้เกิดขึ้นในตนเอง เราขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดทรงประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) แก่เราทุกคนในการฝึกฝนตนเองให้มีคุณลักษณะและคุณธรรมของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เพื่อที่ว่าในขั้นแรกจะได้เป็นผู้ที่มีความศรัทธาที่แท้จริงต่อท่าน และในขั้นที่สองเราจะเป็นผู้ช่วยเหลือของท่านและในขั้นสุดท้ายเราจะใช้ชีวิตอยู่เยี่ยงชีวิตของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อินชาอัลลอฮ์ (หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์)

 

แหล่งอ้างอิง :

1)- ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ “กุรอาน มะฮ์ดี วะยะวอน”

2)- ตุหะฟุลอุกูล , หน้าที่ 171

3)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 52 , หน้าที่ 30

4)- อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 173

5)- กะมาลุดดีน , เล่มที่ 2 , หน้าที่  409

6)- อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 142 , บาบอันนะวาดิร

7)- มีซานุลฮิกมะฮ์ , เรย์ ชะฮ์รี , เล่มที่  5 , หน้าที่ 9

8)-  อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 74

9)- อัลมิศบาฮุ , อัลกัฟอะมี , หน้าที่ 280

10)- กันซุลอุมมาล , เล่มที่ 15 , หน้าที่ 785 , ฮะดีษที่ 43106

11)- เมาซูอะฮ์ อะฮาดีษ อัลอิมามิลมะฮ์ดี (อ.ญ.) , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 3744

แปลและเรียบเรียง : มุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ทำไมต้องกล่าวบิสมิลลาฮ์?
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ...
วันสำคัญในเดือนรอบีอุลเอาวัล
อะไรคือมุบาฮะละฮ์?
...
อรรถาธิบายซูเราะฮ์ อัลฆอชิยะฮ์
...
รอมฎอนคือเดือนแห่งอัลกุรอาน
...
ความสำคัญของบิสมิลลาฮ์ ...

 
user comment