ไทยแลนด์
Friday 29th of March 2024
0
نفر 0

บิอ์ษัตในมุมมองทางประวัติศาสตร์

บิอ์ษัตในมุมมองประวัติศาสตร์ บิอ์ษัตคืออะไร บิอ์ษัต คือวันที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)ให้ดำรงตำแหน่งศาสดาอย่างเป็นทางการ ตรงกับวันที่ ๒๗ เดือนรอญับ ก่อนปีฮิจเราะฮฺศักราช
บิอ์ษัตในมุมมองทางประวัติศาสตร์

บิอ์ษัตในมุมมองประวัติศาสตร์

 

บิอ์ษัตคืออะไร บิอ์ษัต คือวันที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)ให้ดำรงตำแหน่งศาสดาอย่างเป็นทางการ ตรงกับวันที่ ๒๗ เดือนรอญับ ก่อนปีฮิจเราะฮฺศักราช

 

การบิอ์ษัตหรือการแต่งตั้งให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ให้ดำรงตำแหน่งการเป็นศาสดานั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ และในช่วงนี้เองพระราชโองการต่างๆ แห่งคัมภีร์อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาจากอัลลอฮฺ (ซบ.)


 บิอ์ษัต ในความหมายของนักปราชญ์ หมายถึง การที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานมนุษย์มาเพื่อทำการชี้นำมวลมนุษยชาติ ดังที่ริวายะฮฺอิสลาม และประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้ว่า การบิอ์ษัตของท่านศาสดา ได้บันทึกอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาแห่งฟากฟ้า (หมายถึงศาสนาที่เชื่อในเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า) พร้อมกับสัญลักษณ์บางประการของการบิอ์ษัตก่อนที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะประสูติ


ด้วยเหตุนี้ชาวคัมภีร์ และอาหรับบางส่วนมีความมักคุ้นกับเรื่องการบิอ์ษัตของท่านศาสดาเป็นอย่างดี อัล-กุรอานได้ยืนยันว่า คัมภีร์เตารอตและอินญีลได้กล่าวถึงการปรากฏของท่านศาสดามุฮัมมัดเอาไว้ ประกอบกับท่านศาสดาอีซา (อ.) ภายหลังจากที่ได้รับรองคัมภีร์เตารอตว่า ได้ถูกประทานลงมาที่ท่านศาสดามูซา (อ.) แล้วท่านได้แจ้งข่าวการมาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)แก่ประชาชาติของท่านเอาไว้เช่นกัน นอกจากนั้นในคัมภีร์ดังกล่าวยังได้บอกถึงลักษณะของท่านศาสดาและเหล่าสาวกของท่านเอาไว้อีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าบรรดานักวิชาการชาวคัมภีร์นั้นรู้จักท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)และถือว่าท่านเป็นผู้ใกล้ชิดกับชาวคัมภีร์มากที่สุดคนหนึ่ง จากการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ได้พบว่ามีชาวคัมภีร์มากมายได้รอคอยการปรากฏของท่านศาสดามุฮัมมัด และในจำนวนหมู่ชนเหล่านั้นมีจำนวนไม่น้อยที่พวกเขาได้มีความหวังว่าพวกเขาอาจได้พบกับท่านศาสดาพวกเขาจึงได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่คาดว่าท่านศาสดาจะมาพักที่นั่น หรือเดินทางผ่าน หรือเป็นสถานที่ใช้กล่าวเทศนาธรรมแก่ประชาชาชน อาทิเช่น ท่านบุหัยรอ ซึ่งเป็นนักบวชชาวคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่า การบิอ์ษัต ของท่านศาสดาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการชี้นำมวลมนุษยชาติอย่างมาก และด้วยกับความยิ่งใหญ่นั้นเอง อัลลอฮฺ (ซบ.)จึงได้เตรียมพร้อมตัวท่านศาสดาเพื่อการที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ในเบื้องแรกพระองค์ได้ทำการอบรมเลี้ยงดูท่านศาสดาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองเพื่อ ดังจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า หลายปีก่อนการบิอ์ษัตได้พบคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ด้านจิตวิญญาณที่สูงส่งที่ไม่มีผู้ใดมีเหมือนในตัวของท่านศาสดา และช่วงเวลาเหล่านั้น ท่านศาสดาได้ใช้ไปเพื่อการขัดเกลาจิตวิญญาณและตลอดระยะเวลาก่อนการบิอ์ษัตนั้น ท่านได้ครองตนอยู่บนความสะอาดทั้งด้านจิตใจและการกระทำ


ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานมลาอิกะฮฺที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้มาคอยพิทักษ์และอยู่ร่วมกับท่านศาสดา คอยแนะนำท่านให้ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีทางที่ถูกต้อง และด้วยมารยาทที่ดีงามตั้งแต่เยาว์วัย  ด้วยกับสภาพจิตวิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์ของท่านศาสดานั้นเอง


ท่านจึงต้องทนทุกข์ทรมานกับความโง่เขลา และความป่าเถื่อนของสังคมที่เป็นอนารยชนที่มีอิทธิพลครอบคลุมเหนือคาบสมุทรอาหรับในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมักกะฮฺมาโดยตลอด ท่านศาสดาจึงได้จัดเวลาในแต่ละปีไปดำรงอิบาดะฮฺบนเขาหิรออ์ ซึ่งเป็นสถานที่ๆ มีความสงบตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว การปลีกวิเวกเพื่อบำเพ็ญอิบาดะฮฺ หรื่อเพื่อนมัสการต่อพระเจ้าองค์เดียวนั้นได้มีมาก่อนท่านศาสดาเสียอีก กล่าวกันว่า ท่านอับดุลมุฏฏ่อลิบ ปู่ของท่านศาสดาเป็นผู้วางรากฐานพิธีกรรมดังกล่าว และเมื่อถึงเดือนรอมฏอนเพื่อสร้างความสงบแก่จิตใจท่านจะปลีกตัวไปบำเพ็ญอิบาดะฮฺบนเขา หิรออ์ตลอดเวลาพร้อมกับแจกจ่ายอาหารแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา

 

ฉะนั้นสามารถกล่าวได้ว่า การขึ้นไปบำเพ็ญอิบาดะฮฺในที่สงบบนเขาหิรออ์ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นั้นเพื่อการขัดเกลาและยกระดับจิตใจของท่านศาสดา และเป็นการเตรียมพร้อมการเป็นศาสดาและรับวะฮีย์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)

ในช่วงเวลาแห่งการขัดเกลานั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้เลือกท่านอะลี (อ.) ซึ่งเป็นเด็กที่ท่านศาสดาเลี้ยงมากับมือ หรือกล่าวได้ว่าเติบโตมาบนตักของท่านศาสดา ร่วมทางไปด้วยเสมอ และในบางครั้งช่วงที่ท่านศาสดาอยู่บนเขาหิรออ์นานๆ นั้น ท่านอะลีคือคนส่งข้าวส่งน้ำและคอยดูแลท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และทุกครั้งหลังจากเสร็จภารกิจบนเขาหิรออ์ ก่อนที่ท่านจะกลับบ้าน ท่านจะไปที่กะอฺบะฮฺเพื่อทำการเดินเวียรอบ (ฏ่อวาฟ) ก่อนเสมอ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ปฏิบัติเช่นนั้นมาตลอดจนกระทั่งพระชนมายุครบ ๔๐ ปี พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกรและทรงปรีชาญาณยิ่ง ทรงรู้ดีถึงจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ อ่อนน้อมและมีความยำเกรงมากที่สุดของท่านศาสดาพระองค์จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นศาสดาของพระองค์ เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สารธรรมของพระองค์แก่มวลมนุษยชาติและชี้นำพวกเขาให้ออกห่างจากการเคารพบูชารูปปั้นทั้งหลาย โดยหันกลับมาเคารพบูชาในพระเจ้าองค์เดียว

 

การลงวะฮีย์แรก

 

นักปราชญ์ส่วนใหญ่ของชีอะฮฺเชื่อว่าการบิอ์ษัต ตรงกับวันที่ ๒๗ เดือนร่อญับห้าปีก่อนการอพยพหลังจากการปรับปรุงกะอ์บะฮฺ ขณะที่ท่านศาสดามีอายุครบ ๔๐ ปี

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ขึ้นไปบนเขาหิรออ์ เพื่อทำอิบาดะฮฺ และทำการขบคิดตามปกติของท่าน และในวันที่ ๒๗ นั้นเอง ท่านมลาอิกะฮฺ ญิบรออีล (หนึ่งในสี่มหาเทพที่ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺมากที่สุด) ได้ลงมาหาท่านศาสดาตามบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านได้จับที่หัวไหล่ของท่านศาสดาพร้อมกับกล่าวว่า โอ้มุฮัมมัดจงอ่านซิ ท่านศาสดากล่าวว่า ให้ฉันอ่านอะไร ? ท่านญิบรออีลจึงได้อ่านอัล-กุรอานซูเราะฮฺแรกที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานลงมาแก่ท่านศาสดาว่า

 

بسم‌الله الرحمن الرحيم
اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ
خَلَقَ الْإِنسَانَ مِنْ عَلَقٍ
اقْرَأْ وَرَبُّكَ الْأَكْرَمُ
الَّذِي عَلَّمَ بِالْقَلَمِ
عَلَّمَ الْإِنسَانَ مَا لَمْ يَعْلَمْ

 

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่งเสมอ
จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงบังเกิด (จักรวาล)
ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด
จงอ่านเถิด พระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา
 ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้

 

ปรากฏการณ์มากมายได้เกิดขึ้นในช่วงของการบิอ์ษัตและการประทานอัล-กุรอานซูเราะฮฺแรก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เสียงร้องโอดครวญของอิบลีสมารร้าย
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าว ฉันได้ยินเสียงโอดครวญของชัยฏอนเมื่ออัล-กุรอานโองการแรกได้ถูกประทานลงมา ฉันได้ถามท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า โอ้ท่านศาสดานั้นเป็นเสียงร้องของอะไร ? ท่านกล่าวว่า นั่นเป็นเสียงร้องของชัยฏอนที่หมดหวังจากการภักดี จึงได้ส่งเสียงโอดครวญ หลังจากนั้นท่านศาสดาได้กล่าวต่อไปอีกว่า เจ้านั้นจะได้ยินสิ่งที่ฉันได้ยิน และจะได้เห็นสิ่งที่ฉันเห็น นอกเสียจากว่าไม่มีนบีต่อหลังจากฉันอีกแล้ว แต่เจ้าจะได้เป็นตัวแทนและผู้ช่วยเหลือของฉัน และเจ้าจะไม่แยกออกจากความดีงามอย่างเด็ดขาด

 

ดังที่เคยทราบมาแล้วว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวถึงการชี้นำแก่ประชาชาติมาโดยตลอดเกี่ยวกับฐานันดรของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคำพูดดังกล่าวข้างต้น และเกี่ยวกับคำพูดดังกล่าวนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับท่านศาสดามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาสำคัญแห่งการประทานวะฮีย์ ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันถึงเรื่องนี้ไว้อย่างดีว่า บุคคลเดียวที่อยู่เคียงข้างท่านศาสดา ยามที่อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาคือท่านอะลี และยังไม่พบว่ามีบุคคลอื่นกล่าวอ้างทำนองนี้ นอกจากท่านอิมามอะลี (อ.)

 


ท่านศาสดาหลังจากการประทานอัล-กุรอาน

 

กล่าวไปแล้วว่าสถานภาพของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดานั้นท่านได้รับการดลใจ (อิลฮาม) และมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่าคนอื่น แต่ทว่าการประทานอัล-กุรอานกับการอิลฮามภายหลังจากได้รับการแต่งตั้งแตกต่างไปจากสภาพก่อนหน้านั้นมาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สถานภาพทางจิตใจ และร่างกายของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เปลี่ยนไปอันมีสามเหตุมาจาก

 

๑.อัล-กุรอานโองการแรกที่ได้ถูกประทานลงมา เป็นสาเหตุให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) พินิจพิเคราะห์ถึงความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) มากยิ่งขึ้น

 

๒. เมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดานั้นภารกิจของท่านหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านต้องทำการเผยแพร่สารธรรมต่อชนชาติที่ดื้อรั้น โง่เขลา และป่าเถื่อนที่สุด ซึ่งทั่วแคว้นอาหรับในยุคนั้นไม่มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง และยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่พวกได้ปฏิบัติติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ครอบคลุมไปทั่วแคว้นด้วยแล้วเป็นเรื่องที่ยากทีสุด ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ทราบดีว่าภายหลังจากท่านได้ประกาศไปแล้วนั้นไม่เพียงแต่ พวกเขาจะทำการปฏิเสธ ใส่ร้าย กลั่นแกล้งเท่านั้น ทว่าพวกเขาต้องกีดกันท่านไม่ให้เข้าใกล้ประชาชนและทำการขัดขางการเผยแพร่ของท่านในทุกรูปแบบอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานภาพของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เปลี่ยนไป แต่พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงวางแผนการณ์ไว้แล้ว พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนและเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมของท่านศาสดา พระองค์ได้ทรงเตรียมพร้อมท่านศาสดาเพื่อการนี้ไว้ก่อนแล้ว

 

กลับจากเขาหิรออ์

 

เมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ลงจากภูเขาหิรออ์ ท่านได้มุ่งหน้าไปยังมักกะฮฺและบ้านของท่าน ท่านได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับท่านให้กับท่านหญิงคอดิยะฮฺภรรยาสุดที่รักของท่านฟัง ท่านหญิงเป็นผู้หนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มาตลอดท่านได้กล่าวกับท่านศาสดาว่า ด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกรฉันเฝ้ารอคอยวันนี้มานานแล้ว วันที่ท่านจะได้เป็นผู้ชี้นำมวลมนุษยชาติ และเป็นผู้นำเหล่าบรรดาศาสดาทั้งหลาย

 

 การประทานซูเราะฮฺอัลมุดัรษิรฺ

 

ในช่วงหลังจากมับอัษไม่นานนัก ขณะที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กำลังพักผ่อนอยู่นั้น มลาอิกะฮฺญิบรออีลได้ลงมาหาท่านศาสดา (ศ็อลฯ) อีกครั้ง และอ่านโองการแรกของซูเราะฮฺอัลมุดัรฺษิรฺแก่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)

 

بسم الله الرحمن الرحيم
 يَا أَيُّهَا الْمُدَّثِّرُ
 قُمْ فَأَنذِر
ْوَرَبَّكَ فَكَبِّرْ
 وَثِيَابَكَ فَطَهِّرْ
وَالرُّجْزَ فَاهْجُرْ
وَلَا تَمْنُن تَسْتَكْثِرُ
 وَلِرَبِّكَ فَاصْبِرْ

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่งเสมอ
โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย  จงลุกขึ้น แล้วประกาศตักเตือน
  และจงให้ความเกียงไกรต่อพระผู้อภิบาลของเจ้า (ต่อพระองค์)
จงทำความสะอาดเสื้อผ้าของเจ้า
จงออกห่างจากสิ่งสกปรก
 และอย่าทำคุณ เพื่อหวังการตอบแทนอันมากมาย
และเพื่อพระเจ้าของเจ้าเท่านั้นจงอดทน

 

สามารถกล่าวได้ว่า ประเด็นสำคัญของซูเราะฮฺคือ หลังจากนี้ต่อไปท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องพินิจพิเคราะห์ให้มากในทุกกิจการงาน ต้องไม่หลงลืมหรือเผอเรอแม้แต่เพียงเสี้ยววินาทีก็ตาม ภารกิจของท่านศาสดานั้นย่อมแตกต่างไปจากภารกิจของคนอื่นทั่วๆ ไป และเมื่อโองการแรกได้ถูกประทานลงมาเท่ากับศาสนาอิสลามได้ถูกประทานให้กับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และนับตั้งแต่นาทีนั้นท่านได้รับแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ให้ดำรงตำแหน่งศาสดาด้วยเช่นกัน

 


มุสลิมคนแรก

 

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตลอดเวลาแม้แต่ในช่วงที่ญิบรออีลได้นำวะฮีย์ลงมาให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) บนเขาหิรออ์ท่านอิมามอะลีอยู่ในที่นั้นด้วย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นธรรมชาติอย่างยิ่งสำหรับอิมามอะลี (อ.) ที่ท่านได้ยอมรับอิสลามเป็นคนแรกก่อนใครทั้งสิ้นทั้งหญิงและชาย เพราะว่าท่านอิมามได้รับรู้ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงแต่งตั้งให้ท่านศาสดาเป็นศาสดา (มับอัษ) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวสาธยายประเด็นดังกล่าวไว้ในนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺว่า ฉันได้คลอดออกมาบนธรรมชาติที่เคารพบูชาในพระเจ้าองค์เดียว และฉันเป็นคนแรกที่มีศรีทธาต่ออิสลามและร่วมอพยพกับท่านศาสดาก่อนหน้าคนอื่น

 

อีกที่หนึ่งท่านอิมามกล่าวว่า ไม่มีใครตอบรับคำเชิญชวนที่สัจจริงยิ่งก่อนหน้าฉัน

 

ส่วนสตรีคนแรกที่เข้ารับอิสลามคือท่านหญิงคอดิยะฮฺ ซึ่งเป็นที่เห็นพร้องตรงกันของทุกฝ่ายตลอดจนนักประวัติศาสตร์อิสลาม เพระภายหลังจากที่ท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งแล้วสตรีคนแรกที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้พบคือท่านหญิงคอดิยะฮฺ (อ.) และหลังจากที่ท่านหญิงได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้วท่านได้กล่าวกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่าฉันเฝ้ารอคอยวันนี้มานานแสนนาน  และหลังจากท่านอิมามอะลีและท่านหญิงคอดิยะฮฺแล้ว ท่านต่อมาที่เข้ารับอิสลามคือ ท่านอบูซัรฺ ฆิฟารีย์

 


ภายหลังจากบิอ์ษัต

 

หลังจากการบิอ์ษัตท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ญิบรออีลได้ลงมาอีกครั้งเพื่อสอนการทำวุฎู รุกูอ์ และสุญูดกแก่ท่านศาสดา ตลอดจนอหฺกามและปัญหาชัรฺอีย์อื่นๆ ท่านได้ทำการสอนอย่างต่อเนื่องแก่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ถ่ายทอดสิ่งนี้แก่มุสลิมคนแรกซึ่งท่านอิมามอะลีได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นตลอดมา เช่นนมาซ สามารถกล่าวได้ว่าบุคคลแรกที่ได้ทำนมาซคือท่านอิมามอะลี (อ.) กับท่านหญิงคอดิยะฮฺ ท่านสองได้ทำนมาซญะมาอะฮฺ ร่วมกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า เฉพาะนมาซซุฮริเท่านั้นที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ทำข้างๆ กะอ์บะฮฺ ส่วนมนามซเวลาอื่นท่านได้ทำในบริเวณอื่นเพื่อมิให้เป็นจุดเด่นจนเกินไป ขณะเดียวกันท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้เริ่มเผยแพร่อิสลามภายในแก่ญาติพี่น้องตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
อิมามฮุเซน (อ) ...
ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ...
ทำไมชีอะฮ์จึงเรียกลูกๆ ...
...
อภัยทาน
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
...
...
...

 
user comment