ไทยแลนด์
Tuesday 23rd of April 2024
0
نفر 0

บทบาทสำคัญของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในการอบรมขัดเกลามนุษย์

บทบาทสำคัญของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในการอบรมขัดเกลามนุษย์

 

                ในการอธิบายถึงบทบาทของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้แนะนำอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ว่าเป็นประตูและกุญแจไขสู่ขุมคลังของความรู้แห่งพระผู้เป็นเจ้า และในอีกสำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงท่านเหล่านั้นในฐานะครูเพียงผู้เดียวที่จะแนะนำให้รู้จักบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนา

 

               ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) หลังจากกล่าวถึงหน้าที่บังคับ (วาญิบาต) ต่างๆ ทางศาสนาที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การประกอบพิธีฮัจญ์ อุมเราะฮ์ การนมาซ การจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับ) การถือศีลอด และการยอมรับ “วิลายะฮ์” (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) แล้ว ท่านได้เขียนว่า

 

وَ جَعَلَ لَكُمْ بَاباً تَسْتَفْتِحُونَ بِهِ أَبْوَابَ الْفَرَائِضِ وَ مِفْتَاحاً إِلَى سَبِیلِهِ

“และพระองค์ได้ทรงประทานประตูหนึ่งแก่พวกท่าน ที่พวกท่านจะเปิดมันไปสู่ประตูทั้งหลายของข้อกำหนดบังคับต่างๆ (ทางศาสนา) และประทานกุญแจหนึ่งที่จะไขไปสู่แนวทางของพระองค์” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 75 หน้าที่ 374)

 

จุดประสงค์ของคำว่า “ประตู” และ “กุญแจ” นั้นคืออะไร

 

                หากจุดประสงค์ของทั้งสองคำนี้เป็นสิ่งเดียวกัน (หมายถึงสื่อที่จะนำพาเข้าสู่วงกลมหนึ่งๆ) ซึ่งถูกกล่าวถึงในสองสำนวนคำพูด โดยอาศัยกรณีบ่งชี้ (กอรียะฮ์) 2 ประการ เราสามารถกล่าวได้ว่า จุดประสงค์ของสิ่งดังกล่าวคืออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ผู้บริสุทธิ์ คือกรณีบ่งชี้ประการแรกของส่วนถัดไปของริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้นั่นเอง และกรณีบ่งชี้ประการที่สองคือ ฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่ท่านกล่าวว่า

 

أَنَا مَدِینَةُ الْعِلْمِ وَ عَلِیٌّ بَابُهَا وَ هَلْ تُدْخَلُ الْمَدِینَةُ إِلَّا مِنْ بَابِهَا

“ฉันคือเมืองแห่งความรู้ และอะลีคือประตูของมัน และจะเข้าสู่เมืองได้ ก็โดยผ่านทางประตูของมันมิใช่หรือ” (อัลอะมาลี เชคซอดูก หน้าที่ 345)

 

               แต่หากมันหมายถึงสองสิ่งนี้แล้ว เนื่องจากเป็นประเด็นเรื่องของสื่อในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา สามารถกล่าวได้ว่า จุดประสงค์ของคำว่า “ประตู” นั้นคือ “อะฮ์ลุลบัยต์” และจุดประสงค์ของคำว่า “กุญแจ” ก็คือ “สติปัญญา” ของมนุษย์เอง โดยอาศัยคำรายงานที่ผ่านมาข้างต้น และคำรายงานอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ที่ท่านได้กล่าวว่า

 

إِنَّ لِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حُجَّتَیْنِ حُجَّةً ظَاهِرَةً وَ حُجَّةً بَاطِنَةً فَأَمَّا الظَّاهِرَةُ فَالرُّسُلُ وَ الْأَنْبِیَاءُ وَ الْأَئِمَّةُ وَ أَمَّا الْبَاطِنَةُ فَالْعُقُول

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงมีหลักฐานข้อพิสูจน์สองประการเหนือมนุษย์ คือหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายนอกและหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายใน (ของตัวมนุษย์) สำหรับหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายนอกนั่นคือบรรดาศาสนทูต บรรดาศาสดาและบรรดาอิมาม ส่วนหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายในนั่นก็คือสติปัญญา (ของมนุษย์เอง)” (อัลกาฟีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 16)

 

              เนื่องจากหากขาดสติปัญญาแล้ว การเปิดประตูทางเข้า หมายถึง การทำความเข้าใจกับคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็ไม่อาจจะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี สติปัญญาที่ว่านี้จะต้องเป็นสติปัญญาตามคำพูดของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) คือจะต้องไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำ (ฮะวานัฟซ์) แต่จะต้องเป็นเครื่องชี้นำอารมณ์ใฝ่ต่ำ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

 

كَمْ مِنْ عَقْلٍ أَسِیرٍ تَحْتَ [عِنْدَ] هَوَى أَمِیرٍ

“ช่างมากมายเหลือเกิน สติปัญญาที่ถูกจองจำอยู่ใต้การชี้นำของอารมณ์ใฝ่ต่ำ”


(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 211)

 

             สติปัญญาที่ตกเป็นทาสและถูกครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะคิดและตัดสินใจไปตามความต้องการของอารมณ์ใฝ่ต่ำ

             ในส่วนถัดไปของเนื้อหาของจดหมาย ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในการสร้างความเข้าใจในศาสนาให้แก่ประชาชน โดยเขียนว่า

لَوْ لَا مُحَمَّدٌ ص وَ الْأَوْصِیَاءُ مِنْ وُلْدِهِ لَكُنْتُمْ حَیَارَى كَالْبَهَائِمِ لَا تَعْرِفُونَ فَرْضاً مِنَ الْفَرَائِضِ وَ هَلْ تُدْخَلُ مَدِینَةٌ إِلَّا مِنْ بَابِهَا

“หากไม่มี (ท่านศาสดา) มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาวะซีย์ (ผู้สืบทอด) จากลูกหลานของท่านแล้ว แน่นอนยิ่ง พวกท่านก็จะเป็นผู้มึนงงสับสน เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน โดยที่พวกท่านไม่รู้ถึงข้อกำหนดบังคับใดๆ เลย (จากพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นจะเข้าเมืองได้ ก็ต้องผ่านประตูของมันเพียงเท่านั้นมิใช่หรือ”

 

              แน่นอน หากไม่มีท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในฐานะวะซีย์ (ตัวแทน) ของท่านศาสดา ที่จะนำพจนารถของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ประชาชน และทำหน้าที่อธิบายแจกแจงสิ่งดังกล่าวแล้ว จะไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเข้าสู่ประตูแห่งวิทยาการของพระผู้เป็นเจ้า และรับรู้ถึงบทบัญญัติและคำสั่งต่างๆ ของพระองค์ได้เลยแม้แต่น้อย และพวกเขาจะต้องอยู่ในสภาพมึนงงสับสนเหมือนคนหลงทางที่ไม่สามารถจะนำพาตนเองเข้าสู่ทางนำของพระผู้เป็นเจ้า และค้นพบความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิตของตนได้

 

              ในช่วงท้ายของคำพูดข้างต้น เพื่อที่จะพิสูจน์ถึงเหตุผลของคำพูดที่สำคัญยิ่งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเปรยระหว่างเมืองและประตูทางเข้าของมัน โดยกล่าวว่า “การที่มนุษย์จะสามารถเข้าสู่เมืองได้นั้น จะต้องผ่านเข้าทางประตูของมัน ทำนองเดียวกันนี้ มนุษย์ทั้งหลายจะสามารถเข้าสู่เมืองแห่งวิชาความรู้ คำสั่งสอนและบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้นั้น ก็จะต้องผ่านเข้าทางประตูแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)”

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ปรัชญาของวันอีดฟิตร์
...
...
ตัฟซีร ซูเราะฮ์อัลอิคลาศ ตอนที่ ...
การผ่าดวงจันทร์ (ชักกุ้ลกอมัร) ...
บันทึกประวัติ “ปาเลสไตน์” ...
...
ดุอากุเมล คำอ่านพร้อมความหมาย
อัลกุรอาน โองการสุดท้ายคืออะไร ...
ความอธรรมในอัลกุรอาน

 
user comment