ไทยแลนด์
Friday 29th of March 2024
0
نفر 0

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 1

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 1

 

 

การสนทนาระหว่างนักวิชาการชีอะฮ์หนึ่งเดียว (ซุลฏอนุล วาอิซิน ชีรอซี (ค.ศ.1897-1972)) กับกลุ่มนักวิชาการซุนนี ที่เมืองเปชาวาร ปากีสถาน ระหว่างวันที่ 23 รอญับถึงวันที่ 3 ชะอ์บาน ฮ.ศ.1345

 

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1


ค่ำวันศุกร์ ที่ 23 รอญับ ฮ.ศ 1345


สถานที่: บ้านของท่านมุฮ์ซิน วะญีฮ์ อัล-มิรซา ยะอ์กูบ อะลี คาน กอซัล บาช(1) บุคคลสำคัญท่านหนี่งในเมืองเปชาวาร
เปิดฉากเสวนาตั้งแต่เริ่มค่ำ-หลังนมาซมัฆริบ


เปิดประชุม : โดยบรรดาผู้อาวุโส นักปราชญ์เช่น ฮาฟิซ (2) มุฮัมมัด รอชีด, เชคอับดุสสลาม, ซัยยิด อับดุลฮัย และผู้รู้อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งบุคคลสำคัญและผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการ มาพร้อมกันในที่ประชุม


ข้าพเจ้าแสดงความยินดีต้อนรับตามอัธยาศัยและยิ้มแย้มเช่นเดียวกับเจ้าบ้าน ที่ให้การต้อนรับอย่างกระตือรือร้น หลังจากนั้นก็สั่งคนใช้ส่งชา ผลไม้ และขนมมาเลี้ยงแขกเหรื่อทั้งหมด

 

แต่ทั้งนี้ ผู้อาวุโสในหมู่คณะที่มา กลับแสดงท่าทีตรงข้ามกับที่ข้าพเจ้าปฏิบัติ กล่าวคือเราสามารถเห็นสีหน้าปรากฏความขุ่นเคืองนับตั้งแต่พบข้าพเจ้า รู้สึกได้ว่าพวกเขาเครียดราวกับจะมาหาเรื่องข้าพเจ้ามากกว่าจะมาเพื่อสานความเข้าใจและแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน


แต่ข้าพเจ้ามิได้ใส่ใจกับสิ่งนี้ เพราะไม่ต้องการจะให้การพบปะคราวนี้ มีเป้าหมายเรื่องส่วนตัวแฝงอยู่เบื้องหลัง  จิตใจข้าพเจ้ามิได้พกพาความอวดดื้อถือดี และมิได้คลั่งไคล้ในลัทธินิยมจนไม่ลืมหูลืมตาเพื่อขับเคี่ยวใครๆ ข้าพเจ้ามีเป้าหมายอย่างเดียวคือ ทำให้สัจธรรมกระจ่างชัดและอธิบายไปตามความจริงเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมิอาจเลี่ยงความจำเป็นประการหนึ่ง คือ สัมมาคารวะ ข้าพเจ้าจึงต้อนรับพวกเขาอย่างสดชื่น  ยิ้มแย้มแจ่มใส ยินดีและให้เกียรติ ข้าพเจ้าเสนอว่าให้พวกเขาเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผู้พูดจะต้องเป็นคนใดคนหนึ่งที่แน่นอนในหมู่คณะ และอย่าพูดนอกประเด็นที่ตกลงกันไว้แล้ว


พวกเขาตอบตกลงตามนั้นและกำหนดให้ท่านฮาฟิซ มุฮัมมัด รอชีดเป็นคนพูดในนามพวกเขา แต่บางครั้งคนอื่นก็สามารถร่วมถกปัญหาได้เป็นครั้งคราว แต่ต้องได้รับอนุญาตจากคนแรกก่อน

 

การเริ่มต้นเสวนา

 

เป็นอันว่า ที่ประชุมได้ยึดระเบียบการประชุมที่เป็นของทางการมาใช้ การแสดงทัศนะตอบโต้ระหว่างข้าพเจ้ากับพวกเขาจะเป็นไปอย่างละเอียดและอย่างเป็นวิชาการ โดยท่านฮาฟิซมุฮัมมัด รอชีด ได้เรียกข้าพเจ้าว่า”กิบละฮ์ ศอฮิบ” (3) กล่าวว่า :

 

“นับตั้งแต่ท่านได้เข้ามาพำนักที่เมืองนี้ ได้มีประชาชนเข้าฟังคำปราศรัยของท่านในที่ประชุมของท่านจำนวนมาก แต่แทนที่การประชุมของท่านจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์และความเป็นพี่น้อง กลับปรากฏว่า ท่านได้สร้างความแตกแยกและความเป็นศัตรูขึ้น ท่านได้แพร่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเมืองนี้ สำหรับเราถือว่าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาสังคม และขจัดความขัดแย้ง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางมาบนเส้นทางอันยาวไกล ร่วมกับเชค อับดุสสลาม และการที่เรามาเมืองเปชาวาร ก็เพื่อขจัดปัญหาความคลุมเครือที่ท่านจุดชนวนขึ้นในหมู่ประชาชน

 

วันนี้ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมฟังคำปราศรัยของท่านที่ฮุซัยนียะฮ์ ข้าพเจ้าพบว่า การพูดของท่านเป็นคำบรรยายที่มีเสน่ห์และเป็นการพูดที่ละเอียดเกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะตำหนิได้ บัดนี้เราได้มาประชุมร่วมกับท่าน โดยหวังจะได้รับประโยชน์จากท่านผู้มีเกียรติ เพื่อประชาชนทั่วไป หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์

 

ดังนั้น ถ้าหากท่านเห็นพ้องต้องกันตามนี้ ข้าพเจ้าก็จะขอเริ่มสนทนากับท่านด้วยความยินดี และเราจะพูดเกี่ยวกับหลักการขั้นพื้นฐานที่ทั้งเราและท่านถือว่าสำคัญ

 

ซุลฏอน : เชิญท่านตามอัธยาศัยและยินดีเสมอสำหรับท่าน ขอให้ท่านพูดตามที่ท่านต้องการ ข้าพเจ้าจะตั้งใจฟัง และจะเก็บคำพูดของพวกท่านมาใส่ใจด้วยความปรารถนาและต้องการจะรับฟังอย่างยิ่ง

 

  แต่ทว่า ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องผ่านไปยังผู้ที่เข้ามาในสถานที่นี้ทั้งหมด รวมทั้งท่านและตัวข้าพเจ้าเองด้วยว่า เราต้องสลัดความคิดที่ถือฝักฝ่าย และความรู้สึกตามประเพณีนิยมในท้องถิ่น และยึดธรรมเนียมบรรพบุรุษ เราจะไม่รุ่มร้อนเยี่ยงพวกไร้อารยธรรมที่ปฏิเสธสัจธรรม หลังจากมันได้ปรากฏแก่เราแล้ว


 (ต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์) ซึ่งเราอาจพูดตามคำพูดของพวกไร้อารยธรรมที่ว่า “เพียงพอแล้ว สำหรับเรา เท่าที่เราพบเห็นมาจากบรรพชนของเรา”(4)หรือ ประโยคที่ว่า “เป็นไปไม่ได้ เราจะปฏิบัติตามก็เฉพาะเท่าที่บรรพชนของเราได้กำหนดแนวทางให้กับเราเท่านั้น” (5)


สิ่งที่ขอร้องก็คือ ทั้งข้าพเจ้าและท่าน จะต้องพิจารณาเนื้อหาและประเด็นที่เราถกเถียงกันด้วยความสุขุมคัมภีรภาพและวิเคราะห์อย่างแท้จริง เพื่อเราจะได้เดินบนเส้นทางเดียวกันแล้วจะไปถึงสัจธรรม และความถูกต้องด้วยกัน ดังนั้นเราจะเป็นไปตามที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ นั่นคือ ความเป็นพี่น้องของเราที่เข้มแข็งและรักใคร่กันในหนทางของอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงสูงสุดยิ่ง


ท่านฮาฟิซ ตอบว่า : คำพูดของท่านจะถูกยอมรับ ภายใต้เงื่อนไขว่า ท่านต้องมีหลักฐานอ้างอิงจากคัมภีร์อัล-กุรอาน อันทรงเกียรติเท่านั้น

 

ซุลฏอนฯ : เงื่อนไขของท่านตรงจุดนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดานักปราชญ์และผู้สติปัญญาในศาสนาอิสลาม ยิ่งกว่านั้น ยังถูกปฏิเสธโดยสติปัญญาและบทบัญญัติศาสนาเองด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพราะว่า อัล-กุรอาน อันทรงเกียรติ อันเป็นคัมภีร์จากฟากฟ้า อันศักดิ์สิทธิ์นั้น วางบทบัญญัติและกฏเกณฑ์ทุกประการไว้เพียงสังเขปและสรุป ซึ่งความเข้าใจในแต่ละเรื่องจำเป็นต้องมีผู้อธิบาย และจริยวัตรอันประเสริฐของท่านศาสดา คือ ผู้อธิบาย


ดังนั้น สำหรับเราจึงจำเป็นจะต้องย้อนกลับไปหาบทรายงานและฮะดีษต่างๆที่ถูกบันทึกไว้จากจริยวัตรอันทรงเกียรติ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องนั้นๆ และเราจะต้องอ้างจริยวัตรอันทรงเกียรติ เป็นหลักฐานสำหรับเรื่องที่ต้องการจะพูด


ท่านฮาฟิซ: คำพูดของท่านถูกต้อง มั่นคงดีแท้ แต่ทว่า ในคำพูดของท่านนั้น เราหวังว่า ท่านจะอ้างถึงบทรายงานที่มีสายสืบถูกต้อง(เศาะฮีฮ์)เป็นเอกฉันท์ และเป็นฮะดีษที่ถูกยอมรับในหมู่พวกเราและพวกท่าน จึงขอให้ท่านอย่าได้อ้างหลักฐานจากคำพูดของคนทั่วไปและจากหลักความเชื่อของพวกท่านล้วนๆ


เราหวังอีกเช่นกันว่า การสนทนาของเรา จะเป็นไปด้วยความราบรื่น ปราศจากเรื่องเหลวไหล ยั่วยุเพื่อเราจะได้ไม่เป็นที่ดูถูกดูแคลนของชาวศาสนิกอื่น


ซุลฏอน : นี่คือคำพูดที่ต้องยอมรับข้าพเจ้ายึดมั่นในข้อนั้นก่อนท่านจะขอร้องอยู่แล้วทั้งนี้ก็เพราะว่าไม่สมควรสำหรับนักการศาสนาและนักปราชญ์ทางจิตวิญญาณจะนำเรื่องเหลวไหลมาพูดในสถานที่เสวนาทางวิชาการและในการทำความเข้าใจเรื่องศาสนา

 

  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนอย่างข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ และมีสายตระกูลอันประเสริฐซึ่งสืบไปถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ) ผู้เป็นเจ้าของคุณลักษณะที่ดีงาม มีสถานะที่ได้รับการสรรเสริญและจริยธรรมอันยิ่งใหญ่ ดังที่อัลลอฮ์ได้ประทานโองการกล่าวถึงเรื่องของท่านว่า “แน่นอน เจ้าตั้งอยู่กับจริยธรมอันยิ่งใหญ่(6)


เป็นอันว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องยึดถือแบบอย่างปู่ทวดของข้าพเจ้าก่อนเป็นอันดับแรก อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกียรติอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงตรัสว่า “จงเชิญชวนสู่หนทางของพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญาและคำสอนที่ดียิ่ง และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีกว่า”(7)


ท่านฮาฟิซ : ท่านกล่าวว่า สืบเชื้อสายถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ) ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่สุดในมวลมนุษยชาติ ท่านพอจะอธิบายให้เรารู้ถึงสายตระกูลของท่านที่สืบถึงท่านนบีผู้ทรงเกียรติ(ศ)ได้ไหม ?


ซุลฏอน : แน่นอน สายตระกูลของข้าพเจ้าสืบจากทางอิมาม มูซา กาซิม บุตรของ ญะอ์ฟัร (ขอความจำเริญ ความสันติสุขมีแด่ท่าน)แล้วสืบไปถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ) ดังจะเรียงลำดับให้เห็นต่อไปนี้


สายตระกูลของผู้เรียบรียง


ข้าพเจ้าชื่อมุฮัมมัด บุตรของ อะลี อักบัร “อัชรอฟุล วาอิซีน” บุตรของกอซิม “บะห์รุลอุลูม” บุตรของฮะซัน บุตรของอิสมาอีล “อัลมุจะฮิดุลวาอิซ” บุตรของอิบรอฮีม บุตรของซอลิห์ บุตรของอะบี อะลี มุฮัมมัด บุตรของอะลี ที่รู้จักในนาม มุรดาน บุตรของอะบี กอซิม มุฮัมมัด ตะกีย์ บุตรของ “มักบูลุดดีน” ฮุเซน บุตรของ  อะบี อะลี ฮะซัน บุตรของมุฮัมมัด บิน ฟัตฮุลลอฮ์บุตรของอิสฮาก บุตรของฮาชิม บุตรของอะบี มุฮัมมัด บุตรของ อิบรอฮีม บุตรของอะบี อัลฟะตะยาน บุตรของอับดุลลอฮ์ บุตรของฮะซัน บุตรของอะห์มัด อะบี ต็อยยิบ บุตรของอะบี อะลี ฮะซัน บุตรของอะบี ญะอ์ฟัร มุฮัมมัด อัลฮาอิรีย์ “นะซีลกัรมาน” บุตรของอิบรอฮีม อัฎ-ฎอรีรที่รู้จักกันในนาม “อัลมุญาบ” บุตรของอะมีร มุฮัมมัด อัล-อาบิด บุตรของอิมามมูซา กาซิม บุตรของอิมามญะอ์ฟัร ศอดิก บุตรของอิมามมุฮัมมัด บากิร บุตรของอิมามอะลี ซัจญาด “ซัยนุลอาบิดีน” บุตรของอิมามอะบี อับดุลลอฮ์ อัล-ฮุเซน “ซิบตุชชะฮัด” บุตรของอิมาม อะมีรุลมุมินีน อะลี บิน อะบี ตอลิบ (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่านทั้งมวล)


ท่านฮาฟิซ : ดีมากความจริงสายตระกูลของท่านตามที่อธิบายมาได้สิ้นสุดที่ท่านอะลี  บิน อะบี ฏอลิบ (ขอให้ อัลลอฮ์ทรงประทานเกียรติยศแก่ใบหน้าของท่าน)สายตระกูลนี้ยืนยันว่า ท่านแค่เป็นเครือญาติท่านนบี(ศ)เท่านั้น หาใช่เป็นบุตรหลานของท่านแท้ๆไม่ เพราะ “บุตรหลาน” จะหมายถึงเฉพาะผู้ที่มาจากเผ่าพันธุ์และเป็นเชื้อสายของคนนั้นๆเองเท่านั้น มิใช่นับเอาคนที่มาจากบุตรสาวและบุตรเขยของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะแอบอ้างว่า เป็นลูกหลานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ)ได้อย่างไร ?


ซุลฏอน`: ที่ว่าเชื้อสายของเราสืบไปถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ)ก็เพราะสืบมาจากท่านหญิงฟาติมะฮ์อัซซะฮ์รออ์ (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)บุตรสาวของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ) ด้วยเหตุว่าท่านคือมารดาของอิมามฮุเซนอัช-ชะฮีด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)


ท่านฮาฟิซ : “ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจในตัวท่านและคำพูดของท่านมากท่านกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ออกมาได้อย่างไรในเมื่อท่านเป็นนักวิชาการและมีมารยาทที่ดีงาม ?

 

ท่านไม่เคยรู้หรือการสืบเชื้อสายของมนุษย์เรานั้นจะถือว่าถูกต้องก็เพียงผู้สืบเชื้อสายมาจากลูกชายเท่านั้นไม่ใช่จากลูกสาว ? ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ) ไม่มีผู้สืบตระกูลที่มาจากลูกชายเพราะฉะนั้นท่านเป็นเพียงสายตระกูลของท่านและเป็นลูกหลานของบุตรสาวของท่านเท่านั้นไม่ใช่ลูกหลานและเชื้อสายของท่าน!!”


ซุลฏอนฯ : “ข้าพเจ้าไม่คิดว่าท่านเป็นคนดื้อรั้นหรือเป็นคนพาลหาไม่แล้วข้าพเจ้าจะไม่ขออยู่ในฐานะผู้ตอบคำถามของท่านและจะไม่ขอเข้าร่วมวงเสวนากับพวกท่าน!


ท่านฮาฟิซ : หามิได้สหายไม่มีการกลั่นแกล้งท่านเลยแท้จริงเราไม่ต้องการจาบจ้วงและพูดพาลแต่อย่างใดหากแต่เราต้องการรู้ความจริงเท่านั้นเพราะข้าพเจ้าและบรรดานักปราชญ์ส่วนมากมีความเห็นตรงกันในประเด็นที่ข้าพเจ้าได้อธิบายแก่ท่านไปแล้วคือเราเห็นว่าทายาทและผู้สืบตระกูลของคนเรานั้นจะมีก็เพียงลูกของบุตรชายเท่านั้นมิได้นับลูกของบุตรหญิงดังที่นักกวีได้กล่าวในแง่นี้ไว้ว่า


บุตรหลานของเรา ได้แก่บุตรหลานของบุตรชายของเรา
ส่วนบุตรหลานของเรา ที่สืบมาจากบุตรหญิงของเรานั้น
ที่แท้เป็นบุตรหลานของคนอื่น  อันห่างไกลไปจากเรา
ถ้าหากท่านมีหลักฐานอื่นหักล้าง โดยให้เหตุผลว่าบุตรหลานของลูกสาวท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ)เป็นลูกหลานและเป็นผู้สืบเชื้อสายของท่าน ก็ขอได้อธิบายให้เป็นที่รู้แก่เราเถิด เผื่อบางทีจะเป็นที่ยอมรับ แล้วเมื่อนั้นเราจะขอบพระคุณ


ซุลฏอน : “ในระหว่างที่ฟังคำพูดของท่านอยู่นั้น ข้าพเจ้านึกถึงการถกเถียงประเด็นนี้ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างฮารูน คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์กับอิมามอะบีอิบรออีม มูซา บิน ญะอ์ฟัร อัล-กาซิม(ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) ซึ่งท่านอิมามได้ตอบอย่างสมบูรณ์ จนฮารูนยอมรับและเชื่อถือมาแล้ว


ท่านฮาฟิซ : “การถกเถียงกันคราวนั้น เป็นอย่างไร กรุณาอธิบายให้เราฟังเถิด”


ซุลฏอน : การถกเถียงกันในเรื่องนี้ นักปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิของเราได้ถ่ายทอดไว้ในตำราของพวกท่าน เช่น บุคคลผู้เป็นที่ยอมรับประจำสมัย ได้แก่ เชคศ็อดดูก ท่านได้บันทึกในตำราอันทรงคุณค่าชื่อ “อุยูน อัคบารุรริฎอ”(8) (บรรดาผู้ถ่ายทอดคำสอนของอิมามริฎอ(อ) ในจำนวนนั้นมีนักปราชญ์ประจำสมัยอีกหนึ่งท่าน)  หรือผู้เชี่ยวชาญแห่งศตวรรษ คือ เชค  ฎ็อบรอซีย์ ดังมีความปรากฏในหนังสืออันทรงคุณค่าของท่านเชค ชื่อ “อัลอิห์ติยาจญ์” ซึ่งข้าพเจ้าจะหยิบยกข้อความตอนหนึ่งจากหนังสืออัล-อิห์ติยาจญ์ (9)ในฐานะเป็นตำราทางวิชาการที่มีคุณค่ามาเสนอต่อท่าน เรื่องทั้งหมดในหนังสือนี้ คือ มรดกทางวิชาการและจริยธรรม ซึ่งจำเป็นสำหรับบุคคลเยี่ยงท่านฮาฟิซจะได้ศึกษาโดยละเอียด เพื่อที่ว่า ข้อเท็จจริงต่างๆทางวิชาการ และประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดบังอย่างมากมายจะได้เปิดเผยแก่ท่าน


ลูกหลานของท่านหญิงผู้สะอาดบริสุทธิ์ (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) คือเชื้อสายของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)


ท่านอัลลามะฮ์ ฎ็อบรอซีย์ อะบูมันซูร อะห์มัด บิน อะลี ได้รายงานไว้ในตำรา(อัล-อิห์ติยาจญ์)ของท่านว่า มีหนึ่งรายงานซึ่งแยกออกไปต่างหาก และมีความยาวมาก ภายใต้หัวข้อเรื่อง “คำตอบของอิมามมูซา บิน ญะอ์ฟัร (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) สำหรับคำถามของฮารูน มีคำถามและคำตอบหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องที่เรากำลังถกกันอยู่ตอนนี้ จึงขอให้ท่านพิจารณาเรื่องที่จะแจกแจงต่อไปนี้ :

 

ฮารูน : เป็นที่แน่ชัดว่า  พวกท่านได้อนุญาตให้ชาวมุสลิมทั้งซุนนีและชีอะฮ์เชื่อถือว่า พวกท่านเป็นเชื้อสายของท่านนบี(ศ)และให้เรียกพวกท่านว่า โอ้บุตรหลานของท่านศาสนทูตห่งอัลลอฮ์ ทั้งๆที่พวกท่านเป็นลูกหลานของอะลี อันที่จริง บุรุษเพศต่างหากที่จะสืบสายตระกูลของบิดา ฟาฏิมะฮ์นั้นเป็นเพียง “เครื่องรับ” ฉะนั้นท่านนบี(ศ)จึงมีศักดิ์เป็นตาของพวกท่าน ที่นับจากฝ่ายมารดา


อิมาม มูซา (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) : “ขอถามท่าน สมมติว่าท่านนบี(ศ)ฟื้นคืนชีพในขณะนี้  แล้วสู่ขอบุตรสาวของท่าน ท่านยินดีตอบรับการสู่ขอของท่านนบี(ศ)ไหม ?


ฮารูน : “มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์ ทำไมที่ข้าฯจะไม่ตอบรับการสู่ขอของท่านเล่า ข้าฯจะต้องมีเกียรติเหนือกว่าใคร ทั้งชาวอาหรับและไม่ใช่อาหรับ และเหนือบรรดาชาวกุเรช เพราะเรื่องนี้เป็นแน่แท้”


อิมามมูซา (อ): “แต่ท่านนบี(ศ)จะไม่สู่ขอบุตรสาวของฉันแน่นอน และฉันก็ไม่อาจจัดการแต่งงานบุตรสาวของฉันให้กับท่านได้อย่างแน่นอน”


ฮารูน: ทำไม ?


อิมาม(อ): “เพราะเหตุว่า ท่านนบี(ศ)มีฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดฉัน แต่มิได้ให้กำเนิดท่าน”   

    
ฮารูน : ท่านพูดได้ดีทีเดียว แต่ทว่า ท่านพูดได้อย่างไรว่า พวกเราเป็นลูกหลานของท่านนบี(ศ)ในขณะที่ท่าน นบี ไม่มีผู้สืบตระกูล ? เพราะผู้สืบตระกูลจริง ๆ ต้องสืบสายโลหิตมาจากบุตรชาย  มิใช่จากบุตรหญิง พวกท่านเป็นเพียงบุตรหลานของบุตรหญิงท่านนบี   ฉะนั้น บุตรหลานของนาง จึงมิใช่ผู้สืบตระกูลของท่านนบี(ศ็อลฯ)

 

อิมาม(อ) : “ข้าพเจ้าจะขอจากท่านในเรื่องสิทธิของเครือญาติ สุสานและบุคคลสุสาน หากไม่มีคำตอบจากท่านก่อน ข้าพเจ้าก็จะขอออกตัวไม่ตอบปัญหานี้”


ฮารูน: ไม่ได้ …ทางเดียว คือท่านต้องบอกหลักฐานของพวกท่านแก่ข้าพเจ้าในข้อนี้ก่อน โอ้บุตรของอะลี โอ้มูซาเอ๋ย ท่านเป็นผู้นำ และเป็นอิมามของพวกเขาประจำสมัย และทำนองเดียวกับ ข้าฯก็จะไม่ยอมผ่อนผัน ในทุกประเด็นที่ข้าได้ถาม จนกว่าท่านจะได้นำข้อพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ มาแสดงต่อข้าฯ


พวกท่านเป็นคนในตระกูลลูกหลานของอะลี พวกท่านอ้างตน ว่าในคัมภีร์นั้น ไม่มีอะไรตกหล่นไปจาก(ความรู้)พวกท่านเลยแม้สักสิ่งเดียว  ไม่ว่าจะเป็นอักษร”อะลีฟ” หรือ”วาว” ทั้งหมดล้วนมีหลักตีความอยู่ที่พวกท่าน โดยพวกท่านอ้างหลักฐานจากโองการของพระองค์ผู้ทรงอานุภาพสูงส่งว่า”เรามิได้ละเว้นเรื่องใด โดยไม่กล่าวถึงไว้ในคัมภีร์”(10) แน่นอนพวกท่านมักจะอธิบายเกินเลยไปจากทัศนะและหลักวิชาเปรียบเทียบของบรรดนักปราชญ์เสมอมา”


อิมาม(อ): จะอนุญาตให้ข้าพเจ้าตอบหรือ ?


ฮารูน : เชิญเลย


อิมาม(อ): “ขอความคุ้มครองต่อัลลอฮ์ให้พ้นจากชัยตอนที่ถูกสาปแช่ง ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานีผู้ทรงเมตตายิ่งเสมอ “และส่วนหนึ่งจากสายตระกูลของเขาคือ ดาวูด และสุลัยมาน และอัยยูบ และยูซุฟ และมูซา และฮารูน และทำนองเดียวกัน เราได้ให้รางวัลแด่บรรดาผู้มีคุณธรรม และซะกะรียา และยะห์ยา และอีซา และอิลยาซ ทุกคนล้วนเป็นกัลยาณชน”(11) ขอถามว่า ใครเป็นบิดาของอีซา (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)?!


ฮารูน : อีซา ไม่มีบิดา


อิมาม(อ): “แต่อัลลอฮ์ทรงจัดลำดับให้ท่านเป็นสายตระกูลของบรรดานบี โดยผ่านทางท่านหญิงมัรยัม มารดาของท่าน(ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)ทำนองเดียวกันที่ทรงจัดลำดับให้พวกเราเป็นสายตระกูลของ นบี(ศ) โดยผ่านทางท่านหญิงฟาติมะฮ์มารดาของเรา(ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) จะให้ข้าพเจ้าอธิบายเพิ่มเติมอีกไหม?


ฮารูน : “เชิญเลย”


อิมาม(อ) : “อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงสุด มีโองการว่า “ดังนั้น ผู้ใดที่โต้แย้งเจ้าในข้อนี้ หลังจากได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงมาเถิด เราจะเรียกบุตรทั้งหลายของเรา และบุตรทั้งหลายของ พวกท่าน และบรรดาสตรีของเรา และบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่าน หลังจากนั้น เราจะขอการพิสูจน์ เพิ่อให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์มีแก่บรรดาผู้อ้างความเท็จ”(12)


พระองค์ไม่ทรงละเลยบุคคลใดเลย ที่ท่านนบีเคยนำเข้าอยู่ใต้ผ้าคลุมอัล-กิซาอ์  ฉะนั้น ตอนที่ทำการพิสูจน์สาบานกับพวกนะซอรอ ก็มีเพียงอะลี บิน อะบี ฏอลิบ, ฟาฏิมะฮ์, ฮะซัน และฮุเซน (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)เท่านั้น


นักปราชญ์มุสลิมเชื่อถือตรงกัน ว่า ผลลัพท์ของคำว่า “บุตรทั้งหลายของเรา” ในโองการอันทรงเกียรติ คือ ฮะซันและฮุเซน (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)ผลลัพท์ของคำว่า

“บรรดาสตรีของเรา” ก็คือ ฟาฎิมะฮ์ อัซซะฮ์รออ์(ความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)ผลลัพท์ของคำว่า “ตัวของเรา” ก็คือ อะลี บิน อะบี ฏอลิบ (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน)
ฮารูน : “ดีมาก โอ้ มูซา ถ้าเช่นนั้น ก็เชิญยกประเด็นที่ท่านต้องการ มาเสนอต่อเราได้เลย”


อิมาม (อ) : “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปยังสุสานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ปู่ทวดของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้อยู่กับครอบครัว


ฮารูน : “แล้วเราจะพิจารณาอินชาอัลลอฮ์”(13)

 

เชิงอรรถ


(1)เป็นบ้านที่กว้างขวาง สามารถจุคนได้จำนวนมาก เพราะเจ้าของปลูกหลังนี้เตรียมไว้สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดเสวนา ณ ที่แห่งนี้ติดต่อกันทุกคืน และเจ้าของบ้านเองก็ทำหน้าที่ต้อนรับแขก ด้วยอัธยาศัยอย่างดีเยี่ยมท่านให้เกียรติและแสดงความยินดีต่อการมาของสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม และยกชา ผลไม้ ขนมมาเลี้ยงพวกเขาด้วยไมตรี

 

 “กอซาล บาช” แปลว่า “ศีรษะแดง” ฉายานามว่า “ชาวศีรษะแดง” เป็นชื่อเรียกทหารกลุ่มหนึ่งของนาดารชาห์ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานในสมัยนาดิรชาห์เข้ายึดครอง ครั้นพอพวกชีอะฮ์ประสบกับปัญหายุ่งยากที่นั่น พวกเขาก็อพยพมาที่อินเดียและแยกย้ายกันอยู่ที่นั่น พวกเขาเป็นชีอะฮ์ที่เข้มแข็งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

(2)ฮาฟิซ เป็นคำที่ใช้เรียก สำหรับคนที่ท่องจำอัล-กุรอานและท่องจำซุนนะฮ์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ทั้งในหมู่นักปราชญ์ซุนนีและชีอะฮ์หรือสำหรับคนที่ท่องจำครบ 100,000 ฮะดีษ ทั้งตัวบทและสารบบรายงาน

 

(3) คำนี้เป็นฉายานามที่สำคัญมากซึ่งบรรดามุสลิมในอินเดียและปากีสถานจะนำมาใช้เรียกนักปราชญ์ทางศาสนาและผู้อาวุโสในหมู่พวกเขา ความหมายในทัศนะของพวกเขา คือ “อิมามผู้นำ”ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวการแลกเปลี่ยนทัศนะในครั้งนั้นเรียกซัยยิด”ซุลฏอนวาอิซีน”ด้วยฉายานามว่า”กิบละฮ์ ศอฮิบ”(หมายเหตุ-ผู้แปลเป็นอาหรับ)

 

(4)ซูเราะฮ์อัล-มาอิดะฮ์ โองการที่ 103

 

(5)ซูเราะฮ์อัล-บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 170

 

(6)ซูเราะฮ์อัลกอลัม โองการที่ 4

 

(7)ซูเราะฮ์อัน-นะฮ์ลุ โองการที่ 125

 

(8)อุยูนุลอัคบารุร ริฎอ เล่ม 1 หน้า 84 ฮะดิษที่ 9

 

(9)อัลอิห์ติยาจญ์เล่ม 2 อัล-มุนาซอเราะฮ์ 271 หน้า 335

 

(10)ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 38

 

(11)ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่84,85

 

(12)ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 61


(13)แต่ทว่าอิมามมูซา กาซิม(อ) บุตรของญะฟัร(อ)นั้น ต้องห่างจากสุสานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ)ตาทวดของท่านและวงศาคณาญาติตลอดชีวิต ท่านถูกนำตัวจากคุกหนึ่งไปอยู่อีกคุกหนึ่ง ในสภาพถูกพันธนาการด้วยเชือกและเหล็กและอยู่ในคุกมืดเต็มไปด้วยตัวหมัดจนกระทั่งถูกลอบวางยาพิษเป็นชะฮีด(ขอความจำเริญและความสันติสุขมีแด่ท่าน(หมายเหตุ-ผู้แปลเป็นอาหรับ)

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
อาณาจักรดุอาสะฮัร
อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 14 ...
ในอายะฮ์ที่ได้กล่าวว่า "فَمَنِ ...
...
...
ในประโยคคำปฏิญาณ (อัชฮะดุ อันลา ...
อัลกุรอาน บทนิซาอฺ โองการที่ 29 ...
ดุอาประจำวันที่ 18 ...
ดุอากุเมล คำอ่านพร้อมความหมาย

 
user comment