ไทยแลนด์
Thursday 28th of March 2024
0
نفر 0

การลอกเลียนแบบที่คัมภีร์อัลกุรอานตำหนิและประณาม

การลอกเลียนแบบที่คัมภีร์อัลกุรอานตำหนิและประณาม


การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่การถ่ายทอดความเชื่อที่งมงายจากหมู่ชนในอดีตไปสู่หมู่ชนในรุ่นต่อไปในอนาคต เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคุณค่าและความดีงาม และการปฏิบัติตามแบบอย่างและแนวทางของบรรพบุรุษนั้น หากไม่ได้เกิดจากตรรกะและการใช้เหตุผล ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นกัน คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

وَ إِذا قِیلَ لَهُمُ اتَّبِعُوا ما أَنْزَلَ اللَّهُ قالُوا بَلْ نَتَّبِعُ ما أَلْفَیْنا عَلَیْهِ آباءَنا أَ وَ لَوْ كانَ آباؤهُمْ لا یَعْقِلُونَ شَیْئاً وَ لا یَهْتَدُونَ

 

“และเมื่อมีผู้กล่าวกับพวกเขาว่า จงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า มิได้ เราจะปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้พบบรรดาบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติไว้เพียงเท่านั้น แม้นว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่ได้ไตร่ตรอง และไม่ได้รับการชี้นำใดๆ กระนั้นหรือ?”

(อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ ดองการที่ 170)

 

      โองการข้างต้นได้เตือนเราให้ออกห่างจากการปฏิบัติตามรอยเท้าและคำสั่งต่างๆ ของมาร (ชัยฏอน) โองการนี้อธิบายให้เห็นถึงหนึ่งในตัวอย่างของแนวทางของมาร (ชัยฏอน) ซึ่งนั่นก็คือการลอกเลียนแบบ (ตักลีด) อย่างหลับหูหลับตา หากบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นนักวิชาการ เป็นผู้ชำนาญการและเป็นผู้ที่ได้รับการชี้นำทาง ก็ย่อมควรคู่ต่อการที่จะได้การปฏิบัติตาม แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกเขาเป็นประชาชนคนธรรมดา ไม่มีความรู้ และมีความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผล ดังนั้นการปฏิบัติตามพวกเขาจะมีความหมายอะไร?! การปฏิบัติตามเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการลอกเลียนแบบของผู้ไม่รู้ (ญาฮิล) จากผู้ไม่รู้ (ญาฮิล) ด้วยกันหรือ?!

 

      ปัญหาของชาตินิยมและความคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของตนเองนั้น นับตั้งแต่อดีตกาลอันไกลโพ้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บรรดาผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า (มุชริกีน) และบุคคลอื่นๆ จากพวกเขา และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนี้ แต่บรรดาผู้ที่มีศรัทธามั่นต่อพระเจ้านั้นจะปฏิเสธตรรกะเช่นนี้ และคัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิประณามอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบ การปฏิบัติตามและการคลั่งไคล้อย่างหลับหูหลับตาต่อบรรพบุรุษของตนเองไว้ในหลายๆ โองการ และถือว่าตรรกะนี้ที่มนุษย์จะหลับหูหลับตาเชื่อและปฏิบัติตามบรรพบุรุษของตนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โดยทั่วไปแล้วหากการปฏิบัติตามบรรพชนเป็นไปในลักษณะที่ว่า เราจะละวางจากการใช้สติปัญญาและการคิดใคร่ครวญของตนเองอย่างสิ้นเชิงแล้ว การกระทำเช่นนี้จะไม่มีผลเป็นอย่างอื่น นอกจากการถอยหลังและการไม่พัฒนา เนื่องจากว่าโดยปกติแล้ว คนรุ่นใหม่ควรจะต้องมีประสบการณ์และมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าคนในยุคอดีต

 

      แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่วิธีคิดแบบ “ญาฮิลียะฮ์” (ยุคมืด) เช่นนี้ ยังคงปกคลุมอยู่ท่ามกลางผู้คนและชนชาติต่างๆ จำนวนมาก โดยพวกเขาจะคลั่งไคล้และบูชาบรรพบุรุษของตน ประหนึ่งดั่ง “รูปเจว็ด” และยอมรับจารีตประเพณีและความเชื่อที่งมงายคร่ำครึอย่างหลับหูหลับตา ในฐานะที่เป็น “ร่องรอยของบรรพชน” และพยายามที่จะให้เหตุผลต่างๆ ที่สวยหรูต่อสิ่งนั้นว่า “เป็นการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์” และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่งเอาไว้ วิธีคิดเช่นนี้เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากในการถ่ายทอดความเชื่อที่งมงายต่างๆ จากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใดทั้งสิ้นที่คนรุ่นใหม่จะนำเอาขนบธรรมเนียมประเพณี จารีตและความเชื่อต่างๆ ของบรรพชนในอดีตมาทำการการวิเคราะห์ตรวจสอบ สิ่งที่สอดคล้องกับเหตุผลและตรรกะนั้นพวกเขาจะรักษามันด้วยความเคารพอย่างสูงสุด และสิ่งใดก็ตามที่เป็นความเชื่อที่งมงายและเป็นตำนานที่คร่ำครึและไร้ตรรกะพวกเขาก็จะละทิ้งมันไป จะมีสิ่งใดดียิ่งไปกว่านี้หรือ? การวิพากษ์วิจารณ์จารีตประเพณีและความเชื่อของบรรพชนในลักษณะเช่นนี้ต่างหากที่ควรคู่ต่อการเรียกว่า “การพิทักษ์รักษาประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์” ส่วนการยอมรับและการยอมจำนนอย่างหลับหูหลับตาต่อสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นความงมงาย การถอยหลังและความโง่เขลา

 

      สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ ในโองการข้างต้นได้กล่าวเกี่ยวกับบรรพชนของพวกเขาไว้เช่นนี้ว่า “พวกเขาไม่เข้าใจสิ่งใด” “ไม่ใคร่ครวญสิ่งใด” และ “ไม่ได้รับการชี้นำ” โดงการอัลกุรอานต้องการที่จะสื่อถึงความหมายเช่นนี้ว่า : เราสามารถที่จะปฏิบัติตามความเชื่อได้สองวิธี คือ : การที่ตัวเราเองมีความรู้ มีภูมิปัญญาและคิดหาเหตุผลเองได้ และผู้ใดก็ตามที่ตัวเขาไม่ใช่ผู้รู้และคิดหาเหตุผลเองไม่ได้ การยอมรับและการปฏิบัติตามการชี้นำของผู้มีความรู้และนักวิชาการก็เป็นที่ยอมรับได้ แต่บรรพชนของพวกเขานั้นไม่ใช่ทั้งผู้ที่มีความรู้ ไม่มีทั้งผู้นำและผู้ชี้นำที่มีความรู้ ซึ่งเราได้รับรู้ไปแล้วว่า การปฏิบัติตามและการลอกเลียนแบบที่จะนำความหายนะมาสู่มนุษย์นั่นก็คือ การปฏิบัติตามและการลอกเลียนแบบของผู้ไม่รู้ (ญาฮิล) จากคนที่ไม่รู้ (ญาฮิล) ด้วยกันเอง สิ่งนี้เองที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิประณามอย่างรุนแรง

 

      ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่า การเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างมีตรรกะและมีเหตุผลนั้นไม่มีปัญหาอย่างใดทั้งสิ้น แต่สิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานตำหนิประณามก็คือการลอกเลียนแบบ (ตักลีด) และการปฏิบัติตามบรรดาผู้ที่ทั้งตัวพวกเขาเองไม่มีความรู้และขาดการคิดใคร่ครวญ อีกทั้งไม่ได้รับการชี้นำจากปวงศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า การชี้นำ (ฮิดายะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีอยู่ในทุกยุคสมัย และจากการที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของพวกเขาไม่ยอมรับการชี้นำนั้น” ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการชี้นำทางของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ในทุกยุคสมัย แต่พวกเขาไม่ยอมรับการชี้นำทางนั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ว่า

 

 بَلَى لَا تَخْلُو الْأَرْضُ مِنْ قَائِمٍ لِلَّهِ إِمَّا ظَاهِراً أَوْ خَائِفاً

 

“ใช่แล้ว! แผ่นดินจะไม่ว่างเปล่าจาก (ผู้นำ) ผู้ยืนหยัดเพื่ออัลลอฮ์ ไม่ว่า (เขาจะเรียกร้องเชิญชวนประชาชนไปสู่แนวทางของพระองค์) โดยเปิดเผยหรือโดยซ่อนเร้นก็ตาม” (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กิซอรุ้ลหิกัม (สุนทโรวาท) ที่ 147)

 

 
สิ่งที่ได้รับจากโองการอัลกุรอาน :

 

    การถอยหลังและความดักดานนั้น เป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะของอิสลาม และการปฏิบัติตามจารีตประเพณี แนวทางและความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยปราศจากการไตร่ตรองและการใช้เหตุผลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้


    ความมีอคติ ความคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์และตระกูลของตนเองนั้น คือปัจจัยประการหนึ่งในการปิดกั้นจากการยอมรับสัจธรรม


    จารีตประเพณีและความเชื่อของบรรพบุรุษมีอิทธิพลต่อคนรุ่นต่างๆ ในยุคถัดไป


    แนวทางที่เป็นสัจธรรมจะสามารถรับรู้ได้โดยอาศัยสติปัญญาและวะห์ยู (วิวรณ์) จากพระผู้เป็นเจ้า


    การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่การถ่ายทอความเชื่อต่างๆ ที่งมงาย จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง (โดยปราศจากการใคร่ครวญและการใช้ปัญญาตรวจสอบ) นั้น เป็นสิ่งตรงข้ามกับคุณค่าและความดีงาม


    สติปัญญาชี้นำเราไปสู่การปฏิบัติตามวะห์ยู (วิวรณ์) แห่งพระผู้เป็นเจ้า “พวกท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมา”

 

 

แหล่งที่มา :

   

หนังสือตัฟซีร นูร, เล่มที่ 1
   

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กิซอรุ้ลหิกัม (สุนทโรวาท) ที่ 147

 

เรียบเรียงโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ


ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามิคสทาดี้ยส์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article


 
user comment