ไทยแลนด์
Wednesday 24th of April 2024
0
نفر 0

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 103- 104- 105 บทอัตเตาบะฮ์

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 103- 104 -105 บทอัตเตาบะฮ์

 

กลุ่มโองการนี้ กล่าวถึงมารยาทในการเก็บทานบังคับ (ซะกาต) และการจัดส่งทาน

 

خُذْ مِنْ أَمْوالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَ تُزَكِّيهِمْ بِها وَ صَلِّ عَلَيْهِمْ إِنَّ صَلاتَكَ سَكَنٌ لَهُمْ وَ اللّهُ سَميعٌ عَليمٌ

أَ لَمْ يَعْلَمُوا أَنَّ اللّهَ هُوَ يَقْبَلُ التَّوْبَةَ عَنْ عِبادِهِ وَ يَأْخُذُ الصَّدَقاتِ وَ أَنَّ اللّهَ هُوَ التَّوّابُ الرَّحيمُ

وَ قُلِ اعْمَلُوا فَسَيَرَى اللّهُ عَمَلَكُمْ وَ رَسُولُهُ وَ الْمُؤْمِنُونَ وَ سَتُرَدُّونَ إِلى عالِمِ الْغَيْبِ وَ الشَّهادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِما كُنْتُمْ تَعْمَلُونَ

 

คำแปล :

 

103. สูเจ้าจงเอาทรัพย์สมบัติบางส่วนของพวกเขาเป็นทาน เพื่อให้สิ่งนั้นทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขา (ขณะที่รับทาน) สูเจ้าจงขอพรให้แก่พวกเขาเถิด เพราะการขอพรของสูจ้าจะทำให้เกิดความสงบใจแก่พวกเขา และอัลลอฮ์ เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

 

104. พวกเขาไมรู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับทานทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺคือ พระผู้ทรงอภัยโทษ พระผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

105. จงกล่าวเถิดว่า "สูเจ้าจงทำเถิด อัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาศรัทธาชนจะ มองเห็นการกระทำของสูเจ้า และสูเจ้าจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับ และสิ่งเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่สูเจ้า ในสิ่งที่สูเจ้าได้กระทำไว้

 

คำอธิบาย :

 

ซะกาต (ทานบังคับ) คือ ปัจจัยชำระขัดเกลาทางปัจเจกบุคคลและสังคม

 

กลุ่มโองการนี้กล่าวถึงเรื่องการกลับใจและการบริจาคทาน ซึ่งโองการแรกกล่าวเกี่ยวกับบทบัญญัติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในอิสลาม อันได้แก่ ซะกาต (ทานบังคับ) ซึ่งถือเป็นหลักการโดยทั่วไปที่ได้มีบัญชาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

1. จากสาเหตุของการลงโองการก่อนหน้านี้ดังกล่าวไปแล้ว จะเห็นว่าโองการนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ อบูลุลาบะฮ์ และการกลับใจของเขาอีกเช่นกัน ดังอธิบายไปแล้วว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับทรัพย์สมบัติของเขาไว้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่โองการนี้กำลังกล่าวถึง ทานที่เป็นทรัพย์ แต่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 บางทีอาจเป็นเพราะว่า ส่วนที่เกินไปจากซะกาตที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เรียกเก็บจากเขาอาจเป็นการไถ่ความผิด (กัฟฟาเราะฮ์) จากพวกเขาก็ได้

 

2. คำว่า เซาะดะเกาะฮ์ ที่ปรากฏในอัลกุรอาน ให้ความหมายว่าเป็น ซะกาต สิ่งประเด็นนี้จะปรากฏในบทที่เป็นมะดะนีย์ เสียเป็นส่วนใหญ่ (หมายถึงบทที่ประทานให้ลงที่มะดีนะฮ์) ดังนั้น ความหมายของโองการข้างต้นจึงหมายถึง ซะกาต หรือหมายถึง การจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ ความผิด (ไถ่โทษความผิด) หรือการให้โดยสมัครใจที่มีเจตคติบริสุทธิ์เป็นที่ตั้ง[1]

 

3. คำว่า มิน หมายถึง บางส่วน ในโองการข้างต้นบ่งบอกให้เห็นว่า ซะกาต เป็นส่วนหนึ่งจากทรัพย์สิน ไม่ได้หมายรวมถึงทรัพย์สินทั้งหมด หรือทรัพย์สินส่วนใหญ่

 

4. คำว่า คุซ หมาย การหยิบ บ่งบอกให้เห็นว่าผู้นำมวลมุสลิม หรือผู้นำรัฐบาลอิสลามสามารถเอาซะกาตจากประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอความพึงพอใจของประชาชน ที่เมื่อไหร่ต้องการบริจาคซะกาต ก็จะบริจาค แต่ถ้าไม่พอใจก็ไม่บริจาค

 

5. โองการข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่า ซะกาต คือ ปัจจัยชำระขัดเกลาให้สะอาด หมายถึง ผู้บริจาคซะกาต เขาจะถูกชำระขัดเกลาให้สะอาดจากการมีมารยาทต่ำทราม เช่น การลุ่มหลงโลก ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว และความเลวทรามทั้งหลาย

 

6. โองการได้อธิบายให้ทราบว่า ซะกาต คือการพัฒนาและเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเกียรติยศ และในแง่สังคมถือเป็นความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

 

7.โองการข้างต้นได้สอนท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และพวกเราว่าในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นวาญิบ เช่น การบริจาคซะกาต จำเป็นต้องขอบคุณประชาชน และให้การส่งเสริมในด้านจิตวิญญาณแก่พวกเขา เนื่องจากดุอาอ์ คือ สาเหตุทำให้จิตใจมนุษย์สงบเสงี่ยม แม้ว่าภายนอกดูเหมือนว่าจะสูญเสียบางสิ่งไปก็ตาม  แต่เป็นการดีให้รักษาสภาพจิตใจภายในไว้ให้มั่นคง

 

8. ริวายะฮ์กล่าวว่า เมื่อประชาชนได้นำเอาซะกาตมามอบแด่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านจะดุอาอ์ให้เขาด้วยประโยคว่า“ขออัลลอฮ์ โปรดประสาทพรแด่พวกเขา”[2]

 

9. โองการข้างต้นถ้าพิจารณาสาเหตุการลงโองการจะเห็นว่า โองการกล่าวถึงเรื่องการเตาบะฮ์ของอบูลุบาบะฮ์ และพรรคพวกของเขา แต่ความหมายของโองการครอบคลุมกว้างกว่านั้น โดยกล่าวเป็นกฎทั่วไปถึงซะกาต และมารยาทในการเก็บรวบรวมซะกาต และมรรคผลในเชิงสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามีริวายะฮ์บางบทจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งได้มีผู้ถามว่า โองการข้างต้นมีผลกับประชาชนภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยหรือ ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า ใช่[3]

 

10. รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า  ขณะที่โองการข้างต้นได้ถูกประทานลงมา ช่วงนั้นเป็นช่วงเดือนรอมฎอนพอดี ดังนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงได้มีคำสั่งให้ชายคนหนึ่งยืนประกาศว่า ซะกาต เป็นวาญิบสำหรับพวกเจ้าเหมือนกันนมาซ หลังจากนั้นได้กล่าวถึงจำนวนซะกาตที่เป็นทองคำ เงิน อูฐ วัว แกะ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ อินทผลัม ผลองุ่นแห้ง และทุกๆ ปี ของเดือนรอมฎอนจะมีผู้มาประกาศเก็บซะกาต และพวกเขาก็ได้ออกซะกาตไป[4]

 

อัลกุรอานโองการที่ 104 ได้กล่าวถึงเรื่อง การกลับตัวกลับใจที่ถูกยอมรับ และผู้มีสิทธิ์รับซะกาตที่แท้จริง คือ อัลลอฮ์

 

1. สาเหตุแห่งการประทานโองการก่อนหน้านั้นกล่าวถึงเรื่องราวของอบูลุบาบะฮ์และพรรคพวกที่ไม่ยอมออกสงครามตะบูก แต่เมื่อสำนึกตนได้แล้ว พวกเขาได้อ้อนวอนให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ยอมรับการกลับใจและทรัพย์สินของเขา ซึ่งโองการนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การกลับใจเพียงอย่างเดียวที่ผู้ตอบรับคือ อัลลอฮ์ ทว่าผู้มีสิทธิ์รับการบริจาคซะกาตที่แท้จริงก็คือ อัลลอฮ์ “แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับทานทั้งหลาย” ด้วยเช่นกัน การที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบุคคลที่ยากจนได้รับซะกาตเอาไว้ ในความเป็นจริงบุคคลเหล่านั้นเป็นตัวแทนรับเพื่ออัลลอฮ์

2. ดังที่โองการอัลกุรอานจำนวนมากมายกล่าวถึง การกลับใจ (เตาบะฮ์) ว่าไม่ใช่เพียงการสำนึกผิด หรือการสำนึกตัวจากความผิดเท่านั้น ทว่าต้องร่วมกับการแก้ไขและการชดเชย เพราะการชดเชยอาจเป็นการช่วยเหลือคนยากจนแบบไม่มีข้อแลกเปลี่ยน ดังที่ได้อ่านจากโองการข้างต้นเรื่องราวของอบูลุบาบะฮ์

 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป้าหมาย คือ จิตวิญญาณที่สกปรกด้วยบาปกรรม สามารถชำระล้างได้ด้วยการกระทำความดี เพื่อให้ความสะอาดดั้งเดิมอันเป็นธรรมชาติกลับคืนมาอีกครั้ง

 

3. รายงานบางบทกล่าวว่า เมื่อผู้นำผู้บริสุทธิ์จ่ายซะกาต บางครั้งท่านจะจูบซะกาตก่อน หรือไม่ก็มอบซะกาตแก่คนยากจน หลังจากนั้นท่านจะนำกลับมาแล้วหอมกลิ่นและจูบซะกาตนั้น และส่งคืนกลับไป และเมื่อมีผู้ถามท่านว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น ท่านกล่าวว่า “ซะกาตหรือซะดะเกาะฮ์ จะไม่ไปถึงมือของปวงบ่าว เว้นเสียแต่ว่าไปถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าก่อน ซึ่งในทุกภารกิจการงานพระองค์จะมอบให้มวลมลาอิกะฮ์เป็นผู้ปฏิบัติ แต่ซะกาตพระองค์จะเป็นผู้รับไว้เอง”[5]

 

4. แม้ว่าอิสลามจะพยายามอย่างยิ่งเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากสังคม แต่กระนั้นเราก็ยังพบเห็นคนยากจนในสังคม เด็กกำพร้า และคนอนาถาอีกมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องนำงบประมาณอันเป็นกองคลังของอิสลาม หรือซะกาต หรือซะดะเกาะฮ์ มาช่วยจุนเจือสังคม ดังนั้น จะเห็นว่าโองการข้างต้นได้บ่งชี้ไว้อย่างประณีต เพื่อเตือนสติบรรดามุสลิมทั้งหลายว่า จงบริจาคทานโดยให้เกียรติแก่ผู้รับ เนื่องจากผู้รับทานที่แท้จริงคือ อัลลอฮ์ “แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับทานทั้งหลาย” ซึ่งเท่ากับโองการได้บ่งชี้ให้เห็นความยิ่งใหญ่ของซะกาตและซะดะเกาะฮ์ ไว้อย่างชัดเจน

 

โองการสุดท้ายได้นำเอาการวิพากษ์ที่ผ่านมา กล่าวในแนวใหม่ พร้อมกับได้มีบัญชาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่าให้ประกาศสิ่งนี้ให้ประชาชนทั้งหลายได้รับรู้ ซึ่งได้บ่งชี้ให้เห็นเรื่อง การมองดูการงานต่างๆ ที่ถูกนำเสนอแก่อัลลอฮ์ เราะซูล และบรรดาผู้ศรัทธาที่เฉพาะเจาะจง  

1. การแจ้งให้มนุษย์ได้รับรู้ว่ามีผู้ที่คอยมองดูการกระทำของเขาตลอดเวลา จะส่งผลในแง่ของความลุ่มลึกในการชำระขัดเกลาการกระทำและเจตคติของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความระมัดระวังความประพฤติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้ว่าอัลลอฮ์ ศาสดา และผู้ศรัทธาเป็นผู้คอยดูการกระทำของตน

 

2. ในหมู่ผู้ปฏิบัติตามแนวทางอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จะพบว่ามีรายงานจำนวนมากมายที่เชื่อถือได้กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) จะรับรู้ถึงการกระทำและความประพฤติของมนุษย์ตลอดเวลา เนื่องจากได้มีการนำเอาการกระทำของมนุษย์ไปเสนอกับท่านในหนทางอันเฉพาะพิเศษ

 

3. รายงานบทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “การงานของมนุษย์ทั้งหมดไม่ว่าดีหรือไม่ดี จะถูกนำเสนอแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในตอนเช้าทุกวัน ดังนั้น สูเจ้าพึงระวัง แล้วท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการข้างต้น[6]

 

4. โองการข้างต้นครอบคลุมกว้างๆ ซึ่งหมายรวมถึงการกระทำทั้งที่ปิดบังและเปิดเผย ขณะที่การกระทำส่วนใหญ่ของมนุษย์โดยปกติแล้วจะถูกปกปิดจากสายตาของผู้ศรัทธาคนอื่น  อีกด้านหนึ่งบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ศรัทธาก็จะได้เห็นการกระทำทั่วๆ ไปของมนุษย์ ขณะที่โองการระบุถึงผู้ศรัทธาโดยตรง ด้วยเหตุนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจุดประสงค์ของผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ในโองการข้างต้นหมายถึง บุคคลที่เฉพาะเจาะจงพิเศษ เช่น ท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านจะได้เห็นการงานของมนุษย์ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ รายงานบางบท จึงได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของผู้ศรัทธาในโองการข้างต้นว่าหมายถึง บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.)[7]

5. บางรายงานกล่าวถึงการนำเสนอการกระทำเฉพาะแต่ศาสดา (ซ็อล ฯ) และบางรายงานก็กล่าวถึงนามของท่านอิมามอะลี (อ.)  บางรายงานกล่าวว่า การงานของมนุษย์จะถูกนำเสนอเฉพาะตอนบ่ายของวันพฤหัสเท่านั้น บางรายงานกล่าวว่าการงานของมนุษย์จะถูกนำเสนอทุกวัน หรือสองวันในหนึ่งสัปดาห์ หรือรายงานกล่าวว่าเฉพาะต้นเดือนเท่านั้น และบางรายงานก็กล่าวว่าเฉพาะเวลาตายเท่านั้น ซึ่งการของเขาจะถูกนำเสนอในหลุมฝังศพ[8] แน่นอน รายงานดังกล่าวนี้ล้วนได้รับการรับรองว่าถูกต้องทั้งสิ้น และรายงานแต่ละบทนั้นจะมีคำอธิบายอันเฉพาะสำหรับการนำเสนอการงาน ดังที่ สำนักพิมพ์หรือองค์กรต่างๆ ได้มีเตรียมรายงานเอาไว้ซึ่งมีทั้งรายงานประจำวัน ประจำเดือน และประจำสัปดาห์

 

6. อัลกุรอานพาดพิงถึง มุอ์มิน โดยตรง ซึ่งจุดประสงค์คือการงานทั้งหมดที่มิใช่แนวทางธรรมดา มิเช่นนั้นการงานทั่วๆ ไปทั้งผู้ศรัทธาและไม่ใช่ผู้ศรัทธาก็มองเห็น

 

ขณะเดียวกันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจุดประสงค์ของคำว่า มุอ์มิน ในโองการ ก็เป็นดังที่รายงานส่วนใหญ่ได้กล่าวเอาไว้คือ ไม่ได้หมายถึงผู้ศรัทธาทั้งหมด ทว่าเป็นกลุ่มชนที่เฉพาะเจาะจงจากบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาล่วงรู้ในความเร้นลับตามอนุญาตของอัลลอฮฺ (ซบ.) พวกเขาคือตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ภายหลังจากท่าน

 

7. คำว่า รุอ์ยัต หมายถึง การมองเห็นหรือเป็นที่ชัดเจนในหมู่นักอรรถาธิบายอัลกุรอานทั้งหลายว่า รุอ์ยัต ในประโยคที่กล่าวว่า “อัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาศรัทธาชนจะ มองเห็นการกระทำของสูเจ้า”  หมายถึง การรูจัก  ไม่ได้หมายถึงความรู้ เนื่องจากในประโยคมีกรรม ไม่เกินหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ของนักอักษรศาสตร์ว่า ถ้าหากคำว่า รุอ์ยัต หมายถึง ความรู้แล้วละก็ คำนี้ต้องการนามที่เป็นกรรมถึง 2 ตัวด้วยกัน

 

แต่ก็ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด ถ้าหากเราจะให้ รุอ์ยัต มีความหมายตามรากศัพท์เดิมกล่าวคือ การมองเห็น ไม่ใช่ความรู้ และไม่ใช่การรู้จัก ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้จะเห็นว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ ) ทรงมองเห็นในทุกๆ ที่ และทรงครอบคลุมอยู่เหนือความรู้สึกต่างๆ ซึ่งไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่เกี่ยวกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใดที่ท่านจะมองเห็นการกระทำเหล่านั้น ภายหลังจากได้ถูกนำเสนอแก่ท่านแล้ว เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าการงานของมนุษย์ที่กระทำไว้จะไม่มีวันสูญสลายเด็ดขาด ทว่าจะคงอยู่ตลอดไปตราบจนถึงวันกิยามะฮ์

 

8. พึงระวังไว้เถิดว่าอย่าให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิมาม (อ.) ต้องกริ้วโกรธพวกท่าน


 อิมามโคมัยนี กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ตามความหมายของอัลกุรอานในโองการบทเตาบะฮ์ โองการที่ 105 ตามการอรรถาธิบายของรายงานบางบทที่กล่าวไว้ในหนังสือ วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่ม 4 หน้า 245 กล่าวว่า การงานของมนุษย์จะถูกนำเสนอแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งท่านจะพิจารณาในการงานเหล่านั้น เมื่อท่านพิจารณาการงานของเราแล้วเห็นว่าผิดพลาด และมีความผิดสั่งสมไว้มากมาย ท่านจะโกรธมากและเสียใจมาก ซึ่งฉันหวังว่าพวกท่านคงจะไม่ต้องการทำให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ต้องเสียใจ ซึ่งการงานของเราอาจทำให้ให้จิตใจของท่านต้องแตกสลายและเศร้าหมอง แน่นอนสิ่งนี้ย่อมทำให้ท่านได้รับความอับอาย เมือยู่ ณ พระพักตร์ของอัลลอฮ์และมวลมลาอิกะฮ์ ทั้งที่อัลลอฮ์ (ซ.บ)ไม่ประสงค์ที่จะสาปแช่งพวกท่าน[9]

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. การจ่ายซะกาต ด้านหนึ่งจะช่วยขจัดความสกปรกทั้งส่วนตัวและสังคมให้หมดไป อีกด้านหนึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสมบูรณ์และการพัฒนา

2. การเก็บรวบรวมซะกาตเป็นหน้าที่ของผู้นำสังคมอิสลาม

3. การตอบรับเตาบะฮ์ (กลับใจ) เป็นหน้าที่อันเฉพาะสำหรับอัลลอฮ์ เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หรืออิมาม (อ.)

4. ผู้ที่มีหน้าที่รับซะกาตและซะดะเกาะฮ์ที่แท้จริงคือ อัลลอฮ์  (ดังนั้น พึงบริจาคให้ดีที่สุด)

5. การงานและความประพฤติทั้งหมดของเราอยู่ภายใต้การมองเห็นของอัลลอฮ์ ศาสดา และบรรดาอิมาม (ดังนั้น ท่านพึงระมัดระวังการกระทำและความประพฤติเถิด)

6. ท่านจงเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสอบการกระทำเถิด

 

เชิงอรรถ

 


[1] ตัฟซีร อบุลฟะตูฮ์ รอซีย์ เล่ม 6 หน้า 109

[2]ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 371

[3]อ้างแล้ว เล่ม 2 หน้า 317

[4]อ้างแล้วเล่มเดิม

[5]ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 372 (ประเด็นดังกล่าวอ้างถึงท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) และท่านอิมามบากิร (อ.)

[6]อุซูลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 171 (หมวด เอวาฎ อะอ์มาล) ตัฟซีร โบรฮานีย์ เล่ม 2 หน้า 158, ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 373

[7]ตัฟซีร ซอฟีย์

[8]อุซูลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 171 (หมวด เอวาฎ อะอ์มาล) ตัฟซีร โบรฮานีย์ เล่ม 2 หน้า 158, ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 373

[9]ญิฮาดอักบัร หรือญิฮาดนัฟซ์ ท่านอิมามโคมัยนี หน้า 48

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
“มุบาฮะละฮ์” ในประวัติศาสตร์
จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ ...
มะอาด : ...
ฟาฏิมะฮ์ ...
มองเรื่อง “ข่าวลือ” ...
เคล็ดลับอายุยืน(1)
ชัยฏอน คือ ...
มุอ์ญิซะฮ์ (ปาฏิหาริย์) ...

 
user comment