ไทยแลนด์
Wednesday 24th of April 2024
0
نفر 0

อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต ( 8)

อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต ( 8)



อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต ( 8)

 

ความกตัญญูกตเวทีและการขอบคุณ

ในคัมภีร์กุรอาน คำว่า "ชุกร์" ซึ่งหมายถึง การขอบคุณและการแสดงความกตัญญู ซึ่งถูกกล่าวไว้มากกว่า 77 ครั้ง ในรูปคำต่างๆ ที่แตกต่างกัน บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า

 

«لَئِنْ شَكَرْتُمْ لاَءَزیدَنَّكُمْ»

 

“หากพวกเจ้าขอบคุณ แน่นอนยิ่งเราก็จะเพิ่มพูน (เนี๊ยะอ์มัตและสิ่งอำนวยสุขทั้งหลาย)ให้แก่พวกเจ้า” (1)

 

และบางครั้งพระองค์จะทรงบัญชาให้มนุษย์รู้จักขอบคุณพระองค์และผู้ให้กำเนิดทั้งสอง โดยตรัสว่า

 

«اَنِ اشْكُرْ لی وَلِوالِدَیكَ»

 

“เจ้าจงขอบคุณข้า และผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด” (2)

 

 และในอีกหลายๆ โองการที่พระองค์ทรงใช้ให้มนุษย์รุ้จักขอบคุณและแสดงความกตัญญูในเนี๊ยะฮ์มัต (ความโปรดปรานและสิ่งอำนวยสุข) ต่างๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ โดยตรัสว่า

 

«وَاشْكُرُوا نِعْمَةَ اللّهِ»

 

“และพวกเจ้าจงขอบคุณต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์เถิด” (3)

 

 หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าและเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ต่างๆ ของพระองค์ นั่นก็คือ การแสดงออกซึ่งการขอบคุณและความกตัญญูต่อปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่รับใช้บริการและสร้างคุณงามความดีให้แก่มวลมนุษย์ หรือได้ย่างก้าวไปบนเส้นทางของสัจธรรมและการชี้นำเพื่อนมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) จึงกล่าวว่า

 

«اَشْكَرُكُمْ لِلّهِ اَشْكَرُكُمْ لِلنّاسِ»

 

“ผู้ที่ขอบคุณ (และกตัญญู) ต่ออัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกเจ้า คือผู้ที่ขอบคุณ(และแสดงความกตัญญู) ต่อมนุษย์มากที่สุดในหมู่พวกเจ้า” (4)

 

 ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า

 

مَنْ لَمْ یشْكُرِ الْمُنْعِمَ مِنَ الْمَخْلُوقینَ لَمْ یشْكُرِ اللّهَ عَزَّوَجَلَّ

 

“ผู้ใดก็ตามที่ไม่ขอบคุณมนุษย์ที่ให้เนี๊ยะอ์มัต (สิ่งที่ดีงามแก่เขา) แล้ว ดังนั้นเขาก็ไม่ได้ขอบคุณต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” (5)

 

ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวไว้ใน “ริซาละตุลฮุกูก” ของท่านว่า

 

وَ اَمّا حَقُّ ذِی الْمَعْرُوفِ عَلَیكَ فَاَنْ تَشْكُرَهُ وَ تَذْكُرَ مَعْرُوفَهُ

 

“สำหรับสิทธิของผู้ที่ปฏิบัติความดีงามต่อท่านนั้น คือการที่ท่านจะขอบคุณเขาและรำลึกในคุณงามความดีของเขา” (6)

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กับ การขอบคุณและการรำลึกถึงความดีงามของผู้อื่น

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า

 

شُكْرُكَ لِنِعْمَةٍ سالِفَةٍ یقْتَضی نِعْمَةً آنِفَةً

 

“การที่ท่านขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ที่ผ่านพ้นไปแล้วนั้น จะเป็นสื่อนำมาซึ่งเนี๊ยะอ์มัตอันใหม่” (7)

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงชีวิตของท่านที่เต็มไปด้วยความยากลำบากที่สุด หรือแม้แต่ในท่ามกลางวิกฤตที่หนักหน่วงที่สุดของสงครามและการต่อสู้ (ญิฮาด) ใน วันอาชูรอ ท่านก็ไม่เคยที่จะหลงลืมการขอบคุณและการรำลึกถึงคุณความดีของปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าที่รับใช้บริการแก่ท่าน และย่างก้าวไปในแนวทางของท่าน

 

ในค่ำคืนอาชูรอ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้แสดงการขอบคุณและรำลึกถึงคุณงามความดีต่างๆ ของบรรดาเครือญาติและเหล่าสาวกของท่านทั้งหมด ด้วยคำพูดต่างๆ ที่สวยงามและจับจิตจับใจ โดยกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าฯ ขอสรรเสริญสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมอบเกียรติความเป็นศาสดาและการผู้ถือสาสน์ให้แก่พวกเรา...”

 

จากนั้นท่านได้กล่าวกับผู้ที่ร่วมอยู่กับท่านทุกคนว่า

 

اَمّا بَعْدُ فَاِنّي لا اَعْلَمُ اَصْحابا اَوْفی وَلا خَیرا مِنْ اَصْحابی، وَلا اَهْلَ بَیتٍ اَبَرُّ وَلا اَوْصَلُ مِنْ اَهْلِ بَیتي فَجَزاكُمُ اللّهُ عَنّی خَیرا...؛

 

“แท้จริงฉันไม่เคยรับรู้ว่าจะมีหมู่มิตรสหายกลุ่มใดที่จะมีความซื่อสัตย์และมีความดีงามยิ่งไปกว่ามวลมิตรสหายของฉัน และไม่มีครอบครัวใดที่จะมีคุณธรรมความดีและมีจิตใจที่เมตตาและเอื้ออาทรมากไปกว่าครอบครัวของฉัน ดังนั้นขอพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบแทนรางวัลความดีงามแก่พวกท่านแทนฉันด้วย เถิด...” (8)

 

ตลอดช่วงวันอาชูรอก็เช่นกัน ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ขอบคุณและรำลึกถึงความดีงามของบรรดาผู้ช่วยเหลือและมวลมิตรสหายของท่านเป็นรายบุคคล ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางส่วน ณ ที่นี้

 

 1. ครอบครัวของอับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์ : หนึ่งในบรรดาชะฮีดผู้สูงส่งในวันอาชูรอ นั้นคือ “อับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์ กัลบี” เขาคือบุรุษที่มีท่อนแขนที่ยาวและทรงพลัง

 เมื่อ "ยะซาร" ทาสของซิยาด บินอบีซุฟยาน และ "ซาลิม" ทาสของอุบัยดิลลาฮ์ บินซิยาดได้ออกมาสู่สนามรบและเรียกหาคู่ต่อสู้ “ฮะบีบ บินมะซอฮิร” และ “บุร็อยร์” ได้ลุกขึ้นตอบการเรียกร้องของพวกเขา ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ห้ามทั้งสองคนไว้ จนกระทั่ง “อับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์”ได้ขออนุญาตท่านอิมาม (อ.) และได้ออกไปรบกับบุคคลทั้งสองด้วยตนเองเพียงคนเดียว และสังหารบุคคลทั้งสองลงได้ และต่อจากนั้นเขาได้โจมตีเข้าไปในใจกลางกองทัพของอุมัร บินซะอัด พร้อมกับรำพันบทกวีปลุกเร้าความกล้าและข่มขวัญศัตรู ในช่วงเวลานี้เองที่ภรรยาของเขาได้คว้าเสากระโจมค่ายพักและทะยานออกไปช่วยสามีของตน พร้อมกับกล่าวว่า “โอ้สามีของฉัน จงพิทักษ์ปกป้องครอบครัวของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เถิด ฉันเองก็จะไม่กลับไปสู่กระโจมค่ายพัก (ค็อยมะฮ์) จนกว่าจะถูกสังหารลงพร้อมกับท่าน”

ท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) เรียกนางเขามาพบและขอบใจนางและสามีของนาง โดยกล่าวว่า

 

جَزَیتُمْ مِنْ اَهْلِ بَیتٍ خَیرا اِرْجِعي رَحِمَكِ اللّهُ اِلَی النِّساءِ فَاجْلِسي مَعَهُنَّ فَاِنَّهُ لَیسَ عَلَی النِّساءِ قِتالٌ

 

“(บนหนทางของการปกป้องอะฮ์ลุลบัยต์นี้) ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบแทนรางวัลที่ดีงามแทนอะฮ์ลุลบัยต์ด้วยเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาเธอ เธอจงกลับเขาไปยังบรรดาสตรีเถิด และจงนั่งรวมอยู่กับพวกนาง เพราะแท้จริงการต่อสู้นั้นไม่เป็นหน้าที่บังคับเหนือบรรดาสตรี” (9)

 

2. อุมมุวะฮับ : อับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์ และ “อุมมุวะฮับ” ซึ่งมารดาของเขาเป็นคริสเตียน ได้เข้ารับอิสลามโดยท่านอิมามฮุเซน (อ.) ชายหนุ่มผู้นี้หลังจากที่ได้ขออนุญาตท่านอิมามฮุเซน (อ.) ออกสู่สนามรบแล้ว เขาได้สังหารนักรบผู้กล้าหาญจากกองทัพของอุมัร บินซะอัด ไปได้ถึง 24 คน และทำให้ทหารม้าศึกจำนวน 12 คนของกองทัพดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ

ทหารของอุมัร บินซะอัด ได้ตีโอบล้อมเขาและจับตัวเขาเป็นเชลยและนำไปพบกับอุมัร บินซะอัด อุมัร บินซะอัดกล่าวด้วยความประหลาดใจว่า “ทำไมเจ้าจึงมีความกล้าหาญถึงเพียงนี้ และทำไมพละกำลังของเจ้าจึงมากมายเพียงนี้...”

หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้สังหารอับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์ จนเป็นชะฮีด และนำศีรษะของเขาโยนเข้าไปในค่ายพักของบรรดาสตรี มารดาของอับดุลลอฮ์ บินอุมัยร์ได้หยิบศีรษะลูกชายของตนเองและเหวี่ยงกลับไปยังกลุ่มทหารของฝ่ายยะซีด พร้อมกับคว้าเสากระโจมค่ายพักออกไปเพื่อโจมตีทหารเหล่านั้น และสามารถฆ่าทหารของฝ่ายศัตรูลงได้สองคน ในช่วงเวลาอันวิกฤตนี้เองที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เข้ามาขัดจังหวะ และกล่าวขอบใจนางพร้อมกับกล่าวต่อนางว่า

 

اِرْجِعي یا ام وَهَبِ، اَنْتِ وَابْنُكِ مَعَ رَسُولِ اللّهِ صلی الله علیه و آله فَاِنَّ الْجِهادَ مَرْفُوعٌ عَنِ النِّساءِ لا یقْطَعُ اللّهُ رَجاكِ یا ام وَهَبٍ

 

“โอ้อุมมุวะฮับเอ๋ย จงกลับเข้าไป (ยังค่ายกระโจม) เถิด เธอและลูกชายของเธอจะได้ไปอยู่ร่วมกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

แท้จริงแล้วญิฮาด (การต่อสู้) ถูกยกเว้นจากบรรดาสตรี ขออัลลอฮ์อย่าได้ตัดความมุ่งหวังของเธอเลย โอ้อุมมุวะฮับเอ๋ย” (10)

 

ประโยคคำพูดต่างๆ ของท่านอิมาม (อ.) ข้างต้น เป็นการแจ้งข่าวดีถึงอนาคตอันเจิดจรัสของอุมมุวะฮับและบุตรชายของนาง โดยตัวของมันแล้วถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งการขอบคุณต่อความเหนื่อยยากและความอุตสาหะพยายามของอุมมุวะฮับและบุตรชายของนางที่ดีเลิศที่สุด

 

 3. ฮันซอละฮ์ บินซะอัด : ท่ามกลางความเร่าร้อนของสงครามและการต่อสู้ในวันอาชูรอ ฮันซอละฮ์ บินซะอัด ได้ยืนอยู่เคียงข้างท่านอิมามฮูเซน (อ.) และเขาได้ตะโกนก้องไปยังพวกกูฟะฮ์โดยกล่าวว่า “ฉันขอเตือนพวกท่านจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า ฉันขอเตือนพวกท่านจากการตัดสินพิพากษาในวันชาติหน้า และฉันขอเตือนพวกท่านจากการลงโทษที่ถูกส่งลงมายังกลุ่มชนซะมูดและกลุ่มชนอาด...”

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) แสดงการขอบใจต่อคำพูดตักเตือนและการปลุกจิตสำนึกต่างๆ ของเขา โดยกล่าวว่า

 

یاابْنَ سَعْدٍ! رَحِمَكَ اللّهُ! اِنَّهُمْ قَدِ اسْتَوْجَبُوا الْعَذابَ حینَ رَدُّوا عَلَیكَ ما دَعَوْتَهُمْ اِلَیهِ مِنَ الْحَقِّ وَنَهَضُوا اِلَیكَ لِیسْتَبِیحُوكَ وَاَصْحابِكَ فَكَیفَ بِهِمُ الاْآنَ وَقَدْ قَتَلُوا اِخْوانَكَ الصّالِحینَ رُحْ اِلی خَیرٍ مِنَ الدُّنْیا وَما فیها وَاِلی مُلْكٍ لا یبْلی

 

“โอ้อิบนิซะอัดเอ๋ย ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดทรงเมตตาท่าน แท้จริงเมื่อพวกเขาได้ปฏิเสธต่อสัจธรรมที่ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนพวกเขาไปสู่มัน และเตรียมพร้อมที่จะสังหารท่านและหมู่มิตรสหายของท่านแล้ว แน่นอนพวกเขาก็คู่ควรต่อการลงโทษ (ของพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นจะเป็นฉันใด เมื่อบัดนี้พวกเขาได้ลงมือสังหารบรรดาสหายผู้มีคุณธรรมของท่านไปแล้ว เจ้าจงออกไปเถิด จงออกไปจากโลกนี้ไปสู่ (โลก) ที่ดีงามและสิ่งที่มีอยู่ในมัน และไปสู่อาณาจักร (อันสูงส่งแห่งพระผู้เป็นเจ้า)ที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย (แห่งปรโลก)” (11)

 

4. อบิลชะอ์ซาอ์ : ยะซีด บินซิยาด กันดี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “อบิลชะอ์ซาอ์” เขาเป็นนักแม่นธนูที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์สูง ในวันอาชูรอเขาได้ยืนเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพื่อคอยให้การพิทักษ์ปกป้องท่าน ลูกธนูจำนวน 100 ดอก ที่เขายิงเข้าใส่ศัตรูนั้นมีเพียง 5 ดอกเท่านั้นที่พลาดเป้าหมาย และทุกครั้งที่เขายิงธนูออกไปเขาจะรำพันบทกวีปลุกเร้าความกล้าหาญแก่ฝ่ายตน และขู่ขวัญฝ่ายศัตรู ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้วิงวอนขอพร (ดุอาอ์) ให้กับเขาว่า

 

اَللّهُمَّ سَدِّدْ رَمْیتَهُ، وَاجْعَلْ ثَوابَهُ الْجَنَّةَ

 

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดบันดาลให้การยิงธนูของเขานั้นมีความหนักแน่นและตรงเป้าด้วยเถิด และโปรดทรงบันดาลให้ผลรางวัลของเขาคือสรวงสวรรค์ด้วยเถิด” (12)

 

 5. ญูน ทาสของอบูซัร : บุรุษผู้มีนามว่า "ญูน" เป็นคนผิวดำซึ่งในอดีตเคยเป็นทาสของอบูซัร เขาเดินทางมายังกัรบะลาพร้อมกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ช่วงเวลาที่เขาเข้ามาขออนุญาตท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพื่อออกสู่สนามรบนั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า “โอ้ญูนเอ๋ย ฉันได้ถอนบัยอัต (สัตยาบัน) ให้เจ้าแล้ว เพราะเจ้าได้เดินทางมาที่นี่พร้อมกับเราด้วยความหวังที่จะได้รับความสุขสบายและการมีชีวิตอยู่ที่ดี ดังนั้นอย่าได้ทำให้ตัวเองต้องมาประสบกับความทุกข์ยากในหนทางของเราเลย” (13)

 

ญูนได้ทรุดกายลงแทบเท้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และกล่าวในขณะจูบเท้าของท่านว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ในยามสุขสบายข้าพเจ้าได้ดื่มกินจากจานใบใหญ่ของท่าน แต่ในยามทุกข์ยากข้าพเจ้าก็จะทอดทิ้งพวกท่านไปอย่างนั้นหรือ! แท้จริงกลิ่นกายของข้าพเจ้านั้นมันเหม็นยิ่งนัก แท้จริงวงตระกูลของข้าพเจ้าก็แสนต่ำต้อย สีผิวของข้าพเจ้าก็ดำสนิทเสียเหลือเกิน ดังนั้นขอให้ท่านหายใจรดร่างของข้าพเจ้าในสวรรค์ด้วยเถิด เพื่อกลิ่นกายของข้าพเจ้าจะได้มีกลิ่นหอมหวนขึ้นมาบ้าง และวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้าจะได้มีเกียรติ และสีผิวของข้าพเจ้าจะได้ขาวสะอาด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ข้าพเจ้าจะไม่ขอแยกตัวไปจากพวกท่าน จนกว่าเลือดที่ดำสนิท (ของข้าพเจ้า) จะผสมผสานกับเลือดของพวกท่าน”

 เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้เห็นความซื่อสัตย์ ความบริสุทธิ์และความมุ่งมั่นของญูน ท่านจึงอนุญาตให้เขาออกสู่สนามรบ และหลังจากที่เขาได้เป็นชะฮีด ท่านอิมาม (อ.) ได้วิงวอนของพร (ดุอาอ์) เคียงข้างร่างที่ไร้วิญญาณของเขาว่า

 

اَللّهُمَّ بَیضْ وَجْهَهُ، وَطَیبْ ریحَهُ وَاحْشُرْهُ مَعَ الاْبْرارِ،

وَعَرِّفْ بَینَهُ وَبَینَ مَحَمَّدٍ وَآلِ مُحَمَّدٍ صلی الله علیه و آله

 

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดทำให้ใบหน้าของเขาขาวสะอาด และทำให้กลิ่นกายของเขาหอมบริสุทธิ์ และโปรดรวมเขาเข้าอยู่ในหมู่ผู้ทรงคุณธรรม และขอพระองค์ทรงแนะนำระหว่างเขากับมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ด้วยเถิด” (14)

 

 6. มุสลิม บินเอาซะญะฮ์ : เมื่อมุสลิม บินเอาซะญะฮ์ ออกไปสู่สนามรบ และได้สู้รบอย่างดุเดือด อัมร์ บินฮัจญาจและบรรดาทหารที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของเขาได้ตีวงโอบล้อมเขาไว้ ทำให้เรือนร่างของเขากลายเป็นเป้าของคมดาบและหอก เมื่อมุสลิมฟุบลงสู่พื้นดิน ท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) ได้รีบรุดเข้าไปหาเขาในทันทีทันใด และในสภาพที่เขายังมีลมหายใจอยู่นั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า

 

رَحِمَكَ رَبُّكَ یا مُسْلِمَ بْنَ عَوْسَجَةَ

 

“ขอพระผู้อภิบาลของเจ้าได้โปรดเมตตาเจ้าด้วยเถิด โอ้มุสลิม บินเอาซะญะฮ์” (15)

 

ต่อจากนั้นท่านได้อ่านโองการนี้ว่า

 

«فَمِنْهُمْ مَنْ قَضی نَحْبَهُ وَمِنْهُمْ مَنْ ینْتَظِرُ و ما بدلوا تبدیلا »

 

“บางคนของพวกเขาได้กระทำให้บรรลุซึ่งคำมั่นสัญญาของเขาแล้ว (ด้วยการออกทำศึกสงครามจนสิ้นชีวิต) และบางคนของพวกเขากำลังรอคอย (โอกาสที่จะออกทำสงคราม) และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลง (ข้อสัญญาของตน) แต่ประการใดทั้งสิ้น” (16)

 

7. อัมร์ บินก็อรเศาะฮ์ กะอ์บีย์ : ในวันอาชูรอ อัมร์ บินก็อรเศาะฮ์ เขาได้รับหน้าที่คุ้มกันอยู่เบื้องหน้าท่านอิมามฮุเซน (อ.) และธนูทุกดอกที่พุ่งตรงมายังทิศทางของท่านอิมาม (อ.) เขาจะเอาร่างของตนเองรับมันไว้ และเขาจะปัดป้องทุกดาบที่ฝ่ายศัตรูฟาดฟันมายังท่านอิมาม (อ.) และตราบที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาไม่ปล่อยให้อันตรายใดๆ มาสัมผัสกับท่านอิมาม (อ.) ในช่วงเวลาที่เขาฟุบลงสู่พื้นดินนั้น เขาได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามสัญญาของตนเองอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง”

ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบเขาด้วยประโยคคำพูดที่แสดงถึงการยกย่องชื่นชมว่า

 

«نعم، أنت امامي فی الجنة، فاقرأ رسول الله عني السلام و اعلم اني في الاثر»

 

“ใช่แล้ว (เจ้าได้ปฏิบัติตามสัญญาของตนอย่างสมบูรณ์แล้ว และ) เจ้าจะได้อยู่เบื้องหน้าฉันในสวนสวรรค์ ดังนั้นโปรดนำสลามของฉันไปยังท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ด้วยเถิด และจงแจ้งแก่ท่านด้วยว่าฉันเองก็กำลังจะตามไป” (17)

 

 8. ฮะบีบ บินมะซอฮิร : ฮะ บีบ บินมะซอฮิร คือสาวกคนหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และในสมัยที่ท่านอมีรลมุอ์มินีน (อ.) เป็นคอลีฟะฮ์ เขารบเคียงบ่าเคียงไหลท่านโดยตลอด ในเหตุการณ์กัรบะลาเขามีอายุอยู่ในวัยชรา แม้ว่าเขาจะอยู่ในวัยชราแล้วก็ตาม แต่เขาก็สามารถสังหารศัตรูจำนวนหนึ่งลงได้ แต่ในที่สุดด้วยความเหนื่อยล้าศัตรูจึงตัดศีรษะของเขา การถูกสังหารของเขาได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นอย่างมาก และท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวต่อความเหน็ดเหนื่อย ความอุตสาห์พยายามและการพลีอุทิศของฮะบีบ บินมะซอฮิร ว่า

 

عِنْدَاللّهِ اَحْسِبُ نَفْسي وَحُماةَ اَصْحابي لِلّهِ دَرَكٌ

یا حَبیبُ لَقَدْ كُنْتَ فاضِلاً تَخْتِمُ الْقُرْآنَ في لَیلَةٍ واحِدَةٍ

 

“ณ อัลลอฮ์ ฉันจะคิดบัญชีให้แก่ตัวฉัน และแก่บรรดาผู้ให้การพิทักษ์ปกป้องเหล่าสาวกของฉัน โอ้ฮะบีบเอ๋ย ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนรางวัลที่ดีงามแก่ท่านด้วยเถิด แน่นอนยิ่งท่านนั้นเป็นผู้ที่มีเกียรติคุณอันสูงส่ง ท่านมักจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจบภายในค่ำคืนเดียว” (18)

 

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) ซูเราะฮ์อิบรอฮีม/อายะฮ์ที่ 7

(2) ซูเราะฮ์ลุกมาน /อายะฮ์ที่ 14

(3) ซูเราะฮ์อันนะห์ลุ/อายะฮ์ที่ 114

(4) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้า 99, ฮะดีษที่ 30; มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 278

(5) อุยูน อัคบาริร ริฎอ (อ.), เชคซุดูก , เล่มที่ 2, หน้า 24, ฮะดีษที่ 2

(6) อัลคิซ้อล, เชคซุดูก, หน้า 568; มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 278

(7) นุซฮะตุนนาซิรีน วะตันบีฮุลคอติร, หน้า 80

(8) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 3, หน้า 315; อัลอะวาลิม, บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 243

(9) ฟัรฮังก์ สุคอนอเน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 195

(10) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 17 ; อะวาลิม บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 261 ; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 604 ; มักตัลุลฮุเซน, คอรัซมี, เล่มที่ 2, หน้า 22 ; มะนากิบ, อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 3, หน้า 219

(11) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 3, หน้า 329; มักตัลุลฮุเซน, คอรัซมี, เล่มที่ 2, หน้า 24 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 23

(12) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 30 ; อะวาลิม บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 272 ; ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 7, หน้า 355 ; อัลอะมาลี, เชคซุดูก, มัจญ์ลิซที่ 30 ; มักตัลุลฮุเซน, คอรัซมี, เล่มที่ 2, หน้า 22

(13) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 23; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, เล่มที่ 605; อัลลุฮูฟ, อิบนุฏอวูซ, หน้า 47

(14) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 22; อะวาลิม บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 265; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, เล่มที่ 605; ฟัรฮังก์ สุคอนอเน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 512

(15) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 20; อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, หน้า 237

(16) ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ/อายะฮ์ที่ 23

(17) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 22; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, เล่มที่ 605

(18) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 3, หน้า 349

 

โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลามและการพัฒนา

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
“มุบาฮะละฮ์” ในประวัติศาสตร์
จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ ...
มะอาด : ...
ฟาฏิมะฮ์ ...
มองเรื่อง “ข่าวลือ” ...
เคล็ดลับอายุยืน(1)
ชัยฏอน คือ ...
มุอ์ญิซะฮ์ (ปาฏิหาริย์) ...

 
user comment