ไทยแลนด์
Friday 19th of April 2024
0
نفر 0

ปรัชญาฮัจญ์ กับความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม

ปรัชญาฮัจญ์ กับความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม

ปรัชญาฮัจญ์ กับความเป็นเอกภาพโลกมุสลิม

 

ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สามารถรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดน แห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม

 

ฮัจญ์ คือ การจาริกของมนุษย์ทางจิตวิญญาณสู่พระผู้สร้าง เอกองค์อัลลอฮ์ซ.บ.อย่างเป็นเอกภาพ เป็นการสำแดงออกถึงสัญลักษณ์ของปรัชญาว่าด้วยการสร้างสรรค์ ว่าด้วยเรื่องการจำนนต่ออำนาจอันพิสุทธิ์และต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะเพียงผู้เดียว เป็นการแสดงออกถึงความรักของปวงบ่าวที่มีต่อพระผู้อภิบาลอย่างจริงใจและอย่างสำรวมตน

 

ฮัจญ์ คืออิบาดะฮ์ภาคการเมืองและสังคมและปฐมบทแห่งการสร้างรัฐและระบอบการปกครองแห่งธรรมาธิปไตย ที่เข้มแข็งที่สุดของระบอบการปกครองทั้งหลายบนโลกใบนี้ ที่แสดงถึงพลังของมุสลิมในฐานะผู้สร้างศานติ และเป็นการสำแดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาตนเองสู่ความสำรวมตนและการนอบน้อม และผลของการเข้าถึงปรัชญาแห่งฮัจญ์ คือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา และนำมาซึ่งการเข้าใจสังคมและประชาชน

 

ฮัจญ์ คือ มิติแหงการเรียนรู้ และเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ เป็นการเข้าถึงการสรรสร้างแห่งพระเจ้า เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แห่งการเสียสละและการพลีของศาสดาอิบรอฮีม และเป็นการเข้าถึงอุดมการณ์อิสลาม อีกทั้งรู้เท่าทันศัตรูและแผนการร้ายของศัตรูได้อย่างมีวิจารณญาณ

ฮัจญ์ คือ การสำแดงออกถึงความงดงามของพระเจ้า นั่นคือการได้รับการขัดเกลาจิตใจและเข้าถึงพระเจ้าอย่างแท้จริง และเป็นการแสดงถึงคุณลักษณะด้านความยิ่งใหญ่ของพระองค์ นั่นคือ การแสดงออกถึงการยอมจำนนต่อหลักเอกภาพของพระผูเป็นเจ้าและปฏิเสธการตั้งภาคีทั้งปวง

 

ฮัจญ์ คือการยืนหยัดและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์ และแสดงออกถึงการปฏิเสธเจว็ดทั้งหลาย แม้แต่อัตตาตัวตน ก็ต้องสลายและทำลายออกไปโดยไม่หลงเหลืออัตตาใดๆ เว้นเสียแต่พระองค์ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาเท่านั้น และให้ถือว่ามนุษย์ทุกคนอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน

 

อิมามอะลี บินอะบีฎอลิบ กล่าวว่า


“พระผู้ทรงบริสุทธิ์ พระผู้เป็นเจ้า ทรงกำหนดให้สถานที่นั่น(กะบะฮ์)เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เพื่อการคารวะและการจำนนต่อความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระองค์ และเพื่อการจำนนต่อเกียรติยศอันสูงส่งของพระองค์


มหาบริสุทธิ์ยิ่งแห่งพระองค์สัมบูรณ์เจ้า ทรงกำหนดให้(กะบะฮ์)เป็นธงชัยแห่งความศานติ และเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้มาเยือน ทรงกำหนดให้ผู้มาเยือนเป็นแขกของพระองค์”(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฎบะฮ์ที่๑)

 

ฮัจญ์คือวันแห่งอัลลอฮ์(อัยยามุลลอฮ์) เป็นช่วงระยะเวลาที่ถูกกำหนดเป็นเฉพาะสำหรับการพัฒนาตนสู่การจำนนที่สมบูรณ์แบบต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นช่วงเวลาของการออกจากความมืดมนสู่ความสว่างทางจิต


ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่า


“ไม่มีช่วงเวลาใดที่ยิ่งใหญ่ ในการสร้างภาวะสำรวมตนและการขัดเกลาจิต มากไปกว่าในช่วงวันแห่งอัลลอฮ์(พิธีฮัจญ์)”


ฮัจญ์ได้เกิดขึ้นในเดือนที่สิบสอง เดือนซุลฮิจญะฮ์ ณ ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ทุกสถานที่ที่ถูกนำมาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความศานติและความปลอภัย และเป็นบรรยากาศแห่งการภาวนา อิบาดะฮ์


ฮัจญ์เริ่มต้นด้วยการเข้าสู่”มีกอต” ซึ่งเป็นจุดที่มนุษย์ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย และเปลี่ยนกิริยาบทที่เคยปฏิบัติกันอยู่ นั่นคือ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการบ่งบอกและจำแนกให้มีความแตกต่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และจากเสื้อผ้าที่มีสีที่แตกต่าง นำไปสู่ความมีอัตตา และอัตตาที่ใหญ่สุดคือความเป็นตัวตน เช่น เชื้อชาติฉัน ชาติพันธุ์ฉัน ตระกูลฉัน ตำแหน่งฉัน และอื่นๆ แต่เมื่อสวมชุดเอี๊ยะรอม(ชุดขาว) ไม่มีคำว่า”ความเป็นฉัน”ไม่เหลืออยู่อีก ทุกๆคนมีเสื้อสีเดียวกัน จำนวนชิ้นเท่ากัน


การเข้าสู่ มีกอต ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ท่านต้องประกาศความตั้งใจของท่านเสียก่อน มันเป็นความตั้งใจที่จะ ย้ายออก จากบ้านของท่านไปยังบ้านของประชาชน จากชีวิตไปสู่ความรัก จากตัวตนไปสู่ อัลลอฮ์(ซ.บ) จากความเป็นทาสไปสู่เสรีภาพ จากการจำแนกทางเชื้อชาติไปสู่ความเท่าเทียมกัน ความจริงใจและสัจธรรม จากสภาพของการนุ่งห่มประดับประดาด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ไปสู่สภาพของความเปลือยเปล่า จากชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตนิรันดร์ และจากความเห็นแก่ตัวตลอดทั้งความไร้จุดหมายไปสู่การอุทิศตนและความรับผิดชอบ มันเป็นการเปลี่ยนสภาพ เข้าไปสู่สภาพของอิห์รอม


เพราะฉะนั้น ความตั้งใจของท่านจะต้องเป็นความตั้งใจที่เข้มแข็งด้วยจิตสำนึกที่เข้มข้น อย่างแท้จริง ท่านต้องมีศรัทธาในหัวใจของท่าน จุดประทีปด้วยเปลวแห่งความรักให้สว่างไสวในหัวใจของท่าน ส่องแสง และ ลุกโชน ลืมให้หมดเกี่ยวกับตัวตนของท่านเอง

 

ในอดีตชีวิตของท่านถูกกำหนดลักษณะโดย การละทิ้ง เหินห่าง และโง่เขลา ท่านเป็นผู้อ่อนแอ ปราศจากการช่วยเหลือในทุกๆด้านแห่งการดำรงชีพ แม้แต่ในอาณาจักรการทำงานของท่านเอง ท่านก็กลายเป็นทาส ทำงานถ้าไม่เป็นแบบติดนิสัยก็โดยการบังคับ


บัดนี้ จงลอกคราบชีวิตแบบนั้นทิ้งไปเสีย จงกลายเป็นผู้มี จิตสำนึก อย่างแท้จริงใน อัลลอฮฺ(ซ.บ) พระผู้ทรงอำนาจยิ่ง สำนึกในประชาชนและในตัวท่านเอง ทิศทางใหม่ และตัวตนใหม่


(http://www.lovehusain.com/articles/42115932/ปรัชญาฮัจญ์ตอนพิธีอุมเราะฮ์.)


มิติต่างๆของฮัจญ์มีมากมาย และจากกรอบแนวคิดจากอัลกุรอานและวจนะของศาสดาและวิถีแห่งครอบครัวศาสดารวมไปถึงสาวกของศาสดานั้น ชี้ให้เห็นว่าฮัจญ์คือรากฐานสำคัญของศาสนา และมิติหนึ่งของฮัจญ์ คือการสำแดงออกถึงความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ของประชาคมมุสลิม ไม่ว่าจะสังกัดลัทธิหรือนิกายใดก็ตาม และผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะได้พบเจอบรรดาฮุจญาต(ผู้แสวงบุญ)หลากหลาย และแตกต่างทั้งสีผิว ภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีหลักปฎิบัติข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกัน


สัญลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและเป็นเอกภาพจะฉายไปทั่วโลก เป็นการแสดงออกถึงพลังของประชาคมโลกมุสลิมและชี้ให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างนั้นไม่ได้ขัดกับคำสอนของศาสนา และอิสลามสอนมิให้รังเกียจต่อกันและกัน แต่สอนให้รังเกียจความแตกแยก ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า


“และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกแห่งอัลลอฮ์ โดยพร้อมเพียงกัน และจงอย่างแตกแยกกัน”(อาลิอิมรอน โองการที่๑๐๓)


และวจนะของศาสดามุฮัมมัด


“(ความสัมพันธ์)ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธาอื่น ประดุจดังอาคารที่บางส่วนของมัน จะยึดอยู่กับอีกบางส่วน”


ท่านอิบนุ มัสอูด(ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่โลกอะลิซซุนนะฮ์)กล่าวว่า “ความบาดหมางต่อกันและกัน คือความชั่วร้าย”


ความเป็นเอกภาพระหว่างมุสลิมด้วยกัน คือ รากฐานของศาสนา นั่นก็คือ การให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน ถึงแม้จะมีความต่างระหว่างนิกายก็ตาม ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยการให้เกียรติต่อกันและกัน เพราะแท้จริงแล้วในความต่างมีความเหมือน และสิ่งที่เหมือนกันคือ มีพระเจ้าองค์เดียว คัมภีร์เล่มเดียว ศาสดาท่านเดียว


อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า


“และจงประกาศแก่มนุษย์ เพื่อการทำฮัจญ์เถิด พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้าและโดยอูฐ จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง”


“เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นสักขีพยาน ต่อผลประโยชน์มหาศาลสำหรับพวกเขา และกล่าวพระนามแห่งอัลลอฮ์ในวันนั้น(อัยยามุลลอฮ์)ที่รู้จักกันอยู่แล้ว ตามที่องค์อัลลอฮ์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้นพวกเจ้าจงรับประทานเนื้อของมันและจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสนเถิด”(บทที่๒๒ โองการที่๑๗-๑๘)


หนึ่ง โองการนี้ ชี้ให้เห็นว่า ให้ประกาศแก่มนุษย์ มาเพื่อการฮัจญ์ และประเด็นฮัจญ์เป็นเรื่องของมนษย์ นั่นคือเป็นประเด็นทางการเมืองและสังคม และเป้าหมายเพื่อให้รวมตัวกัน แสดงความเป็นเอกภาพ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เริ่มต้นพิธีก็วันเดียวกัน สถานที่เดียวกัน จบลงก็สถานที่เดียวกัน


สอง ฮัจญ์คือ การแสดงออกถึงการไม่หลับใหล แต่เป็นการตื่นรู้ และรู้เท่าทันเหตุการณ์และแผนการร้ายของศัตรู


อิมามอะลีกล่าวว่า


“ฮัจญ์ คือ กระบวนการการต่อสู้ต่อความอ่อนแอ(ทางจิตวิญญาณ)”


ฮัจญ์ คือ เครื่องหมายและสัญลักษณ์แห่งความศานติ”


“องค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้ฮัจญ์ เพื่อความเป็นปึกแผ่นและสร้างความใกล้ชิดต่อกัน”


และประโยคโองการที่ว่า” เพื่อพวกเขาได้มาร่วมเป็นสักขีพยาน ต่อผลประโยชน์อันมหาศาลสำหรับพวกเขา”


ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะได้ประโยชน์(มหาศาล ซึ่งเป็นคำพหุพจน์ มะนาเฟียะอ์) คือ

 
ก.จากภาคพิธีกรรม(ศาสนพิธี ด้านอิบาดะฮ์)


ข.จากภาคสังคมและการเมือง ให้เข้าใจและรู้เท่าทันต่อแผนการร้ายของศัตรู และพร้อมที่จะต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่แท้จริงที่มีมาร(ชัยฎอน)ได้บงการ โดยการเรียนรู้จากการขว้างเสาหินทั้งสาม(ขว้างชัยฎอน)


ค.พลังของการมีเอกภาพ โดยการเลิกการใส่ร้ายป้ายสีต่อกัน หรือทำลายประณามกันและกัน และหันมาเห็นอกเห็นใจต่อกัน แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง


ง.ลุกขึ้นเรียกร้องและต่อสู้เพื่อเสรีภาพและอิสรภาพ เรียกร้องสู่ความยุติธรรม โดยแสวงหารัฐอิสลามที่แท้จริง ซึ่งเป็นรัฐแห่งธรรมะ มีความเป็นธรรมาธิปไตย

 

อิมามอะลีกล่าวว่า


“พึงสังวรเถิด พวกเจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงกำหนดให้สถานกะบะฮ์ คือ สัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมวลมนุษยชาติ”

 
บรรณานุกรม

 

คณาจารย์คณะอุศูลุดดีน สถาบัน ดัรรอเฮฮัก เมืองกุม แปล เชคซัยนุลอาบีดีน ฟินดี้ รากฐานศาสนาอิสลาม กรุงเทพฯ .ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ ปีที่พิมพ์ พศ.๒๕๔


เชคชะรีฟ ฮาดีย์ คำสอนจากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลมฺ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


พีชวออี แปลโดย ไซม่า ซาร์ยิด ภาพลักษณ์ทางการเมืองของอิมาม ๑๒ พิมพ์ สถาบันศึกษาอัลกุรอานรอซูลอัลอะอ์ซอม.ปีที่พิมพ์ ๒๕๕๑


อัลลามะฮ ฎอบะฎอบาอีย์ แปลโดย เชคชะรีฟ เกตุสมบูรณ์ 2548 ชีอะฮ์ในอิสลาม กรุงเทพฯ :สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม


อ้างอิงจากเว็ปไซต์ www.al shiah .com ภาคภาษาไทย


Ayatullah Javadi Amoli. Imam Khomaini Qom Iran : Isra Publication Center 1384


Ayatullah Misbah Yazdi. Jami ah wa Tareek. Qom Iran : Sazman Tabliqat 1372


Ayatullah Javadi Amoli. Falsafah Hukok Bashar. Qom Iran : Isra Puplication Center 1382

 
บทความโดย  ดร.ประเสริฐ สุขศาส์กวิน

ศูนย์อิสลามศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
วจนะศาสดาจากท่านหญิง
ศาสนา กับ สติปัญญา
เคล็ดลับอายุยืน(2)
ในประโยคคำปฏิญาณ (อัชฮะดุ อันลา ...
...
...
ถ้าบุคคลหนึ่งใช้ความรุนแรง ...
...
เสาหลักของความศรัทธาคืออะไร?

 
user comment