ไทยแลนด์
Friday 29th of March 2024
0
نفر 0

เกร็ดสำคัญของดุอาอ์เญาชันกะบีร

เกร็ดสำคัญของดุอาอ์เญาชันกะบีร

เกร็ดสำคัญของดุอาอ์เญาชันกะบีร

 

 

เญาชันกะบีร เป็น ดุอาอ์ที่กระตุ้นเจตนารมณ์เสรี

 

เญาชันกะบีร เป็น ดุอาอ์ที่เพิ่มความรู้จักในหลักเตาฮีด


เญาชันกะบีร เป็น ดุอาอ์ที่สอนให้รู้จักหลบหลีกจากชิริก(การตั้งภาคี)


เญาชันกะบีร เป็นดุอาอ์ที่กระตุ้น มุอ์มิน ผู้ศรัทธาให้เพิ่มการเตาบะฮ์ อิสติฆฟาร อัลอัฟว์ๆ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้

 

เญาชันกะบีร เป็นดุอาอ์ที่นับตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายได้สอนหลักการรู้จักเตาฮีด เอกานุภาพของพระองค์ ริวายะฮ์ได้บอกกับเราว่าให้เริ่มอ่านดุอาอ์เญาชันกะบีรตั้งแต่ค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอน ษะมะเราะฮ์ อิทธิพลของมันจะส่งผลไปจนถึง “ลัยละตุลก็อดร์” และถ้าไม่สามารถอ่านได้ทุกค่ำคืน อย่างน้อยที่สุดๆ ก็อย่าให้พลาดใน ๓ คืน ลัยละตุลก็อดร์ คืนไหนบ้าง ? คืนที่๑๙ ,๒๑, ๒๓

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ปรารถนาจะลบล้างมลทิน ลบล้างคราบไคล้ที่ติดค้างอยู่ในหัวใจ เน้นย้ำให้อ่านดุอาอ์อันทรงคุ้นค่านี้ชนิดที่ห้ามลืมห้ามพลาดโดยเด็ดขาด

 

ในดุอาอ์บทนี้มี “อัสมาอุลฮุสนา” พระนามอันไพจิตรของพระองค์ปรากฏอย่างมากมายตั้งแต่ต้นจนจบ และพระนามอันไพจิตรทั้งหลาย คือ เครื่องหมายที่จะให้หัวใจของเราได้ใกล้ชิดกับหลักเตาฮีด ความเป็น “อุลูฮียะฮ์” ความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดุอาอ์บทนี้สอนให้บ่าวของพระองค์ห่างไกลจากชิริก(การตั้งภาคี) และมอบหมายเฉพาะแด่พระองค์ผู้ทรงเอกะเท่านั้น สอนให้เราได้ตระหนักว่านอกจากพระองค์แล้ว จงอย่าได้หวังพึ่งพิงสิ่งใดเป็นอันขาด เพราะมิฉะนั้น มันคือ “ชิริก” ซึ่งจะนำมนุษย์ไปสู่นรก ญะฮันนัม ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ดุอาอ์บทนี้จะลงท้ายด้วยกับประโยคสั้นๆ ที่เป็นคำวอนขอว่า

 

الغوث الغوث الغوث

 

ขอให้พระองค์ทรงดึงมือของเราให้พ้นจากไฟนรก อย่าให้เราต้องตกเป็น “อะซีร” เชลยและทาสของมัน

 
ประเภทของชิริก

 

ชิริก แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดใหญ่ ๆ คือ


ชิริกมัฆฟูร กับ ชิริกฆ็อยรุมัฆฟูร

 

ชิริกมัฆฟูร หมายถึง ชิริกที่มีสิทธิ์จะได้รับอภัยโทษจากพระองค์

 

ชิริกฆ็อยรุมัฆฟูร หมายถึง ชิริกที่หมดสิทธิ์ที่จะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ เพราะเป็นชิริกที่มนุษย์นำเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเทียบเคียงมาตั้งภาคีกับพระองค์อย่างโจ่งแจ้ง

 

إِنَّ اللَّهَ لا يَغْفِرُ أَنْ يُشْرَكَ بِهِ

 

แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยให้กับการที่ใครคนหนึ่งได้ตั้งสิ่งอื่นเป็นภาคีเคียงคู่กับพระองค์

 

وَ يَغْفِرُ ما دُونَ ذلِكَ لِمَنْ يَشاء

(نساء/48)

 

แต่พระองค์จะทรงอภัยให้กับความผิดบาปอื่นที่นอกเหนือจากการตั้งภาคี ให้กับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (บทอันนิซาอ์ โองการที่ ๔๘)

 

ชิริกที่มีสิทธิ์จะได้รับการอภัยจากพระองค์ เป็นชิริกเคาะฟีฟ ชิริกดะกีก ชิริกเบาๆ ชิริกเล็ก ๆ ที่ค่อนข้างจะยากลำบากที่จะจำแนกแยกแยะ


قال الصادق (ع)
إِنَ‌ الشِّرْكَ‌ أَخْفَى‌ مِنْ‌ دَبِيبِ النَّمْلِ
 

ท่านอิมามญะอฺฟัรฺ ศอดิก (อ) ได้กล่าวว่า


“แท้จริงชิริก การตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ เป็นสิ่งที่เล็กและเบายิ่งกว่าการเดินของมดเสียอีก (เบาชนิดที่ไม่ได้ยินเสียง)


หลังจากนั้น ท่านอิมามได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เราได้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า


وَ قَالَ مِنْهُ تَحْوِيلُ الْخَاتَمِ
 

เช่น การย้ายแหวนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง


لِيَذْكُرَ الْحَاجَةَ وَ شِبْهُ هَذَا
( معاني الأخبار، النص، ص: 379)
 

เพื่อที่จะให้เราสามารถนึกขึ้นได้ว่าสิ่งของที่หายไปนั้นมันอยู่ที่ไหนกันแน่ หรือความเชื่อผิด ๆ ทำนองนี้


เหล่านี้ถือว่าเป็น “ชิริกที่เบาเอามากๆ”


อย่างไรก็ตาม อาลัมหรือโลกนี้มี “อัซบาบ” หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “เป็นเหตุ เป็นผล” ผลอันเกิดจากเหตุ


กล่าวคือ ไม่ได้หมายความว่า การจะเป็นคน “มุวะฮีด” คนที่ยึดมั่นในหลักเตาฮีด จะต้องตัดอัซบาบทุกสิ่งให้หมดสิ้น เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้อัซบาบมาเป็นพระเจ้าแทนพระองค์ จะต้องไม่ยึดติดสิ่งต่าง ๆ “นอกจากอัลลอฮ์” เท่านั้น จะต้องไม่ให้ราคา หรือเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งต่างๆ สามารถให้คุณให้โทษให้ประโยชน์กับเราได้ จะต้องไม่เข้าใจผิดคิดว่าอัซบาบเหล่านั้น “มุซตะกิล” มีอิสรเสรี มีอิทธิพลชี้ถูกชี้ผิด ชี้เป็นชี้ตายให้กับมนุษย์ ถ้าเป็นอย่างนั้น มันเข้าข่าย “ชิริก” หนัก ไม่ใช่ชิริกเบา ตัวอย่างอะไรบ้าง ?


เช่น ถ้ามนุษย์มั่นใจว่าชีวิตบนโลกนี้มีความมั่นคงปลอดภัย เขาจะอยู่ไปได้อีกนาน สิ่งนี้แหละที่เราเรียกว่าชิริก เหมือนกับกรณี “กอรูน” ที่เข้าใจผิดคิดว่าโลกนี้แข็งแรงทนทาน แต่ชั่ววินาทีชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น ที่ผืนแผ่นดินที่เคยแข็งแรงทนทานได้สูบ “กอรูน” ลงไปในชั่วพริบตา เพราะอะไร ? เพราะกอรูนเข้าใจผิดคิดว่าแผ่นดินและทรัพย์สินทั้งหมดของมันคือพระเจ้าที่จะเสกสรรบันดาลอะไรให้ได้มาก็ได้ มันจึงไม่รู้สึกสะทกสะท้าน ไม่รู้สึกหวาดเกรงพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ความหวังทั้งหมดของมันไม่ได้ฝากไว้ที่พระองค์ เราล่ะเป็นอย่างนั้นหรือป่าว ?


ยศถาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สินที่ขวนขวายหามาได้ ฯลฯ ทำให้เราสบายใจถึงขนาดที่ว่าถ้าเจ็บป่วยไม่สบาย ก็สามารถซื้อความตายจากหมอ จากโรงพยาบาลระดับ ๕ ดาวได้ อย่างนั้นหรือป่าว ?


และเมื่อวันใดที่ขัดสนจนยาก ทำให้เราวิตกกังวลใจจะเป็นจะตาย โดยไม่คิดว่า “รอซิก” ผู้ประทานริซกีย์ที่แท้จริงยังอยู่ ยังไม่ตาย (พระองค์เป็นผู้ทรงชีวิน “ฮัย”) อย่างนั้นหรือป่าว ?


ตอนที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ) นำท่านหญิงฮาญัร ภรรยา กับอิสมาอีล (อ) บุตรชาย ไปทิ้งไว้ที่ท้องทะเลทรายมักกะฮ์ แล้วท่านก็จากไป โดยที่ไม่มีสิ่งใดให้มั่นใจว่าทั้งภรรยาและลูกน้อยจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ เพราะ ณ สถานที่ตรงนั้น มันไม่มีอะไรเลย นอกจากฟ้ากับเม็ดทราย เป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งทุรกันดารเกินร้อย แต่รู้ไหมครับว่าท่านนบีอิบรอฮีม (อ) ทูลกับพระองค์ว่าอย่างไร ?


ฟังให้ดีนะครับพี่น้อง เพราะนี่คือ บทเรียนเตาฮีดระดับปริญญาเอก บทเรียนเตาฮีดที่ท่านนบีอิบรอฮีม (อ) มอบหมายให้เป็นมรดกตกทอดผ่านอัมบิยาอ์ จนมาถึงพวกเรา ณ วันนี้


رَبَّنا إِنِّي أَسْكَنْتُ مِنْ ذُرِّيَّتي‌ بِوادٍ
 

“โอ้ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา แท้จริง ข้าได้นำบุตรและภรรยาของข้าให้มาพำนัก ณ ที่ราบลุ่มแห่งนี้


غَيْرِ ذي زَرْعٍ عِنْدَ بَيْتِكَ الْمُحَرَّمِ
 

(ท้องทะเลทรายที่ไม่มีทั้งน้ำ) ไม่มีทั้งผลหมากรากไม้ใด ๆ ซึ่งอยู่ใกล้กับ “บัยตุลมุฮัรร็อม” (บัยตุลลอฮ์อัลฮะรอม บ้านที่เป็นเขตหวงห้ามของพระองค์)


رَبَّنَا لِيُقِيمُوا الصَّلَاةَ
 

โอ้ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้ที่ดำรงการละหมาด (อย่างแท้จริงให้กับผู้คนในยุคต่อไป)


فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنَ النَّاسِ تَهْوي إِلَيْهِمْ
 

ดังนั้น ขอพระองค์ทรงโปรดให้หัวใจของมนุษย์ส่วนหนึ่งได้มุ่งตรงไปยังพวกเขา


وَارْزُقْهُم مِّنَ الثَّمَرَاتِ
 

และโปรดประทานริซกีย์ปัจจัยที่เป็นพืชผลแก่พวกเขา


لَعَلَّهُمْ يَشْكُرُون»(ابراهیم/37)
 

เพื่อพวกเขาจะได้ขอบคุณ (เพื่อพวกเขาจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์) (บทอิบรอฮีม โองการที่  ๓๗)


น่าแปลกตรงที่นบีอิบรอฮีม (อ) ทำในสิ่งที่ปล่อยให้คนที่เป็นสุดที่รักของท่าน ต้องกลายเป็นเครื่องทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์ คือ ผู้ที่เราท่านทุกคนจะต้องมอบหมาย
สอนให้เราทั้งหลายได้ตระหนักว่า “พระองค์ทรงทำได้”


ให้ตระหนักว่า “พระองค์ คือ ผู้ทรงเดชานุภาพ”


พระองค์คือ “รอซิก” คือ เจ้าของบริษัทตัวจริงที่จะมอบเงินเดือนเงินดาวน์ให้กับใครก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์


พี่น้องคงเคยเห็นคงเคยได้ยินว่าตั้งมากมายที่ผู้คนบนโลกนี้ต้องตายไปบนกองเงินกองทอง ต้องตายไปพร้อม ๆ กับ “นิอ์มัต” ความโปรดปราน หรือจะเรียกว่า “สำลักในนิอฺมัต” ก็ได้
แต่ในทางกลับกัน เราก็ได้ยินได้เห็นแล้วว่า “อิสมาอีลกับฮาญัรผู้เป็นมารดา” ก็สามารถได้รับนิอ์มัต ได้รับริซกีย์ ในท่ามกลางท้องทะเลทรายที่แห้งแล้งทุรกันดารได้เช่นกัน
ริวายะฮ์บอกกับเราว่า “ฮาญัร” ได้วิ่งระหว่างภูเขาเล็กๆ สองลูกที่มีชื่อว่า “เศาะฟา” กับ “มัรวะฮฺ” (อินชาอัลลอฮฺ ขอให้เราได้ไป ขอให้เราได้ไป)

 

اَللّـهُمَّ ارْزُقْني حَجَّ بَيْتِكَ الْحَرامِ
فِي عامي هذا وَفي كُلِّ عام

 

วิ่งทำไม ?


วิ่งเพื่อหาน้ำมาให้ลูกน้อยได้ดื่มก่อนที่จะตายไปต่อหน้าต่อตา


ในขณะที่วิ่งอยู่นั้น “ญิบรออีล อัลอะมีน (อ)” ได้เข้ามาถามว่า “เธอเป็นใคร ?”


เธอตอบว่า “ฉันคือฮาญัร”


แล้วเธอได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ญิบรออีล (อ) ฟัง


ท่านญิบรออีล (อ) จึงถามว่า “ก่อนที่อิบรอฮีม (อ) จะจากไป เขาได้ฝากฝังเธอกับลูกน้อยไว้กับใคร ?”


ท่านหญิงฮาญัรจึงตอบว่า “ฝากฝังไว้กับอัลลอฮ์ ญัลละญะลาลุฮ์ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร


ญิบรออีลไม่พูดอะไรนอกจากประโยคนี้ว่า “ช่างเป็นการฝากฝังที่ดีเลิศประเสริฐอะไรเช่นนั้น”


เมื่อมาถึงลูกน้อยที่เธอทิ้งไว้ตามลำพัง ฮาญัรได้เห็นตาน้ำที่พวยพุ่งออกมาจากพื้นทรายใต้ส้นเท้าอิสมาอีล (อ)


ฮาญัรได้บรรจงเก็บก้อนหินก้อนกรวดเพื่อปิดกั้นตาน้ำนั้น


ริวายะฮ์(คำรายงาน)จากบรรดามะอ์ศูมีน (อ) กล่าวว่า


“ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาฮาญัร เพราะในวันนั้น ถ้าเธอไม่ได้ปิดกั้นตาน้ำนั้น น้ำจากตาน้ำนั้นจะไหลบ่าท่วมโลกอย่างแน่นอน


และจากตาน้ำที่เรารู้จักในนาม “น้ำซัมซัม” เป็นที่มาของบรรดาวิหค นกทั้งหลาย และเมื่อกองคาราวานสินค้าได้เห็นฝูงนกบินฉวัดเฉวียนในแถบบริเวณนั้น พวกเขาจึงมั่นใจว่าจะต้องมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้นอย่างแน่นอน หลังจากนั้น คาราวานกองแล้วกองเล่าได้วนเวียนไปใช้บริการ “การซะฮ์มัต” ของสองแม่ลูกคู่นี้มาตราบถึงทุกวันนี้
พี่น้องครับ นี่คือ “อัซบาบ” เหตุและผล หรือผลเป็นที่มาของเหตุ ที่อัลลอฮ์ ญัลละญะลาลุฮ์ ได้สำแดงให้ประจักษ์ว่า พระองค์จะทรงประทานริซกีย์โดยผ่าน “อัซบาบ” จากสองแม่ลูกคู่นี้ ในขณะที่ “รอซิก” ผู้ประทานริซกีย์ที่แท้จริง คือพระองค์ ไม่ใช่ ฮาญัรกับอิสมาอีล ไม่ใช่ “สองแม่ลูก” ทั้งสองเป็นเพียง “อัซบาบ” ที่มาของน้ำซัมซัมเท่านั้น

 
รากเหง้าของความผิดบาป

 

กล่าวกันว่าความผิดบาปทั้งหลาย มาจากรากเหง้าของการทำ “ชิริก” และเป็นความผิดบาปที่ร้ายแรงที่สุด มนุษย์มีสิทธิ์เป็น “มุชริก” ได้ไม่ยาก ถ้าหากหัวใจของเขาคิดแต่เรื่องโกหกพกลมอยู่ร่ำไป


พ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ มีสิทธิ์เป็นมุชริกได้ไม่ยาก ถ้าหากพวกเขาเข้าใจผิดคิดว่า “รอซิก” ผู้ประทานริซกีย์ปัจจัยยังชีพ คือ “รถเข็น คือ “แผงลอย” คือ “ห้างหรูหรา” ไม่ใช่ “อัลลอฮ์”


พี่น้องครับ อีกอย่าง การเข้าใจผิดคิดว่าทำในสิ่งที่มักรูฮ์ ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย “มักรูฮ์” ก็มีสิทธิ์แปรเปลี่ยนไปเป็นชิริกเบา ๆ ได้เหมือนกัน การกินสิ่งที่เป็นมักรูฮ์เข้าไปมาก ๆ บ่อย ๆ พี่น้องต้องไม่ลืมว่า “มักรูฮ์” ถ้าแปลตามตัว คือ สิ่งที่น่ารังเกียจ น่ารังเกียจสำหรับใคร ?


สำหรับเราและสำหรับพระองค์ด้วย


ถามว่า ถ้าไม่กินสิ่งที่เป็นมักรูฮ์นั้นเข้าไป เราไม่มีสิ่งดี ๆ ที่ฮะลาลและฏ็อยยิบมาแทนที่เลยหรือ?


อะซาบและความทุกข์ทรมานทั้งหลาย เกิดจากการทำชิริกนี่แหละ ดังนั้น “เตาฮีด” คือ หุบเขาแห่งความปลอดภัย ดังฮะะดีษกุดซีย์ที่พระองค์ทรงตรัสผ่านญิบรออีล ผ่านท่านนบี (ศ) ผ่านอะฮ์ลุลบัยต์นบี (ศ) โดยท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ) ได้นำมาบอกกล่าวกับเราที่ว่า


كلمة لَا إِلَهَ‌ إِلَّا اللَّهُ حِصْنِي‌ فَمَنْ دَخَلَ حِصْنِي‌ أَمِنَ مِنْ عَذَابِي
 

“ประโยค “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์” คือ ป้อมปราการของข้า (อัลลอฮ์) ดังนั้น ใครที่เข้าไปในป้อมปราการนี้ เขาจะปลอดภัยจากอะซาบ(การลงโทษ)ของข้า”

 

( عيون أخبار الرضا عليه السلام، ج‌2، ص: 134)

 

ความกลัวจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ความกลัวจากแผ่นดินไหว ฯลฯ ก็เป็นชิริกได้เหมือนกัน กลัวในที่นี้ หมายถึงกลัวแบบไม่มีการมอบหมายใดๆ ต่อพระองค์ ฯลฯ


ในขณะที่ ท่านอายะตุลลอฮ์กอฎีย์ (อะอ์ลัลลอฮุมะกอมะฮ์) กำลังสอนสานุศิษย์ในเฮาซะฮ์ สถาบันสอนศาสนา ปรากฏว่าเกิดแผ่นดินไหว ลูกศิษย์แต่ละคนแตกตื่นไปคนละทิศคนละทาง หลังจากทุกอย่างสงบ ทุกคนเดินเข้ามาในห้องเรียน และเห็นอายะตุลลอฮ์ ยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ท่านเอ่ยถามพวกเขาว่า


กลับมาแล้วหรือครับ ศิษย์สำนักคิดเตาฮีด ?


พี่น้องที่รักครับ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่เราสามารถหลุดรอดจากชิริกมาได้ ก็ด้วยบะรอกัตจากคำสอนของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) นี่แหละ


ถ้าคิดว่าริซกีย์มาจากเจ้านาย ริซกีย์มาจากอเมริกา ความคิดแบบนั้นมัน “ชิริก” ชัด ๆ เราอ่านใน “มุนาญาตชะอฺบานียะฮฺ” กันไม่ใช่หรือว่า


وَ بِيَدِكَ لَا بِيَدِ غَيْرِكَ زِيَادَتِي‌ وَ نقْصِي‌ وَ نفْعِي وَ ضُرِّي
 

( مناجات شعبانیة : إقبال الأعمال (ط - القديمة)، ج‌2، ص: 686)

 

ด้วยกับพระหัตถ์ของพระองค์ ด้วยกับมหิทธานุภาพของพระองค์ ไม่ใช่ด้วยกับมือของเจ้านาย ไม่ใช่จากมือของอเมริกา ที่ทำให้ข้าได้รับริซกีย์เพิ่มพูน หรือทำให้ริซกีย์ของข้าพร่องลง หรือทำให้ข้าได้ประโยชน์โภชผล หรือทำให้ข้าต้องกลายเป็นผู้ขาดทุน

 


ขอขอบคุณ Risalah Qomi

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

อาชญากรรมยะซีด ...
อรรถาธิบายดุอาอฺ ประจำวันที่ 1 ...
...
เหตุผลของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ...
บทธรรมเทศนาของอิมามริฎอ
ทำไมต้องซัจดะฮฺบนดิน
...
ดุอาประจำวันที่ 17 ...
...
เป้าหมายของการถือศีลอด ...

 
user comment