ไทยแลนด์
Tuesday 16th of April 2024
0
نفر 0

บทเรียนสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ จากอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.)

 ฮะดีษ อัษษะกอลัยน์ ซึ่งท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวย้ำไว้หลายครั้ง และถูกรายงานไว้ในรูปสำนวนต่างๆ (1) จนมาถึงเรานั้น นอกจากจะแนะนำอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัว) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในฐานะคู่เหมือน (อิดล์) ของคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว ยังมีสาส์นหนึ่งควบคู่อยู่ในฮะดีษ (วจนะ) ดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งบอกแก่เราว่า หนทางของความรอดพ้นของมนุษย์มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือการยึดมั่นและการปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานและอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และเรื่องสำคัญดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้น นอกจากเราจะต้องรับรู้และเชื่อมสัมพันธ์ตนเองเข้ากับคำพูดและการกระทำต่างๆ ของท่านเหล่านั้น

     การรับรู้และการเชื่อมสัมพันธ์ดังกล่าวในยุคของเราจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการย้อนกลับไปดูตัวบทและแหล่งที่มาต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ (มุอ์ตะบัร) เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ปัจจุบันใครก็ตามที่ต้องการจะย่างก้าวไปในเส้นทางของทางนำ เพื่อบรรลุสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ที่แท้จริงในชีวิตนั้น นอกจากการใคร่ครวญและการทำความเข้าใจต่อคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว จำเป็นที่เขาจะต้องศึกษาเรียนรู้และใคร่ครวญในหลักคำสอนที่มีอยู่ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) และฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ที่ตกทอดมาถึงเรา ขั้นตอนถัดไปคือ การปฏิบัติตามคำสอนต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานและในคำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านั้น

      ในบทความนี้ เราจะนำเสนอฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ของท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) เป็นหลัก เราจะพยายามถ่ายทอดความหมายและคำอธิบายเนื้อหาโดยสังเขปของฮะดีษเหล่านี้ เพื่อมอบบางส่วนจากคำสอนของท่านอิมาม (อ.) เป็นของขวัญแก่ท่านผู้อ่าน เนื่องในวันครบรอบปีแห่งการถือกำเนิด (วิลาดัต) อันจำเริญของท่าน

      คำสอนจากจดหมายของท่านอิมาม (อ.) ที่ส่งถึงอิสหาก บันอิสมาอีล นีชาบูรีย์ (2) “บรรดาผู้ที่จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นในสภาพคนตาบอด ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก)”

      ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ได้เขียนถึงเขาว่า

 فَاعْلَمْ یَقِیناً یَا إِسْحَاقُ أَنَّهُ مَنْ خَرَجَ مِنْ هَذِهِ الدُّنْیَا أَعْمَى فَهُوَ فِی الْآخِرَةِ أَعْمى وَ أَضَلُّ سَبِیلًا

“โอ้อิสหาก! จงมั่นใจเถิดว่า ผู้ใดก็ตามที่ออกจากโลกนี้ไปในสภาพของคนตาบอด ดังนั้นในปรโลก เขาก็จะตาบอดและหลงทางเป็นอย่างยิ่ง”

      ท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายคำพูดนี้ (3) โดยเขียนว่า “โอ้อิสหาก! จุดประสงค์ของคำว่า ตาบอดนั้น ไม่ได้หมายถึงดวงตาทั้งสองมองไม่เห็น แต่หมายถึงความมืดบอดของหัวใจที่อยู่ด้านใน และสิ่งนี้ก็คือความหมายของพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงอ้างถึงคำพูดของบรรดาผู้อธรรมที่จะกล่าวในวันพิพากษา (ในปรโลก) ว่า

 رَبِّ لِمَ حَشَرْتَنِی أَعْمى وَ قَدْ كُنْتُ بَصِیراً

“โอ้พระผู้อภิบาลของข้า! ทำไมพระองค์ได้ทรงทำให้ข้าพระองค์ฟื้นคืนชีพในสภาพคนตาบอด ในขณะที่ข้าพระองค์เป็นผู้มองเห็น (ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ในโลก)”

      พระผู้เป็นเจ้า จะทรงตอบแก่เขาว่า

 كَذلِكَ أَتَتْكَ آیاتُنا فَنَسِیتَها وَ كَذلِكَ الْیَوْمَ تُنْسى

“เช่นเดียวกับที่ (ในโลกนั้น) โองการต่างๆ ของเราได้มาถึงเจ้าแล้ว แต่เจ้ากลับหลงลืมไม่ใส่ใจมัน และทำนองเดียวกันนี้เองที่ในวันนี้เจ้าจึงถูกลืม” (4)

      กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ใครก็ตามที่ในโลกนี้ เขาได้ปิดตาจากคำสอนและสัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนา และหันหลังให้กับมันนั้น ด้วยกับการผ่านไปของกาลเวลา ตาด้านในและดวงตาที่มองเห็นธรรมของเขาจะค่อยๆ มืดบอด และสิ่งนี้จะไปสำแดงผลและก่อรูป (ตะญัซซุม) ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) และบุคคลผู้นั้นจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพในสภาพของคนตาบอด

      คำพูดหนึ่งจาก “ท่านฮายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมุลี” ในการอธิบายถึงความหมายนี้ ท่านอายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมุลี ได้กล่าวว่า : บรรดาผู้ที่ในขณะที่อยู่ในโลกนี้ เขาได้ปิดตาจากมัสยิด จากฮุซัยนียะฮ์ จากศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ นั้น ดวงตาของเข้ามิได้จดจ้องสิ่งใด นอกจากความชั่วร้ายและภาพลวงต่างๆ ของความไร้ศาสนา ในวันปรโลกก็เช่นเดียวกัน ดวงตาทั้งสองของพวกเขาจะถูกห้ามจากการมองเห็นสวรรค์และภาพปรากฏต่างๆ ของความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และเขาจะไม่เห็นสิ่งใด นอกจากนรกและภาพปรากฏต่างๆ ของความพิโรธของพระองค์ และนี่คือความหมายของคำว่า ตาบอดในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) สำหรับคนชั่ว

      แต่ในทางกลับกัน บรรดาผู้ที่ปฏิบัติในทางตรงกันข้ามกับบุคคลเหล่านี้ และดวงตาของเขาไม่ได้จดจ้องไปยังสิ่งอื่นใดนอกจากคำสอนและสัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนา และปิดตาตัวเองจากสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ของพระผู้เป็นเจ้า ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) เขาจะไม่เห็นสิ่งใดนอกจากสวรรค์และความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (5)
ความอัปยศอดสูและความทุกข์ยากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะประสบกับคนกลุ่มใด?

      ในส่วนถัดไปของจดหมายท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ได้ชี้ถึงชะตากรรมของบรรดาผู้ที่เลือกปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีของคัมภีร์อัลกุรอาน คือบรรดาผู้ซึ่งจะยอมรับบางส่วนจากคัมภีร์นี้และน้อมนำสู่การปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่จะสนองตอบผลประโยชน์ทางโลกนี้ของพวกเขา หรือที่ไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ทางโลกของพวกเขา แต่ทว่าเขาจะแสดงออกในทางปฏิเสธ (กุฟร์) ต่อเนื้อหาและคำสั่งส่วนที่เหลือของคัมภีร์อัลกุรอาน และปฏิเสธที่จะยอมรับมันไม่ว่าอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม

       ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนโดยอาศัยเนื้อความของโองการที่ 85 ของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ว่า

 تَكُونُونَ مِمَّنْ یُؤْمِنُ بِبَعْضِ الْكِتَابِ وَ یَكْفُرُ بِبَعْض فَما جَزاءُ مَنْ یَفْعَلُ ذلِكَ مِنْكُمْ وَ مِنْ غَیْرِكُمْ إِلَّا خِزْیٌ فِی الْحَیاةِ الدُّنْیا وَ طُولُ عَذَابٍ فِی الْآخِرَةِ الْبَاقِیَةِ وَ ذَلِكَ وَ اللَّهِ الْخِزْیُ الْعَظِیم

“(หรือ) พวกท่านจะเป็นส่วนหนึ่งจากผู้ที่ศรัทธาแต่เพียงบางส่วนของคัมภีร์และปฏิเสธอีกบางส่วน ดังนั้นสิ่งตอบแทนแก่ผู้กระทำเช่นนั้นจากพวกเจ้าและบุคคลอื่นจากพวกเจ้าจึงมิใช่อะไรอื่น นอกจากความอัปยศอดสูในชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น และความยาวนานของการลงโทษในปรโลกอันยั่งยืน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ นั่นคือความอัปยศอดสูที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก”
คำอธิบาย :

      ตัวอย่างที่ชัดเจนของคนเหล่านี้ ก็คือบรรดาผู้ที่กล่าวอ้างตนเองว่าเป็นผู้ยึดมั่นในศาสนาและต่อคัมภีร์อัลกุรอาน แต่กลับต่อต้านบทบัญญัติที่ชัดเจนบางประการของคัมภีร์อัลกุรอาน ตัวอย่างเช่น หลักการกิซ็อซ (การประหารชีวิตให้ตายติดตามกันไป) การคลุมฮิญาบและข้อบัญญัติอื่นๆ ที่ไม่สบอารมณ์และความต้องการของพวกเขา พวกเขาจะยืนกรานคัดค้านและปฏิเสธที่จะยอมรับสิ่งเหล่านี้ (6) และท้ายที่สุด ก็จะพยายามอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อทำให้บทบัญญัติต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นไปตามความต้องการของพวกเขา อย่างเช่น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือเวลาและยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว และอื่นๆ ในทำนองนี้
ข้อเท็จจริงและปรัชญาของคำสั่งต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า

      ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ได้เขียนต่อไปอีกว่า

اِنَّ اللَّهَ بِمَنِّهِ وَ رَحْمَتِهِ لَمَّا فَرَضَ عَلَیْكُمُ الْفَرَائِضَ لَمْ یَفْرِضْ ذَلِكَ عَلَیْكُمْ لِحَاجَةٍ مِنْهُ إِلَیْكُمْ

“แท้จริงด้วยพระมหากรุณาธิคุณและความเมตตาของอัลลอฮ์ เมื่อพระองค์ได้ทรงกำหนดหน้าที่บังคับทั้งหลายต่อพวกท่านนั้น พระองค์ไม่กำหนดบังคับสิ่งนั้น เนื่องจากพระองค์มีความต้องการมันต่อพวกท่าน”

      จากนั้น ท่านกล่าวว่า  بَلْ بِرَحْمَةٍ مِنْهُ “แต่นั่นเป็นความเมตตาหนึ่งจากพระองค์”
คำอธิบาย :

     ความเมตตาของคำสั่งใช้และข้อห้ามต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากประเด็นที่ว่า ด้วยกับการระวังรักษาคำสั่งเหล่านี้ จะช่วยให้มนุษย์ทุกคนสามารถไปถึงยังความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) ในโลกนี้และในปรโลกได้ และหากไม่มีแบบแผนและข้อกำหนดเหล่านี้ที่เราเรียกว่า “ศาสนา” (ดีน) แล้ว มนุษยชาติจะอยู่ในความหลงทางตลอดไป และจะไม่กับความความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) ได้เลย

      ต่อจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ถึงเหตุผลและปรัชญาของบทบัญญัติเหล่านี้ โดยกล่าวว่า

 لِیَمِیزَ الْخَبِیثَ مِنَ الطَّیِّبِ وَ لِیَبْتَلِیَ ما فِی صُدُورِكُمْ وَ لِیُمَحِّصَ ما فِی قُلُوبِكُمْ

“(พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้การปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้เป็นหน้าที่บังคับ) เพื่อที่พระองค์จะทรงจำแนกคนเลวออกจากคนดี และเพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบสิ่งที่อยู่ในหัวอกของพวกท่าน และเพื่อที่พระองค์จะทรงชำระสิ่งที่อยู่ในหัวใจของพวกท่านให้บริสุทธิ์”

 لِتُسَابِقُوا إِلَى رَحْمَةِ اللَّهِ وَ لِتَتَفَاضَلَ مَنَازِلُكُمْ فِی جَنَّتِه

“เพื่อพวกท่านจะได้แข่งขันกันไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ และเพื่อที่ฐานันดรต่างๆ ของพวกท่านในสวรรค์จะได้ประเสริฐกว่า (ผู้อื่น)”
เชิงอรรถ :

[1] ดูเพิ่มเติมในช่วงต้นของหนังสือ “ญามิอุ อะฮาดีษุชชีอะฮ์” อายะตุลลอฮ์บุรูญัรดี (ร.ฮ.) เล่มที่ 1

[2] เขาเป็นหนึ่งในสาวกที่เชื่อถือได้ของท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ที่อยู่ในเมืองนีชาบูร เขาเป็นผู้หนึ่งที่จดหมายลงลายเซ็น (เตาเกี๊ยะอ์) ต่างๆ ของท่านอิมาม (อ.) จะถูกส่งไปยังเขา จดหมายฉบับนี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “ริญาล อัลกัชชีย์” (อิคติยาร มะอ์ริฟะตุรริญาล) หน้าที่ 575 และ “ตุหะฟุลอุกูล” หน้าที่ 484

[3] ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวคำพูดประโยคนี้ โดยสรุปความจากโองการที่ 72 ของอัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ และอธิบายโดยใช้โองการที่ 46 ของอัลกุรอานบทอัลฮัจญ์

[4] อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 125-126

[5] บทเรียนตัฟซีรของท่าน

[6] ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านนั้น กลุ่มชาตินิยม ได้กล่าวหากฎหมายเกี่ยวกับกิซ๊อซ (การประหารชีวิตให้ตายติดตามกันไป) ว่าขัดแย้งต่อหลักมนุษยธรรม และพวกเขาได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ชุมนุมประท้วงต่อต้านสิ่งนี้ ดูจาก “ซ่อฮีเฟเย่ อิมาม” เล่มที่ 14 หน้าที่ 448
ที่มา : เว็บไซต์ติบยาน
แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
รอมฎอนคือเดือนแห่งอัลกุรอาน
...
ความสำคัญของบิสมิลลาฮ์ ...
...
ท่านหญิงฟาติมะฮ์ ...
...
...
...
ซากีนะฮ์(อ.) ...

 
user comment