ไทยแลนด์
Thursday 28th of March 2024
0
نفر 0

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 4

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 4



สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 4

 

คำปราศรัยของท่านอิมาม (อ.) หลังจากนมาซอัซริ ณ “ชะรอฟ”

 

         

ดังที่ท่านทั้งหลายได้อ่านไปแล้วในบทก่อนที่ว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้เผชิญหน้ากับฮูร บินยาซีด และกองทหารของเขา ซึ่งเป็นกองทหารกลุ่มแรกที่ถูกส่งมาจากอิบนิซิยาด ณ ตำบล “ชะรอฟ” หลังจากการเสร็จสิ้นการนมาซดุฮ์ริและการกล่าวปราศรัยของท่านอิมาม (อ.) แล้ว ในนมาซอัซริก็เช่นกัน ทหารของทั้งสองฝ่ายได้นมาซภายใต้การนำของท่นอิมาม (อ.) และเมื่อเสร็จสิ้นการนมาซอัซริ ท่านอิมาม (อ.) เริ่มกล่าวคำปราศรัยต่อกองทัพของฮูรเป็นครั้งที่สอง โดยท่านกล่าวว่า

 

          “โอ้ประชาชนเอ๋ย แท้จริงพวกท่านมีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และยอมรับว่าสัจธรรมเป็นของที่คู่ควรสำหรับมันแล้ว ย่อมเป็นที่พึงพอพระทัยสำหรับอัลลอฮ์มากยิ่งกว่า และเราคืออะฮ์ลุลบัยต์ของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เป็นผู้ที่เหมาะสมต่ออำนาจการปกครองและการเป็นผู้นำประชาชนยิ่งกว่าบรรดาผู้นำเหล่านั้น ผู้ที่แอบอ้างตนเองในสิ่งที่มิใช่สิทธิของพวกเขา และเป็นผู้ที่ดำเนินไปบนหนทางแห่งการกดขี่และการเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า และหากพวกท่านทั้งหลายได้หยุดยั้งเนื่องจากมีความรังเกียจเรา และไม่รู้ซึ้งถึงสิทธิอันชอบธรรมของเรา และหากทัศนคติของพวกท่านในขณะนี้เป็นอื่นไปจากจดหมายทั้งหลายของพวกท่านที่มีมายังฉัน ฉันก็จะหันออกไปจากพวกท่าน”

 

       

  เมื่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) สิ้นสุดลง ฮูร ได้กล่าวว่า “เราไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับจดหมายเชื้อเชิญเหล่านั้น”

 

         

ท่านอิมาม (อ.) ออกคำสั่งให้ “อุกบะฮ์ บินซัมอาน” นำถุงย่ามสองใบที่บรรจุจดหมายของชาวกูฟะฮ์อยู่จนเต็มมาให้ท่าน แต่ฮูรก็ยังคงยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับจดหมายเหล่านี้ หลังจากนั้นจึงมีการพูดคุยกันระหว่างฮูรและท่านอิมาม (อ.) ซึ่งเราจะนำมาพิจารณาในบทต่อไป

 

สามประเด็นที่สำคัญจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)

 

 

ในคำปราศรัยครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญสามประเด็น และเป็นจุดที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก นั่นก็คือ

 

   

การแนะนำให้รู้จัก “อะฮ์ลุลบัยต์” ซึ่งเป็นครอบครัวและวงศ์วานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และอธิบายให้เห็นถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของพวกท่าน และจากผลของความเป็นผู้ที่สะอาดปราศจากมลทินทั้งหลายนี่เองที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมอบหมายตำแหน่งการเป็นผู้นำ (อิมาม) และผู้ปกครองประชาชาติทั้งมวลให้กับพวกท่าน

 

 การแนะนำให้รู้จักบรรดาผู้ที่ขัดแย้งและต่อต้านท่าน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่กดขี่และอธรรม เป็นกลุ่มชนที่เลวร้ายที่ขึ้นมาสู่อำนาจการปกครองประชาชาติอิสลามอย่างไม่ถูกต้อง ด้วยความอธรรมและการใช้กำลังอำนาจ

   

สำหรับประเด็นที่สาม สามารถพบได้จากคำปราศรัยครั้งที่สองของท่านอิมาม (อ.) นั่นก็คือ ท่านอิมามได้แจกแจงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเดินทางของท่านมายังกูฟะฮ์ (ว่าไม่ใช่สาเหตุของการยืนหยัดและการต่อสู้) แต่การเดินทางของท่านในครั้งนี้เป็นไปตามการเชื้อเชิญของประชาชนของเมืองนี้ และหากประชาชนของเมืองนี้ (ซึ่งบรรดาทหารของฮูรก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา) ได้เปลี่ยนใจและรู้สึกสำนึกผิดต่อคำเชื้อเชิญของตน ท่านอิมาม (อ.) ก็พร้อมที่จะหันกลับไปยังสถานที่เดิมที่ท่านเดินทางมา

 

หากฮูเซน บินอะลี (อ.) มีอิสระ ท่านจะย้อนกลับไปยังนครมะดีนะฮ์หรือไม่

 

         

มีคำถามเกิดขึ้นมาอีกว่า หากประชาชนชาวกูฟะฮ์รวมทั้งบรรดาทหารของฮูร ได้ปล่อยให้ท่านอิมามเป็นอิสระในการตัดสินใจแล้ว ท่านอิมาม (อ.) จะหันหน้ากลับไปยังนครมะดีนะฮ์หรือไม่ และท่านจะวางมือจากการต่อสู้ที่ท่านกำลังดำเนินอยู่หรือไม่ จำเป็นที่เราจะต้องแสวงหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าวนี้จากตัวบทของคำปราศรัยทั้งหลายของท่านอิมาม (อ.) โดยเฉพาะคำปราศรัยที่ท่านได้กล่าวไว้ ณ ตำบล “ชะรอฟ” จากคำปราศรัยทั้งสองของท่านอิมามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คำกล่าวที่ท่านได้กล่าวออกไปนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ซึ่งหลักฐานและข้อผูกมัด เพื่อเป็นการยับยั้งและขจัดข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากประชาชนชาวกูฟะฮ์กลุ่มนั้น ซึ่งท่านได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงไว้อย่างชัดเจนด้วยคำพูดของท่านดังนี้

 

          “แท้จริงการกล่าวคำเทศนาของฉันครั้งนี้ คือ (การทำให้หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล และเป็น) การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ และ (เป็นการทำให้สมบูรณ์ซึ่งหลักฐานข้อผูกมัด) ต่อพวกท่าน (เพื่อจะได้ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ อีก)”

 

         

ด้วยคำพูดดังกล่าว ฮูเซน บินอะลี (อ.) ต้องการทำให้พวกเขาเข้าใจว่า “การที่ฉันมายังเมืองของพวกท่านนี้ มิได้มีเจตนาที่จะโจมตีหรือรุกรานประชาชนของเมืองนี้แต่อย่างใด หากว่าบรรดาเหล่าสมุนของบนีอุมัยยะฮ์พยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่ออย่างผิดๆ เพื่อให้เกิดความตรึงเครียดและวิกฤติการณ์ต่างๆ ขึ้นมา ขอกล่าวว่ามันคือความมดเท็จอย่างแท้จริง และเป็นการขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะแท้จริงการเดินทางครั้งนี้ของฉันมันเป็นไปตามการเรียกร้องและเชื้อเชิญของชาวกูฟะฮ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว”

 

         

ส่วนประเด็นหลักของปัญหาคือ ท่านอิมาม (อ.) จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปหรือเบี่ยงเบนและหันหลังกลับ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่มันมิได้หมายความเช่นนั้น หากประชาชนชาวกูฟะฮ์หันเหและเปลี่ยนแปลงไปจากคำเชื้อเชิญของพวกเขาแล้ว ท่านอิมาม (อ.) จะหันหลังกลับไปยังบ้านของตนและวางมือจากการยืนหยัดต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ชาวกูฟะฮ์หันเหและเบี่ยงเบนออกไปจากการที่เคยเชื้อเชิญท่าน และละทิ้งคำมั่นสัญญาที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือท่านนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “หากเป็นเช่นนั้นฉันก็จะไม่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองนี้ ส่วนเรื่องที่ฉันจะไม่ยอมบัยอะฮ์ (ให้สัตยาบัน) ต่อยาซีด บินมุอาวียะฮ์ และการยืนหยัดต่อสู้กับเขานั้นมันจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่ามันจะจบลงด้วยการถูกสังหารของพวกเราก็ตาม” เพียงแต่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้หากมันมิได้บังเกิดขึ้นในแผ่นดินอิรัก มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในดินแดนอื่นๆ

 

         

เพราะหากจุดมุ่งหมายของท่านอิมาม (อ.) มิได้เป็นไปดังที่กล่าวมานี้ และหากเครือข่ายรัฐบาลของยาซีดคาดคิดและมีความรู้สึกเช่นที่ว่า ฮูเซนมิเพียงแต่จะวางมือจากการต่อสู้เท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น เขาได้สูญเสียความแน่วแน่มั่นคงของตนเองไปแล้ว และเขาได้ก้าวเข้าสู่ทางสองแพร่งในสภาพที่มีความลังเลและคลางแคลงใจ หากเป็นเช่นนี้จริงๆ หน่วยงานของรัฐบาลยาซีดจะไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับท่านอิมาม (อ.) เพราะพวกเขารู้ดีว่าการเผชิญหน้ากับท่านเช่นนั้นมันจะสร้างความตรึงเครียดและการเสียเปรียบให้กับรัฐบาลของ

บนีอุมัยยะฮ์

 

        

 สรุปว่า การเผชิญหน้าของกองทัพยาซีดกับท่านอิมาม (อ.) การทำสงครามและการหลั่งเลือดกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ย่อมเป็นหลักฐานข้อพิสูจน์ที่แข็งแรงและชัดเจนที่สุดที่ว่าท่านอิมาม (อ.) มิได้เบี่ยงเบนหรือวางมือจากการต่อสู้ของท่านแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดต่างๆ ของท่านอิมาม (อ.) ตั้งแต่นครมะดีนะฮ์จนกระทั้งการเป็นชะฮีดของท่าน ถือเป็นพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งเช่นกัน ในความมั่นคงหนักแน่นในการตัดสินใจของท่านที่ไม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงและรวนเรได้เลย

 

        

 ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ดังนั้นการถูกสังหารของบุรุษด้วยคมดาบในหนทางของอัลลอฮ์นั้นประเสริฐกว่า”

 

         

ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ในไม่ช้าฉันจะทำให้บรรลุ (ในสิ่งดังกล่าว) ความตายมิใช่สิ่งน่าตำหนิใดๆ สำหรับบุรุษหนุ่ม”

 

        

 และท่านผู้กล่าวว่า “ความต่ำต้อยนั้นช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร”

 

         

ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ฉันจะไม่ส่งมือของฉันให้กับพวกเขา เหมือนดั่งการมอบของบรรดาผู้ที่ต่ำต้อย และจะไม่ยอมหลบหนีไปจากพวกเขา เหมือนดั่งการหลบหนีของทาส”

 

         

ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “…และยาซีดคือผู้ที่ดื่มสุรา…และ (บุคคลที่มีฐานภาพ) อย่างฉันย่อมจะไม่ให้การยอมรับ (บัยอะฮ์) ต่อบุคคลเยี่ยงเขา”

 

        

 และท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่ปล่อยให้ความต่ำต้อยเกิดขึ้นจากตัวฉันอย่างแน่นอน”

 

         

ใช่แล้ว! ท่านคือผู้ที่อุดมการณ์และทัศนคติของท่านจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่มีสิ่งใดสามารถมาหยุดยั้งการต่อสู้ของท่านได้อย่างแน่นอน มันจะยังคงดำเนินต่อไปและจะไม่มีวันเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายของท่าน ท่านกำลังมุ่งหน้าไปสู่มันไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสิ่งใดก็ตาม

 

         

สรุปได้ว่า ในความมีอิสระของท่านอิมาม (อ.) ประชาชนชาวกูฟะฮ์ไม่มีผลแม้แต่น้อยต่อการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ ทำนองเดียวกัน การเชื้อเชิญของพวกเขาก็มิได้เป็นสาเหตุของการยืนหยัดต่อสู้ของท่านเลยแม้แต่น้อยนิด

 

 

คำตอบที่มีให้กับ “ฮูร”

 

         

ดังที่ได้ชี้ให้เห็นไปแล้วในคำอธิบายในบทก่อนหน้า ณ ตำบลชะรอฟ หลังจากคำปราศรัยที่สองของท่านอิมาม (อ.) สิ้นสุดลง และหลังจากที่ท่านได้มอบจดหมายเชื้อเชิญทั้งหมดของชาวกูฟะฮ์ให้แก่ฮูรและทหารของเขา แต่ฮูรก็ยังคงยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับจดหมายดังกล่าว จากจุดนี้เองทำให้เกิดการพูดคุยกันและถกเถียงกันขึ้นระหว่างท่านอิมามกับฮูร ในประเด็นเกี่ยวกับการเดินทางของท่านอิมาม (อ.) เพราะท่านอิมามต้องการที่จะมุ่งหน้าไปยังเมืองกูฟะฮ์ แต่ทว่าฮูรตัดสินใจที่จะสกัดกั้นและยับยั้งการเดินทางของท่านที่จะไปยังเมืองกูฟะฮ์ เพื่อให้เป็นไปตามคำบัญชาที่ได้รับมอบหมาย

 

         

แต่เมื่อฮูรเห็นว่าท่านอิมาม (อ.) มีความมั่นคงหนักแน่นต่อการตัดสินใจของตนเอง และไม่มีท่าทีว่าจะยอมโอนอ่อนต่อคำบัญชาที่มีมายังท่าน เขาจึงกล่าวว่า “เมื่อท่านตัดสินใจที่จะมุ่งหน้าเดินทางต่อไป เป็นการดีกว่าที่ท่านจะเลือกเส้นทางใหม่ที่ไม่ใช้เส้นทางไปสู่กูฟะฮ์ และไม่ต้องกลับไปยังนครมะดีนะฮ์ เป็นการพบกันคนละครึ่งทาง ข้าพเจ้าจะได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปยังอับดุลลอฮ์ อิบนิซิยาด และท่านเองก็จงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปยังยาซีด บินมุอาวียะฮ์หากท่านต้องการ หรือไม่ก็เขียนไปยังอิบนิซิยาดหากท่านประสงค์จะทำเช่นนั้น เพื่อว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทำให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากการที่จะต้องเผชิญหน้ากับท่าน”

 

         

 ฮูรกล่าวต่ออีกว่า “ข้าพเจ้าขอเตือนท่านด้วยว่า หากท่าน (จับดาบและ) เปิดฉากการต่อสู้ ท่านจะต้องถูกสังหารโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย”

 

         

คำพูดของฮูรดำเนินมาจนถึงจุดนี้ และเมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ยินคำเตือนที่แฝงด้วยการข่มขู่ของฮูร ท่านจึงกล่าวตอบไปว่า “เจ้ากำลังข่มขู่เราด้วยความตายกระนั้นหรือ! และกิจการอันใหญ่หลวงมันจะนำพวกเจ้าไปได้มากกว่าการสังหารฉันกระนั้นหรือ และฉันจะตอบ (แก่พวกเจ้า) ด้วยบทกวีบทหนึ่งซึ่งสหายแห่งเผ่าเอาวซ์ผู้หนึ่งได้เคยกล่าวมันต่อหน้าบุตรชายของลุงของเขา ในขณะที่เขาต้องการให้การช่วยเหลือแก่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า

 

        

 ฉันจะขอมุ่งมั่นต่อไป และความตายมิใช่ความไร้เกียรติและความน่าตำหนิแต่ประการใดสำหรับชายหนุ่ม เมื่อเป้าหมายและเจตนารมณ์ของเขาคือสัจธรรม และการต่อสู้ในสภาพที่ยอมจำนนต่ออิสลาม

 

        

 และเขาปรารถนาที่จะช่วยเหลือบุรุษผู้ทรงคุณธรรม ด้วยการยอมพลีชีวิตของตนเอง และเขาปรารถนาที่จะออกห่างจากบรรดาผู้ถูกสาปแช่ง และจะคัดค้านบรรดาอาชญากรทั้งหลาย

 

         

ฉันจะหยิบยื่นชีวิตของฉัน โดยมิมุ่งหวังที่จะคงอยู่ต่อไป เพื่อเผชิญหน้ากับกองทหารอันยิ่งใหญ่ในการทำศึกสงคราม

 

        

 แม้ฉันยังคงมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่ขอแสดงความรันทดใจ และหากแม้ชีวิตของฉันจะแดดิ้นไป ฉันก็มิได้มีความเจ็บปวดอันใด และเป็นความเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างผู้ที่ต่ำต้อยและอัปยศ” (1)

 

         

ฮูรเมื่อได้ยินคำตอบที่หนักแน่นและเชือดเฉือน เขาหยุดชะงักด้วยความโกรธและความขุ่นเคือง พร้อมกับแยกตัวออกไปจากท่านอิมาม (อ.)

 

         

ในหนังสือ “อะดะบุลฮูเซน” ได้กล่าวว่า เนื่องด้วยความหมายของกลอนบทนี้ที่เป็นที่ประทับใจและชื่นชอบของท่านอิมาม (อ.) ด้วยเหตุนี้ ตลอดช่วงเวลาของการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก ท่านได้กล่าวซ้ำกลอนบทนี้หลายต่อหลายครั้งในสถานที่ต่างๆ

 

         

การยึดหลักฐานจากบทกลอนข้างต้น และการกล่าวซ้ำมันครั้งแล้วครั้งเล่าของท่านอิมาม (อ.) ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านในการเดินทางครั้งนี้ได้ ซึ่งถือเป็นการค้ำจุนศาสนาและเป็นการแก้ไขปรับปรุงแนวทางของตาของท่าน เป็นการต่อสู้ในหนทางแห่งอิสลาม อีกทั้งเป็นการปกป้องบทบัญญัติและรักษาไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ แห่งคัมภีร์อัลกุรอาน มิให้เกิดการสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไป มันคือการต่อสู้ที่เป็นไปเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการดำเนินตามแบบฉบับอันบริสุทธิ์ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในการต่อสู้ครั้งนี้ท่านได้ปิดตาจากตำแหน่งเกียรติยศชื่อเสียง แม้กระทั่งจากชีวิตของตนเองและของบรรดาผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของท่าน

 

         

ใช่แล้ว! บุคคลใดก็ตามที่ต่อสู้ในหนทางนี้และได้ถูกสังหาร เขาจะไม่ถูกตำหนิติเตียนจากบุคคลใด และใครก็ตามที่ผูกจิตผูกใจของเขาอยู่กับสถานที่พำนักของตน และไม่ยอมย่างก้าวเข้าสู่สนามแห่งการต่อสู้ ตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะตกอยู่ในการตำหนิและการเหยียดหยามของประชาชนตลอดไป (2)

 

 

ณ สถานที่พัก แห่ง “บัยเฎาะฮ์”

 

        

 หลังจากการเคลื่อนออกจากตำบลชะรอฟ คาราวานทั้งสองเดินทางเคียงคู่กันไป และต่างก็หยุดพักในตำบลต่างๆ และในสถานที่ต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งสามารถหาน้ำและผักผ่อนกันได้อย่างสะดวกสบาย หนึ่งจากสถานที่เหล่านั้นก็คือที่พักแห่ง “บัยเฎาะฮ์” ณ ที่นี่เองที่ได้เปิดโอกาสให้อิมาม (อ.) สามารถพูดคุยกับบรรดาทหารของฮูรอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆ แก่พวกเขา และอธิบายถึงสาเหตุและผลของการยืนหยัดต่อสู้และการเดินทางของท่าน ซึ่งต่อไปนี้คือคำปราศรัยของท่านในครั้งนั้น

 

          “โอ้ ประชาชนเอ๋ย! แท้จริงท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มีวจนะว่า บุคคลใดก็ตามที่พบเห็นผู้ปกครองที่กดขี่ ที่ทำให้สิ่งต้องห้ามของอัลลอฮ์กลายเป็นสิ่งอนุมัติ เป็นผู้ทำลายล้างสัญลักษณ์ของพระองค์ เป็นผู้คัดค้านแบบฉบับของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เท่ากับเขาได้ปฏิบัติในหมู่ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ด้วยความผิดบาปและความเป็นศัตรู โดยที่เขามิได้ทำการแก้ไขปรับปรุงผู้ปกครองนั้น ด้วยกับการกระทำและคำพูดของเขา ดังนั้นอัลลอฮ์จะนำเขาเข้าอยู่ในสถานที่เดียวกับบุคคลเหล่านั้น (คือไฟนรก) พึงสังวรเถิด แท้จริงพวกเหล่านั้นได้ยึดเอาการเชื่อฟังปฏิบัติตามมารร้าย และได้ละทิ้งการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา และพวกเขาได้แพร่กระจายความชั่วร้ายทั้งหลาย และพวกเขาได้ละเลยต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของพระองค์ และได้ใช้ทรัพย์สิน (ของบัยตุ้ลมาล) มาเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง พวกเขาได้ทำให้สิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) กลายเป็นสิ่งฮะล้าล (อนุมัติ) และทำให้สิ่งฮะล้าล (อนุมัติ) ของพระองค์กลายเป็นสิ่งฮะรอม (ต้องห้าม) และตัวฉันคือผู้ที่เหมาะสมยิ่งกว่าผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลง (แนวทางของตาของฉัน) ต่อตำแหน่งการเป็นเป็นผู้ปกครองสำหรับประชาชาติอิสลาม

 

         

และแน่นอนยิ่ง จดหมายจำนวนมากมายจากพวกท่านได้มาถึงมือฉัน และผู้ถือสาส์นของพวกท่านมาถึงฉันพร้อมกับการ (แจ้งข่าวการ) ให้สัตยาบันของพวกท่าน ว่าพวกท่านจะไม่ละทิ้งและหันห่างออกไปจากฉัน บัดนี้หากพวกท่านยังคงมั่นคงบนสัตยาบันที่ให้กับฉัน พวกท่านก็จะได้รับทางนำและความสำเร็จ เพราะว่าฮูเซนบุตรของอะลีและฟาฏิมะฮ์ผู้เป็นบุตรีของท่านศาสดา ตัวของฉันจะอยู่เคียงข้างพวกท่าน และลูกหลานของฉันก็จะอยู่เคียงข้างลูกหลานของพวกท่าน และแท้จิรงในตัวฉันคือแบบฉบับสำหรับพวกท่าน

 

        

 และหากท่านทั้งหลายไม่ปฏิบัติตาม และได้ทำลายสัญญาของตนเอง และหันหลังให้กับการบัยอัต (สัตยาบัน) ที่มีต่อฉัน มันก็มิใช่สิ่งแปลกใหม่ใดๆ สำหรับพวกท่าน เพราะพวกท่านได้เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อนแล้วต่อบิดาของฉัน ต่อพี่ชายของฉัน และต่อบุตรของลุงของฉัน คือมุสลิม

 

         

ดังนั้น บุคคลที่ถูกหลอกคือผู้ที่หลงเชื่อคำพูดของพวกท่าน และให้ความมั่นใจเกินไปต่อคำมั่นสัญญาของพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านได้พลาดโอกาสของพวกท่าน และได้ทำลายโชคผลของตนเอง และบุคคลใดก็ตามที่บิดพลิ้ว แท้จริงเขาได้บิดพลิ้วต่อตัวเขาเอง และอัลลอฮ์จะทรงทำให้ฉันไม่มีความต้องการใดๆ จากพวกท่าน

 

          วัสลามุอะลัยกุม วะเราห์มะตุลลอฮ์ วะบะรอกาตุฮ์” (3)

 

 

 

อีกครั้งหนึ่งที่ท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายให้เห็นถึงสาเหตุของการยืนหยัดต่อสู้

 

        

 ในคำปราศรัยครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้แจกแจงความชั่วร้ายและอาชญากรรมทั้งหลายของศัตรูผู้ทรงอำนาจ ผู้กดขี่อิสลามเยี่ยงบนีอุมัยยะฮ์ ด้วยความกล้าหาญและไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด และท่านได้เปรียบเทียบฐานภาพของพวกท่านกับฐานภาพของพวกเขา กับฐานภาพทางศาสนาและหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำของท่าน ด้วยวิธีการนี้ท่านได้อธิบายให้เห็นถึงสาเหตุและแรงบันดาลใจในการจัดตั้งขบวนการและการยืนหยัดต่อสู้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างอิงวจนะของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และท่านได้ประกาศให้รู้ถึงการต่อสู้และทำสงครามกับระบบการปกครองของอามาวีย์ ว่าเป็นหนึ่งจากหน้าที่ตามบทบัญญัติที่จำเป็นเหนือตัวท่าน ระบบการปกครองที่ยึดเอาอิสลามเป็นของเล่นของตน ทำการเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนบทบัญญัติของอัลกุรอานและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) มันคือสาเหตุและแรงบันดาลใจอันเดียวกับที่ท่านได้กล่าวไว้ในคำสั่งเสียของท่านในขณะที่เริ่มออกเดินทางจากนครมะดีนะฮ์ เป้าหมายและเจตนารมณ์ก็คือเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ได้เปิดเผยกับมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ผู้เป็นน้องชายของท่าน

 

          “สาเหตุของการยืนหยัดต่อสู้ของฉัน ก็เนื่องจากการปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลายของความอธรรมและความชั่วร้าย การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม และเป้าหมายของการปฏิวัติของฉันในครั้งนี้มิใช่อื่นใด นอกจากเป็นการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว เป็นการทำลายล้างความเสื่อมเสียทั้งหมด อีกทั้งเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่บทบัญญัติต่างๆ ของอิสลามที่ถูกเปลี่ยนแปลงและทำให้เหี่ยวเฉาลง ฉันปรารถนาที่จะกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว และฉันปรารถนาที่จะดำเนินตามแนวทางของตาของฉัน”

 

         

ในคำปราศรัยครั้งนี้ท่านได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า “บุคคลใดก็ตามที่พบเห็นผู้ปกครองที่กดขี่…แต่เขามิได้ทำการเปลี่ยนแปลงด้วยการกระทำใดๆ (ของเขา)…ดังนั้นเป็นหน้าที่ของอัลลอฮ์ที่จะทรงทำให้เขาผู้นั้นเข้าอยู่ในสถานที่เดียวกันกับเขา (ผู้ปกครองที่กดขี่)” นี่คือสาเหตุและแรงบันดาลใจในการยืนหยัดต่อสู้ของฮูเซน บินอะลี (อ.) ที่เราได้รับรู้จากปากของท่านเอง

 

         

อัลกุรอานอันทรงเกียรติก็ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของการสูญสิ้นและการพินาศของประชาชาติทั้งหลาย และการเสื่อมสลายของบทบัญญัติต่างๆ ของบรรดาศาสดาในอดีต ซึ่งเกิดจากมนุษย์มิได้ยึดถือและปฏิบัติในเรื่องของ “อัลอัมรุ บิลมะอ์รูฟ วันนะอ์ยุ อะนิลมุงกัร” (การกำชับความดีและห้ามปราบความชั่ว) ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

 

          “ไฉนเล่า ในยุคสมัยต่างๆ ก่อนหน้าพวกเจ้า จึงไม่มีบรรดาผู้ทรงคุณธรรม ที่ทำหน้าที่ห้ามปราบความเสื่อมทรามทั้งหลาย”

 

 

 

 

“ชะฮาดัต” หรือการยืนยันในข้อเท็จจริง

 

      

  เรากล่าวในซิยารัตท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ว่า “ข้าพเจ้าขอเป็นพยานว่า แท้จริงท่านได้ทำให้การนมาซดำรงอยู่ และทำให้การจ่ายซะกาตได้รับการปฏิบัติ และท่านได้กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว”

 

        

 เป็นที่แน่นอนยิ่งที่ว่าการ “ชะฮาดัต” มิได้ให้ความหมายโดยทั่วไปของมัน ซึ่งการเป็นพยานยืนยันถึงเรื่องราวหนึ่งที่เป็นวัตถุและเป็นกรรมสิทธิ์ต่างๆ แต่ในความเป็นจริง (ความหมายของซิยารัตนี้) มันคือการอธิบายถึงข้อเท็จจริงทางจิตวิญญาณ เป็นการยอมรับสภาพและยืนยันในความเป็นจริงหนึ่ง (4) ที่ได้เกิดขึ้นบนเป้าหมายและเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ และเกิดจากแรงกระตุ้นทางจิตวิญญาณ

 

         

หมายความว่า ข้าพเจ้าเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าวนี้ และตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงว่า ขบวนการและการยืนหยัดต่อสู้ของท่านกระทำไปโดยเจตนาที่จะกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว มิใช่เกิดจากการเชื้อเชิญของชาวกูฟะฮ์หรือสาเหตุอื่นๆ แต่ประการใดทั้งสิ้น และหากจะมีสาเหตุและสิ่งกระตุ้นอื่นเกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับการยืนหยัดต่อสู้ในครั้งนี้ของท่าน ทั้งหมดเหล่านั้นจะเป็นไปได้เพียงแค่ตัวกำหนดเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายและเจตนารมณ์ดังกล่าวเท่านั้น ดังคำซิยารัตที่ว่า “และท่านได้บากบั่นต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ด้วยการบากบั่นต่อสู้ที่แท้จริง”

 

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อันซาบุลอัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 171

 

(2) อะดะบุ้ล ฮูเซน หน้า 33

 

(3) ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 300; กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้า 280; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 234; อันซาบุล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 171

 

(4) เช่นเดียวกับโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า “อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ มะลาอิกะฮ์และปวงผู้มีความรู้ (ก็ยืนยันเช่นนั้น) โดย (ที่พระองค์) ทรงดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม” (อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 18)

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
ดุอาประจำวันที่ 17 ...
...
เป้าหมายของการถือศีลอด ...
ค่ำคืนที่ประเสริฐกว่า 1000 เดือน
...
เตาฮีด ...
วิธีการรู้จักอิมาม
...
ความเชื่อต่ออิมามมะฮ์ดี (อ)คือ ...

 
user comment