ไทยแลนด์
Wednesday 17th of April 2024
0
نفر 0

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 3 ตอนที่ 3



สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 3 ตอนที่ 3

จงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซ

 

     

จากรายงานของอิบนิเกาวะลัยฮ์และมัซอูดีย์ (1) เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) เสร็จสิ้นจากการนมาซซุบฮ์ ท่านหันหน้ามายังบรรดามะอ์มูม (ผู้นมาซตาม) ของท่าน หลังจากการสรรเสริญและสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า  ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงอนุมัติให้การถูกสังหารของพวกท่านและฉันเกิดขึ้นในวันนี้ ดังนั้นพวกท่านจงอดทน และจงต่อสู้กับบรรดาศัตรูเถิด” (2)

 

   ท่านมัรฮูม เชคศอดูก (รฎ.) (3) อ้างรายงานจากท่านอิมามซัยนุลอาบีดีน (อ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในวันอาชูรอเมื่อสงครามรุนแรงขึ้นและสถานการณ์บีบคั้นท่านอิมามมากขึ้น สาวกของท่านบางคนได้เห็นพรรคพวกของตนและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามจำนวนมากต่อสู้อย่างอดทน พร้อมทั้งเห็นร่างที่ถูกฟันเป็นชิ้นๆ ของสหายของตน และเมื่อถึงคราวที่ตนเองจะต้องเป็นชะฮีด หน้าเขาเริ่มซีดลงและความสั่นเทาได้ปกคลุมไปทั่วร่างของพวกเขา แต่สำหรับท่านอิมามฮูเซน (อ.) และสาวกผู้ใกล้ชิดบางส่วนของท่านกลับมีสภาพตรงข้าม เพราะไม่ว่าจะมีความบีบคั้นมากเท่าใด หรือเวลาแห่งการเป็นชะฮีดจะกระชั้นเข้ามาเพียงใด ใบหน้าของท่านกลับแดงเรื่อและมีความสงบมั่นมากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงรู้สึกประหลาดใจต่อภาพที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอย่างประหลาด เขากล่าวกันในบรรดาสหายของตนเองว่า “จงมองดู (ท่านอิมามฮูเซน) ซิ ดูท่านมิได้แยแสต่อความตายเลยแม้แต่น้อย”

 

  เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ยินคำพูดนั้น ท่านกล่าวแก่บรรดาสาวกว่า “โอ้ลูกหลานแห่งผู้มีเกียรติ จงอดทนเถิด ความตายมิใช่อื่นใดเลย นอกจากเป็นเพียงสะพานที่จะช่วยให้เจ้าผ่านจากความทุกข์ยากไปสู่สวนสวรรค์อันกว้างใหญ่ และสิ่งบำเรอความสุขอันเป็นนิรันดร์ มีใครบ้างที่รังเกียจการย้ายจากคุกไปสู่ที่พำนักอันโอฬาร และย่อมไม่มีสิ่งใดจะเกิดแก่บรรดาศัตรูของพวกเจ้า นอกเสียจากประหนึ่งดังบุคคลที่กำลังย้ายจากที่พำนักอันกว้างขวางไปสู่คุกและการลงโทษ แท้จริงบิดาของฉันได้เล่าแก่ฉัน จากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ที่ท่านกล่าวว่า แท้จริงโลกนี้คือคุกของผู้ศรัทธา แต่เป็นสวรรค์ของผู้ปฏิเสธ และความตายคือสะพานของบุคคลเหล่านั้น (ผู้ศรัทธา) ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่สรวงสวรรค์ และมันเป็นสะพานของพวกนั้น(ผู้ปฏิเสธ) ที่จะนำพวกเขาไปสู่ขุมนรก (แน่แท้) ฉันมิได้ถูกหลอกลวงและฉันก็มิได้หลอกลวง” (4

 

หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้จัดกองทหารของท่าน ซึ่งตามรายงานที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่นั้นกล่าวว่ามีบุคคล 72 คน ปีกขวาของกองทัพท่านได้มอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของซุฮัยร์ บินกีน และปีกซ้ายของกองทัพอยู่ในความรับผิดชอบของฮะบีบ บินมะศอฮิร และท่านได้มอบธงรบให้แก่น้องชายของท่านคืออับบาส บินอะลี (อ.) ส่วนตัวท่าน บุคคลในครอบครัว และผู้ที่อยู่ในความดูแลของท่านตั้งมั่นอยู่ใจกลางกองทัพ

 

การเชิญชวนสู่การยืนหยัดและความอดทน

    

หลังจากนมาซซุบฮ์ในยามรุ่งอรุณของวันอาชูรอ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ประกาศต่อสาวกของท่านในสองประเด็น ประเด็นแรกคือ รากฐานแห่งการถูกสังหารของท่านและสาวกของท่านนั้น เป็นกิจการซึ่งเกิดขึ้นโดยการอนุมัติจากพระผู้เป็นเจ้า และอีกประเด็นหนึ่งคือ การยืนหยัดและการมีความอดทนในการเผชิญหน้ากับศัตรู ซึ่งประเด็นทั้งสองนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนมาซ ทั้งนี้เพราะ

 

 เมื่อคำสั่งเกี่ยวกับการนมาซปรากฏอยู่ในโองการอัลกุรอานเป็นจำนวนมาก และการนมาซเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอิสลามและการมีศรัทธา ดังนั้นแม้ในสภาพเงื่อนไขที่อยู่ในสงครามและการต่อสู้ แม้กระทั้งในช่วงเวลาที่ความพ่ายแพ้หรือความตายกำลังจะมาถึงอย่างแน่นอนแล้ว การนมาซก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นตามคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่นั่นเอง บางครั้งอาจมีคนที่ทำนมาซแต่หลงลืมคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซบ.) ในขณะทำการต่อสู้และญิฮาด พวกเขาก็จะต้องถูกรวมเข้าอยู่ในความหมายของโองการต่อไปนี้คือ “เราจะศรัทธาในบางส่วน และเราจะปฏิเสธในบางส่วน”

 

 ส่วนวิญญาณแห่งการยืนหยัดและความมั่นคงในการต่อสู้นั้น เราก็สามารถจะแสวงหาได้จากการนมาซและการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน พร้อมกันนั้นเราจะขอความช่วยเหลือและพละกำลังจากการอิบาดะฮ์และพลังจากจิตวิญญาณ “และพวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซ”

 

 

ดุอาอ์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ยามรุ่งอรุณของวันอาชูรอ

 

 ในบทที่ผ่านมาเราได้กล่าวไปแล้วว่า หลังจากการนมาซซุบฮ์แล้วท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้จัดเตรียมกองทัพของท่านและกำหนดหน้าที่ต่างๆ ให้แก่บรรดาผู้นำกองทัพ ในเวลาเดียวกันอุมัร บินซะอ์ดิ ก็จัดเตรียมกองทัพของตนเช่นกัน เมื่อท่านอิมาม (อ.) มองเห็นกองทัพจำนวนมหึมาของฝ่ายศัตรู ท่านจึงยกมือขึ้นสู่ฟากฟ้าและอ่านดุอาอ์ว่า

 

           “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นที่พักพิงของข้าฯ ในยามโศกเศร้า และทรงเป็นที่มุ่งหวังของข้าฯ ในยามทุกข์ยาก และพระองค์ทรงเป็นที่พักพิงและเป็นอาวุธสำหรับข้าฯ ในทุกกิจการที่เกิดขึ้นแก่ข้าฯ ความทุกข์ยากและความวิตกกังวลมากมายเท่าใดแล้ว ที่ทำให้ดวงใจทั้งหลายต้องพบกับความอ่อนแอ ความดีงามต้องลดน้อยถอยลง มิตรสหายต้องหนีจากไป และศัตรูจะพูดจาเสียดสี เมื่อข้าฯ นำมาร้องทุกข์ต่อพระองค์ ด้วยความมุ่งหวังที่มียังพระองค์โดยไม่เหลียวแลผู้อื่น ดังนั้นขอพระองค์ทรงขจัดและทรงบรรเทา พระองค์ทรงเป็นผู้อภิบาลความโปรดปรานทั้งมวลและทรงเป็นเป้าหมายแห่งความพากเพียร” (5)

 

สุนทรพจน์ครั้งแรกของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในวันอาชูรอ

         

หลังจากการตระเตรียมกองทัพแล้ว ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ขึ้นม้าและควบออกไปจากค่ายพักได้ระยะหนึ่ง จากนั้นท่านได้กล่าวกับทหารของอุมัร บินซะอ์ดิ ด้วยเสียงดังและหนักแน่นว่า “เจ้าทั้งหลาย จงฟังฉัน และอย่าได้เร่งด่วน (ในการทำสงคราม) เพื่อฉันจะได้ตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของฉันที่มีต่อพวกเจ้า และเพื่อที่ฉันจะได้แจ้งให้พวกเจ้าได้รับรู้ถึงเหตุผลที่ฉันมายังพวกเจ้า หากพวกเจ้ายอมรับเหตุผลของฉัน และเชื่อว่าคำพูดของฉันเป็นความจริง พวกเจ้าก็จงให้ความเป็นธรรมแก่ฉัน แล้วพวกเจ้าก็จะได้รับโชคดี และไม่มีเหตุผลใดที่พวกเจ้าจะมาทำสงครามกับฉัน แต่หากพวกเจ้าไม่ยอมรับฟังคำพูดของฉัน และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ฉัน ดังนั้นพวกเจ้าก็จงร่วมกันในกิจการของพวกเจ้าต่อไป และจงเรียกร้องจากบรรดาผู้เป็นภาคีของพวกเจ้าเถิด เพื่อกิจการของเจ้าจะได้ไม่เป็นที่คลุมเครือต่อพวกเจ้า หลังจากนั้นจงแจ้งแก่ฉัน และอย่าได้ประวิงเวลาของฉันไว้อีกเลย แท้จริงผู้คุ้มครองฉันคืออัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงประทานคัมภีร์ และพระองค์ทรงคุ้มครองผู้ประพฤติดีเสมอ” (6)

 

การประกาศแจ้งครั้งสุดท้าย     

       

 แม้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) จะเห็นแล้วว่าบรรดาศัตรูเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการทำสงครามกับท่าน จนถึงขั้นปิดกั้นน้ำต่อผู้ที่อยู่ในค่ายพักรวมทั้งเด็กเล็กๆ และยังเฝ้าคอยรับสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มทำสงคราม แต่ตามที่ท่านอิมามได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ดินแดนกัรบะลาอ์ ที่ไม่เพียงแต่ท่านจะไม่เป็นผู้ที่เริ่มทำสงครามก่อนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ตราบเท่าที่เป็นไปได้ ท่านก็ยังปรารถนาที่ตักเตือนพวกเขา เหตุผลหนึ่งก็คือ ท่านต้องการจำแนกให้พวกเขาได้รับรู้ถึงหนทางที่เป็นสัจธรรมกับทางที่หลงผิด และอีกเหตุผลหนึ่งคือ หากมีบุคคลใดในหมู่พวกเขาได้ร่วมในการหลั่งเลือดท่านโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือหลงผิดไป การตักเตือนของท่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตกลงสู่ห้วงเหวแห่งความอับปางและความโชคร้ายอันเป็นนิรันดร์

       

 ชิบฏ์ อิบนิญูซีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัซกิรอตุลคอวาศ” ว่า เมื่อท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เห็นว่า ประชาชนชาวกูฟะฮ์ได้ยืนกรานที่จะสังหารท่าน ท่านได้หยิบอัลกุรอานขึ้นเปิดและวางลงบนศีรษะของท่าน พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ตะโกนก้องต่อหน้าทหารของฝ่ายศัตรูว่า

 

           “ขอให้คัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้า และตาของฉันผู้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ จงเป็นผู้ตัดสินระหว่างฉันกับพวกท่านเถิด โอ้ประชาชาติเอ๋ย ด้วยความผิดอันใดหรือที่ทำให้พวกท่านคิดว่าการหลั่งเลือดของฉันเป็นที่อนุมัติ ฉันมิใช่บุตรของบุตรีของท่านศาสนทูตของพวกท่านหรือ พวกท่านมิเคยได้ยินคำพูดของตาของฉันดอกหรือที่ท่านกล่าวถึงฉันและพี่ชายของฉันว่า บุคคลทั้งสองนี้คือหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มชาวสวรรค์ หากพวกท่านไม่เชื่อคำพูดของฉัน พวกท่านก็จงสอบถามญาบิร ซัยด์บินอัรกอม และอบูสะอีด อุดรีย์ ดูเถิด โอ้ประชาชนทั้งหลาย และญะอ์ฟัร ฏ็อยยาร มิใช่ลุงของฉันหรือ”

       

ไม่มีเสียงตอบจากพวกเขานอกจากเสียงของชิมร์เท่านั้นที่เขาตะโกนขึ้นว่า “เจ้าจะได้ไปสู่นรกเดี๋ยวนี้แหละ” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบไปว่า “อัลลอฮุอักบัร ตาของฉันได้แจ้งแก่ฉันในความฝันว่า สุนัขตัวหนึ่งจะเลียเลือดอะฮ์ลิลบัยต์ของฉัน และฉันคิดว่าสุนัขตัวนั้นก็คือเจ้านั่นเอง” (7)

       

นี่คือความรักและความเอื้ออาทรของท่านอิมาม (อ.) ผู้นำที่แสดงออกต่อบรรดาผู้กระหายเลือด และนี่คือแนวทางแห่งฟาฏิมะฮ์ ซึ่งแม้แต่ในสภาพเงื่อนไขและวิกฤติการณ์ที่คับขันที่สุด ท่านก็มิได้เบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางที่พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดให้แก่ท่านเลยแม้เพียงชั่วขณะ เพื่อจะได้ไม่มีผู้ใดสามารถกล่าวได้ว่า “ไฉนพระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งผู้ถือสาส์นผู้หนึ่งไปยังเราเล่า เราจะได้ยึดถือปฏิบัติตามโองการทั้งหลายของพระองค์ก่อนที่เราจะพบกับความอัปยศอดสู” (8)

       

นี่คือสุนทรพจน์ คำสอนและการชี้นำที่ท่านอิมาม (อ.) ได้พยายามกระทำในช่วงต่างๆ ของวันอาชูรอ ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ไม่อำนวยให้ท่านสามารถกล่าวในคราวเดียวได้ และสิ่งที่ได้ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปนั้นคือสุนทรพจน์ครั้งแรกของท่าน

    

 เนื่องจากสุนทรพจน์ครั้งแรกของท่านอิมามฮูเซน (อ.) นั้นมีความยาวมากและมีเนื้อหาครอบคลุมในหลายด้าน จึงขอนำเสนอเนื้อหาพร้อมกับคำอรรถาธิบายแก่ท่านผู้อ่านเป็นสี่ส่วน

       

ในส่วนแรกซึ่งเป็นอารัมภบท ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้กล่าวย้ำกับชาวกูฟะฮ์และบรรดาทหารของอุมัร บินซะอ์ดิว่า อย่าได้คิดว่าการที่ท่านกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้เป็นเพราะท่านต้องการที่จะแสดงความเห็นพ้องหรือยอมจำนนต่อข้อเสนอของฝ่ายศัตรู หามิได้! แท้จริงเจตนารมณ์ของท่านคือการประกาศครั้งสุดท้ายถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ในฐานะแห่งการเป็นผู้นำ และมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า คือการชี้นำพวกเขา ดังนั้นจึงจำเป็นที่ท่านจะต้องเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวแก่พวกเขา “จงรับฟังคำพูดของฉันเพื่อที่ฉันจะแนะนำตักเตือนพวกท่าน…”

 

 

สุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ต้องหยุดชะงักลง

       

รายงานจากหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มปรากฏว่า เมื่อท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์มาถึงช่วงสุดท้ายของส่วนนี้ เสียงร่ำไห้ของบรรดาสตรีและเด็กผู้หญิงที่ได้รับฟังอยู่ก็ระงมขึ้น  ท่านจึงหยุดกล่าวสุนทรพจน์และสั่งให้อับบาสน้องชายของท่าน และอะลี อักบัร บุตรชายของท่าน ไปบอกให้บรรดาสตรีให้สงบลง พร้อมกับกล่าวเสริมอีกว่า “พวกนางยังจะต้องร้องไห้มากกว่านี้อีก”

    

 เมื่อบรรดาสตรีและเด็กๆ เงียบเสียงลง ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวสุนทรพจน์ต่อไป หลังจากที่ท่านกล่าวสรรเสริญต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ท่านจึงกล่าวสุนทรพจน์ส่วนที่สองว่า

 

“โอ้ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงระมัดระวังตนจากโลกนี้ แท้จริงหากดุนยานี้จะดำรงอยู่สำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหากว่าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งจะดำรงอยู่ในดุนยาตลอดไป บรรดาศาสดาย่อมเป็นผู้ที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ และสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความพึงพอใจ (ต่อท่านเหล่านั้น) และเป็นที่น่าพอใจต่อการตัดสิน หากแต่ว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) นั้นทรงสร้างโลกนี้มาเพื่อการสูญสลาย ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากมันก็จะเสื่อมสลายไป สิ่งอำนวยสุขของมันก็จะต้องหมดสิ้นไป และความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ ก็จะกลายเป็นสิ่งหมองมัว มันคือบ้านที่ลาดต่ำ และเป็นสถานที่พักชั่วคราว ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงตระเตรียมเสบียงเถิด เพราะแท้จริงเสบียงที่ดียิ่งนั้นคือตักวา (ความยำเกรง) และพวกท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ (ซบ.) หวังว่าพวกท่านจะได้ประสบความสำเร็จ (9)

     

โอ้ท่านทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมา จากนั้นพระองค์ทรงทำให้มันเป็นสถานที่พำนักชั่วคราวและสูญสลาย โดยที่มันจะให้การผันเปลี่ยนแก่บรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในมัน จากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ดังนั้นบุคคลที่ถูกหลอกลวง คือผู้ที่โลกนี้ได้หลอกลวงเขา และบุคคลที่โชคร้าย คือผู้ที่โลกนี้ได้ชักจูงเขาไป ดังนั้นจงอย่างให้โลกนี้ล่อลวงพวกท่าน เพราะแท้จริงมันจะบั่นทอนความหวังของบุคคลที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจมัน และมันจะทำให้ความหื่นกระหายของบุคคลที่มีความโลภหลงในมันเป็นความไร้ผล บัดนี้ฉันได้เห็นพวกท่านรวมตัวกันเพื่อกิจการหนึ่งซึ่งทำให้อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงกริ้วพวกท่าน พระองค์ทรงหันหน้าอันทรงเกียรติของพระองค์ไปจากพวกท่าน และทรงทำให้พวกท่านตกอยู่ในความพิโรธของพระองค์ ดังนั้นพระผู้อภิบาลผู้ทรงดียิ่งคือพระผู้อภิบาลของเรา และบ่าวที่เลวร้ายยิ่งนั้นก็คือพวกท่าน พวกท่านได้ตั้งมั่นต่อการเชื่อฟังปฏิบัติตาม (อัลลอฮ์) และศรัทธามั่นต่อท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แต่หลังจากนั้นพวกท่านกลับเคลื่อนทัพเข้าสู่ลูกหลานและสายตระกูลของท่านศาสนทูต พวกท่านมุ่งหวังที่จะสังหารพวกเรา แน่นอนยิ่งชัยฏอนได้ครอบงำพวกท่านแล้ว มันทำให้พวกท่านหลงลืมการรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ดังนั้นความหายนะจงประสบแก่พวกท่านและสิ่งที่ท่านทั้งหลายมุ่งมาตรปรารถนา แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ (ซบ.) และแท้จริงเราจะกลับคืนสู่พระองค์”

       

จากนั้นท่านได้กล่าวว่า “พวกเขาเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่ปฏิเสธภายหลังจากการมีศรัทธา ดังนั้นช่างห่างไกล (จากทางนำ) เสียเหลือเกินสำหรับกลุ่มชนผู้ฉ้อฉล”

 

บทสรุปจากส่วนที่สอง

       

ในส่วนที่สองของสุนทรพจน์ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ชี้ให้เห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนของการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ท่านชี้แจ้งว่าการดำเนินชีวิตพร้อมทั้งสิ่งประดับประดาทั้งหลาย คือสิ่งที่มิได้มีความคงทนถาวร และหากว่ามันจะมีความยืนยงและเป็นที่มั่นใจได้แล้ว ผู้ที่เหมาะสมยิ่งกว่าบุคคลใดๆ ในสิ่งนั้นก็คือบรรดาอัมบิยาอ์ (ศาสดา) และเอาลิยาอ์ (มิตรสนิท) ของอัลลอฮ์ (ซบ.)

      

ในสุนทรพจน์ส่วนนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายให้รู้ถึงสาเหตุในการหันเหของประชาชนชาวกูฟะฮ์ และย้ำเตือนพวกเขาในประเด็นนี้ว่า ด้วยการให้สัญญาและการข่มขู่ที่พวกเขากระทำต่อท่าน และด้วยความหื่นกระหายและความโลภหลงในโลกนี้อันเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนนี้ พวกเขาได้หันหลังออกจากอิสลาม จากการศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) และศาสนทูตของพระองค์ พวกเขาได้ก่อสงครามกับผู้นำ ผู้เป็นอิมามแห่งยุคสมัยของตนเอง และมุ่งมั่นที่จะฆ่าสังหารบุตรหลานแห่งศาสนทูตของพวกเขาเอง

        

โดยสรุปแล้วหลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ชี้แจงถึงความไม่เที่ยงแท้ของการดำเนินชีวิตในโลกนี้ และสิ่งประดับประดาอันจอมปลอมของมัน ท่านยังได้แสดงให้เห็นสาเหตุแห่งความอับโชคและความหายนะของประชาชนชาวกูฟะฮ์ ที่เกิดจากความกระหายในยศถาบรรดาศักดิ์และความมั่งคั่งอันจอมปลอมเหล่านั้น ท่านมีความหวังว่าด้วยวิธีนี้ท่านจะสามารถยับยั้งศัตรูจากการก่อความหายนะและการหลั่งเลือดในครั้งนี้ได้ ในขณะเดียวกัน หากมีผู้ใดที่พอจะแก้ไขปรับปรุงได้ ก็จะได้รับการช่วยเหลือและส่งเสริมให้เขาได้มองเห็นคุณค่าแห่งโลกอาคิเราะฮ์มากยิ่งขึ้น

       

ในส่วนที่สามของสุนทรพจน์ ท่านยังคงตักเตือนพวกเขาต่อไป ด้วยการแนะนำให้พวกเขาตระหนักถึงฐานะของท่าน โดยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงสืบเชื้อสายฉันดูซิว่าฉันคือใคร แล้วจงย้อนกลับไปดูตัวของพวกท่านเอง และตำหนิตัวของพวกท่าน จงพิจารณาดูเถิดว่า การสังหารฉัน การละเมิดเกียรติยศของฉันเป็นที่อนุมัติสำหรับพวกท่านหรือ ฉันมิใช่บุตรของบุตรีของท่านศาสดาของท่านดอกหรือ ฉันมิใช่บุตรแห่งตัวแทน (วะศีย์) ของท่านศาสดา ผู้เป็นบุตรของลุงของศาสดาดอกหรือ ฉันมิใช่บุตรของบุคคลแรกที่มีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ให้การยืนยันต่อท่านศาสนทูตของพระองค์ ในสิ่งที่ท่านได้นำมาจากพระผู้อภิบาลของท่านกระนั้นหรือ ฮัมซะฮ์ผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาชะฮีดมิใช่อาของบิดาของฉันหรือ และญะอ์ฟัร ฏ็อยยารมิใช่ลุงของฉันหรือ และคำพูดของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ที่กล่าวเกี่ยวกับฉันและพี่ชายของฉันว่า บุคคลทั้งสองคือหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มชาวสวรรค์ มิได้มาถึงพวกท่านดอกหรือ

     

หากพวกท่านยอมรับว่าสิ่งที่ฉันพูดนั้นเป็นความจริง ซึ่งมันก็คือความจริง ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันมิเคยมีเจตนาที่จะกล่าวเท็จเลยนับตั้งแต่ฉันได้รับรู้ว่า แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงโกรธกริ้วต่อผู้ที่กล่าวเท็จ และบุคคลที่สร้างเรื่องเท็จขึ้นมา ซึ่งเขาจะต้องพบกับ (โทษทัณฑ์) ของมัน แต่พวกท่านคิดว่าฉันพูดเท็จ แท้จริงในหมู่พวกท่านก็มีบุคคลที่หากพวกท่านสอบถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้เขาก็จะบอกแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายจงถามญาบิร บินอับดุลลอฮ์อันศอรีย์, อบีสะอีด คุดรีย์, ซะฮ์ลิบินสะอัด, ซัยด์ บินอัรกอม และอนัส บินมาลิก พวกเขาจะบอกว่า แท้จริงพวกเขาได้ยินคำพูดนี้จากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับฉันและพี่ชายของฉัน สิ่งนี้มิได้เป็นเครื่องกีดขวางพวกท่านจากการหลั่งเลือดของฉันได้เลยหรือ”

 

คำตอบสำหรับข่าวลือ

      

 เนื่องจากชาวเมืองกูฟะฮ์บางส่วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อของบรรดาทาสรับใช้ของบนีอุมัยยะฮ์ ซึ่งพวกเขาถูกทำให้หลงเชื่อว่าการทำสงครามกับฮูเซน บินอะลี เป็นการพิทักษ์ปกป้องคอลีฟะฮ์ที่ถูกต้องตามหลักการของอิสลาม (คือยาซีด บุตรของมุอาวียะฮ์) เนื่องจากฮูเซน บินอะลี ได้ต่อต้านคอลีฟะฮ์ของพวกเขา และขัดขวางผลประโยชน์ต่างๆ ของมุสลิม ดังนั้นการทำสงครามกับเขาจึงเป็นหน้าที่ (วาญิบ) ของมุสลิมทุกคน ด้วยเหตุนี้เองในสุนทรพจน์ส่วนที่สามของท่านอิมามฮูเซน (อ.) จึงชี้แจงให้เห็นบางส่วนจากคุณลักษณะของวงศ์ตระกูลและบรรพบุรุษของท่าน รวมทั้งฐานะทางด้านจิตวิญญาณของท่านที่ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึง ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้ข่าวลือทั้งหลาย

        

คุณลักษณะดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์แจ้งสำหรับมุสลิมทั้งมวล ทุกคนต่างรู้ดีว่าท่านคือหลานชายของท่านศาสนทูต เป็นบุตรชายของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้เป็นบุตรของลุงของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ และเป็นบุคคลแรกที่ได้ศรัทธาต่อท่าน ในขณะที่ผู้อื่นลุกขึ้นต่อสู้กับอิสลาม แต่ท่านกลับเป็นผู้ยืนหยัดเพื่อปกป้องสาส์นของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ)

 

จากนั้นท่านอิมามฮูเซน (อ) ได้กล่าวอ้างถึงท่านฮัมซะอ์ ผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาชะฮีด และท่านญะอ์ฟัร ฏ็อยยาร ซึ่งทั้งสองเป็นลุงของท่าน การต่อสู้และการยอมพลีของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองนี้ได้สร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่อิสลามและอัลกุรอาน ด้วยกับการต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธ ท่านทั้งสองจึงเป็นชะฮีดในสภาพที่น่าอนาถเป็นอย่างยิ่ง

       

ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เตือนให้รำลึกถึงประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับตัวท่านที่ไม่มีมุสลิมคนใดจะปฏิเสธได้ นั่นคือความประเสริฐอย่างหนึ่งของท่าน ซึ่งท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงอยู่เสมอในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ว่า “บุคคลทั้งสอง (ฮาซันและฮูเซน) คือหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มชาวสวรรค์”

     

 ด้วยการแจกแจงให้เห็นถึงคุณลักษณะและความประเสริฐต่างๆ เหล่านี้ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) มีเจตนาที่จะประกาศแจ้งแก่พวกเขาว่า “หากพวกท่านคิดว่าขบวนการต่อสู้ของเราเป็นการต่อต้านอิสลาม และเป็นการทำลายผลประโยชน์ของมุสลิมแล้ว จงรู้เถิดว่าแท้จริง อิสลามได้เกิดขึ้นมาในครอบครัวของเรา และด้วยการยืนหยัดของพวกเราอิสลามจึงมาถึงมือพวกท่าน ในวันที่อะลีบิดาของฉันได้ยอมรับอิสลามนั้น บรรพบุรุษของคอลีฟะฮ์ผู้แอบอ้างของพวกท่านยังคงจมปลักอยู่กับการปฏิเสธและเป็นผู้เนรคุณ บุคคลเหล่านี้ที่พวกท่านรู้จักในภาพลักษณ์ของผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลาม และผู้ที่ท่านทั้งหลายกำลังเงื้อดาบขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา มิเพียงแต่ว่าพวกเขาได้เคยยืนร่วมอยู่ในแถวของเหล่าศัตรูของอิสลามเท่านั้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น พวกเขาคือกลุ่มบุคคลที่ก่อชนวนสงครามกับท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) และลุงของฉันได้ต่อสู้กับบุคคลเหล่านี้จนกระทั่งเป็นชะฮีด เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอิสลาม จะเป็นไปได้อย่างไรว่าบุคคลที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้แนะนำเขาในฐานะผู้นำและหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มแห่งสรวงสวรรค์ได้หันเหออกไปจากอิสลามแล้ว ในขณะที่ศัตรูในอดีตของอิสลาม กลับอ้างตนว่าเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลาม”

 

 

สุนทรพจน์ของท่านได้หยุดลงอีกครั้งหนึ่ง

   

 เมื่อท่านกล่าวมาถึงตอนนี้ ชิมร์ บินซินญูชัน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการรบและผู้นำการรบคนหนึ่งของชาวกูฟะฮ์ เล็งเห็นว่าคำพูดของท่านอิมาม (อ.) อาจมีผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อเหล่าทหาร และจะทำให้พวกทหารหันเหจากการรบ ดังนั้นเขาจึงพยายามตัดบทสุนทรพจน์ของท่านโดยตะโกนก้องขึ้นว่า “เขาได้เคารพภักดีอัลลอฮ์บนความหลงผิด เขาไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังพูดอะไรอยู่”

       

ฮะบีบ บินมะซอฮิร ได้กล่าวตอบขึ้นจากฝ่ายทหารของท่านอิมามว่า “เจ้าต่างหากเล่าที่กำลังเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนความหลงผิดอันใหญ่หลวง และฉันขอเป็นพยานว่า เจ้านั้นพูดถูกต้องแล้วที่ว่าเ จ้านั้นไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านฮูเซนพูด เพราะอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงปิดผนึกหัวใจของเจ้าแล้ว”

     

 จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ของท่านต่อไปว่า (10) “หากพวกท่านยังแคลงใจในคำพูด (ของท่านศาสนทูตที่เกี่ยวกับฉันและพี่ชายของฉัน) แล้วพวกท่านยังแคลงใจด้วยหรือไม่ว่า ฉันคือบุตรแห่งบุตรีของศาสดาของพวกท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ในระหว่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ไม่มีบุตรของบุตรีของศาสดาคนใดอีกแล้วนอกจากฉัน ไม่ว่าจะในหมู่พวกท่านหรือในหมู่บุคคลอื่นใด อนิจจา ฉันเคยสังหารใคร (จากพวกท่าน) หรือ พวกท่านจึงได้เรียกร้องหนี้เลือดของเขาจากฉัน หรือว่าฉันได้ทำลายทรัพย์สินใดๆ ของพวกท่านไป หรือว่าพวกท่านกำลังเรียกร้องการสนองตอบบาดแผลหนึ่งจากฉัน”

      

 เมื่อท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์ของท่านมาถึงตอนนี้ ความเงียบสงบได้ปกคลุมไปทั่วกองทัพของชาวกูฟะฮ์ ไม่มีปฏิกิริยาหรือเสียงตอบใดๆ จากพวกเขาเลย ท่านอิมามเรียกชื่อบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวกูฟะฮ์ คนพวกนี้ได้เขียนจดหมายเชื้อเชิญให้ท่านอิมามมา แต่พวกเขากลับเข้าร่วมอยู่ในกองทัพของอุมัร บินซะอ์ดิด้วย ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวขึ้นว่า “โอ้ชะบัษ บินรอบอีย์, ฮัจญาร บินอับญัร, เกซ บินอัชอัษ และยาซีด บินฮาริษเอ๋ย พวกท่านมิใช่หรือที่เขียนจดหมายไปถึงฉัน ว่าขณะนี้ผลไม้ได้สุกงอมแล้ว บรรดาเรือกสวนก็เขียวขจี เมื่อท่านมาถึง กองทหารได้เตรียมไว้พร้อมแล้วสำหรับท่าน”

      

 ไม่มีใครเลยที่จะตอบรับคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ซ้ำยังกล่าวปฏิเสธอีกว่า “เรามิได้เขียนจดหมายดังกล่าวถึงท่านเลย”

   

 เกซ บินอัชอัษ กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “โอ้ฮูเซน ทำไมท่านจึงไม่ให้สัตยาบันต่อบุตรแห่งลุงของท่าน (เพื่อที่ท่านจะได้ปลอดภัย) หากท่านทำเช่นนั้น พวกเขาจะปฏิบัติต่อท่านเหมือนที่ท่านปรารถนา และจะไม่มีสิ่งน่ารังเกียจมาประสบแก่ท่านอีกเลย”

      

ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ไม่! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่ยื่นมือของฉันให้แก่พวกเขา เสมือนดังการยื่นให้ของผู้ที่ต่ำต้อย และฉันจะไม่ถอยหนีจากพวกเขา เสมือนการหนีของทาส”

     

จากนั้นท่านได้อ่านโองการหนึ่งซึ่งท่านศาสดามูซา (อ.) เคยกล่าวในขณะที่เผชิญหน้ากับฟิรอูนและไพร่พลที่ดื้อดึงของเขาว่า “โอ้ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้อภิบาลของฉัน และพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ให้ฉันพ้นจากการขว้างปาของพวกท่าน ฉันขอความคุ้มครองต่อองค์พระผู้อภิบาลของฉันและพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ให้พ้นจากอันตรายของผู้ทรนงทุกคนที่ไม่ศรัทธาต่อวันสอบสวน”

 

บทสรุปส่วนสุดท้ายของสุนทรพจน์

        

ท้ายที่สุดเพื่อเป็นการตอกย้ำในส่วนที่สี่ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของสุนทรพจน์นี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นประเด็นหนึ่งว่า “หากท่านทั้งหลายไม่แยแสต่อความประเสริฐต่างๆ ที่กล่าวไป และคลางแคลงใจในสิ่งที่ท่านศาสนทูตได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเราแล้ว และพวกท่านก็ยังจะแคลงใจด้วยหรือว่า ฉันคือบุตรชายของศาสนทูต ในหน้าแผ่นดินนี้นอกเหนือจากฉันแล้ว ยังมีบุตรชายแห่งบุตรีคนอื่นๆ ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อีกหรือ”

       

หลังจากที่ท่านยกประเด็นต่างๆ มาแล้ว ท่านอิมาม (อ.) ยังได้กล่าวประโยคหนึ่งที่ประกาศอย่างชัดแจ้งถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของท่าน ซึ่งทำให้ความหวังของศัตรูหมดไปอย่างสิ้นเชิงว่า “ไม่! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่ยื่นมือของฉัน…”

 

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อิษบาตุล วะซียะฮ์ หน้า 139

 

(2) กามิลุซ ซียารอต หน้า 37

 

(3) มะอานิล อัคบัร หน้า 279

 

(4) บะลาฆอตุล ฮูเซน หน้า 190

 

(5) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 327; อิบนิ อะซากิร หน้า 211; กามิล อิบนิกะซีร เล่ม 3 หน้า 287; อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 233 และ ฏอบากอต อิบนิสะอัด

 

(6) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 328-329; กามิล อิบนิอะซีร เล่ม 3 หน้า 287; อิรชาร เชคมุฟีด หน้า 234; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 253 และมีรายงานใน ฏอบากอต อิลนิสะอัด ด้วยเช่นกัน

 

(7) ตัชกีรอตุล คอวาช หน้า 262

 

(8) บทตอฮา โองการที่ 134

 

(9) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 253 ย่อหน้าแรกของส่วนนี้ อิบนิอะซากิร ได้นำเข้าไว้ในหนังสือของเขา หน้า 215 ด้วยเช่นกัน

 

(10) อันซาบุล อัชรอฟ เล่ม 3 หน้า 188

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
ปีศาจ (ซาตาน) ...
เตาฮีด เอกภาพแห่งอัลลอฮฺ ...
จอมราชันย์แห่งโคราซาน ...
อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 11 ...
วิทยปัญญา 10 ประการ ...
อัลกุรอาน ...
...
ยุทธวิธี การขับเคลื่อน ...

 
user comment