ไทยแลนด์
Friday 19th of April 2024
0
نفر 0

อย่าหมกมุ่นในอาชีพการงาน จนหลงลืมความผาสุกทางจิตวิญญาณ

อย่าหมกมุ่นในอาชีพการงาน จนหลงลืมความผาสุกทางจิตวิญญาณ

อย่าหมกมุ่นในอาชีพการงาน จนหลงลืมความผาสุกทางจิตวิญญาณ


ในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากการแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตของครอบครัว ทำให้บรรดาผู้ปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นพ่อจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะสามารถจัดหาปัจจัยอำนวยสุขที่จำเป็นทางด้านวัตถุให้แก่ภรรยาและลูกๆ โดยที่บางคนหลงลืมจากความสุขสบายและความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณ และในบางครั้งสายสัมพันธ์และห่วงโซ่ทางด้านอารมณ์ความรู้สึก (อาฏีฟะฮ์) ซึ่งจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นด้วยผลของการปฏิสัมพันธ์ต่อกันในระหว่างสมาชิกของครอบครัวนั้น ต้องพบกับความบกพร่องและทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทางครอบครัวติดตามมา เนื่องจากการหมกมุ่นในอาชีพการงานของผู้เป็นพ่อ

 

     

แม้จะเป็นความจริงที่ว่าพ่อในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้มีบทบาทและหน้าที่ในการจัดหาปัจจัยดำรงชีพให้แก่สมาชิกของครอบครัว และจะต้องทุ่มเทแรงกายและชีวิตเพื่อพวกเขา แต่ทว่าหน้าที่สำคัญนี้จะต้องไม่ทำให้เราหลงลืมและออกห่างจากหน้าที่อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญกว่า นั่นก็คือการหลงลืมจากการสนองตอบกิจการต่างๆ ของตนเองในเรื่องของจิตวิญญาณ อันเกิดการหมกมุ่นในอาชีพการงานจนเป็นเหตุทำให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและไม่มีเวลาส่วนตัวสำหรับพวกเขา ดั่งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า :

 

يا أَيُّهَا الَّذينَ آمَنُوا لا تُلْهِكُمْ أَمْوالُكُمْ وَ لا أَوْلادُكُمْ عَنْ ذِكْرِ اللَّهِ وَ مَنْ يَفْعَلْ ذلِكَ فَأُولئِكَ هُمُ الْخاسِرُون‌

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! อย่าให้ทรัพย์สินของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้า ทำให้พวกเจ้าหลงลืมจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และผู้ใดกระทำเช่นนั้น ดังนั้นพวกเขาคือผู้ที่ขาดทุน” (1)

 

    

คำว่า "ตุลฮี" มาจากรากศัพท์ว่า “อิลฮาอ์” และคำนี้หมายถึง การหมกมุ่นในสิ่งหนึ่งจนทำให้หลงลืมหรือออกห่างจากอีกสิ่งหนึ่ง และจุดประสงค์จากประโยคที่ว่า “ทรัพย์สินและลูกๆ ทำให้หลงลืมจากพระผู้เป็นเจ้า” นั้นก็คือการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของอาชีพ การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองและความรักห่วงใยลูกๆ ที่เกินความพอเหมาะพอควร (หรือห่วงใยไปในทางที่ไม่ถูกต้อง) ทำให้คนเราหลงลืมและออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสีสันของชีวิตทางโลกนี้จะเป็นเช่นนี้ ในช่วงท้ายของโองการ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า “...หากใครก็ตามที่มีสภาพเช่นนี้ เขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ขาดทุน”

 

    

ดังนั้นในขอบเขตเดียวกันกับที่เรามีความเป็นห่วงกังวลในปัญหาหรือกิจการต่างๆ ทางด้านวัตถุของครอบครัว เราก็จำเป็นที่จะต้องเป็นห่วงกังวลต่อกิจการต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณในขอบเขตเดียวกันด้วย และเราจะต้องคิดถึงตัวเองด้วยเช่นกัน แน่นอนหากเราออกห่างจากอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็จะออกห่างจากเรา หากเราหลงลืมพระองค์ พระองค์ก็จะลืมจากเรา และทำให้เราลืมตัวเอง

 

وَ لا تَکُونُوا کَالَّذينَ نَسُوا اللَّهَ فَأَنْساهُمْ أَنْفُسَهُمْ

 

“และพวกเจ้าอย่าเป็นดั่งเช่นบรรดาผู้ที่ลืมอัลลอฮ์ ดังนั้นพระองค์ได้ทำให้พวกเจ้าลืมตัวพวกเขาเอง” (2)

 

     

หากเราปรับปรุงแก้ไขสภาพทางด้านจิตวิญญาณ และยกระดับความสัมพันธ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าในตัวของเราและครอบครัวของเรา ปัญหาอื่นๆ แม้ในเรื่องของปัจจัยทางวัตถุและชีวิตทางโลกนี้ก็จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงด้วย

 

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

مَنْ أَصْلَحَ مَا بَيْنَهُ وَبَيْنَ اللهِ أَصْلَحَ اللهُ مَا بَيْنَهُ وَبَيْنَ النَّاسِ، وَمَنْ أَصْلَحَ أَمْرَ آخِرَتِهِ أَصْلَحَ اللهُ لَهُ أَمْرَ دُنْيَاهُ

 

“ผู้ใดที่แก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มีระหว่างเขากับอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็จะแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มีระหว่างเขากับมนุษย์ และผู้ใดที่แก้ไขปรับปรุงกิจการแห่งปรโลกของเขา อัลลอฮ์ก็จะทรงแก้ไขปรับปรุงกิจการในโลกนี้ของเขาให้แก่เขา” (3)

 

     ในวจนะอีกบทหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

لَا تَجْعَلَنَّ أَكْثَرَ شُغُلِكَ‌ بِأَهْلِكَ‌ وَ وَلَدِكَ فَإِنْ يَكُنْ أَهْلُكَ وَ وَلَدُكَ أَوْلِيَاءَ اللَّهِ فَإِنَّ اللَّهَ لَا يُضِيعُ أَوْلِيَاءَهُ وَ إِنْ يَكُونُوا أَعْدَاءَ اللَّهِ فَمَا هَمُّكَ وَ شُغُلُكَ بِأَعْدَاءِ اللَّه

 

“ท่านจงอย่าหมกมุ่นในเรื่องครอบครัวและลูกของท่านจนมากเกินไป เพราะหากครอบครัวและลูกของท่านเป็นผู้ที่รักของอัลลอฮ์ ดังนั้นอัลลอฮ์จะไม่ทรงทำลายบรรดาผู้เป็นที่รักของพระองค์ และหากพวกเขาเป็นศัตรูของอัลลอฮ์ ดังนั้นท่านจะไปกังวลและหมกมุ่นในเรื่องของศัตรูของอัลลอฮ์ทำไม?” (4)

 

     การที่ครอบครัวและลูกๆ ของเราจะเป็นที่รักของอัลลอฮ์หรือเป็นศัตรูของพระองค์นั้น อยู่ที่ตัวเราเองในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เราจะต้องจัดระบบระเบียบชีวิตของลูกๆ ให้ถูกต้องและเกิดความสมดุลทั้งทางด้านวัตถุและด้านจิตวิญญาณ ในฐานะมุสลิมที่มีความเชื่อมั่นต่อชีวิตในปรโลก และเชื่อมั่นว่าชีวิตในโลกนี้คือทางผ่าน หรือเป็นสื่อที่เราจะต้องตระเตรียมเสบียงแห่งความดีงาม เพื่อเดินทางมุ่งสู่ชีวิตที่เป็นเป้าหมายสูงสุด คือชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในปรโลก ดังนั้นจำเป็นต้องใคร่ครวญและให้ความสำคัญในประเด็นเหล่านี้ให้มาก

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอาน บทอัลมุนาฟิกูน โองการที่ 9

(2) อัลกุรอาน บทอัลฮัชร์ โองการที่ 19

(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 86

(4) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 353


โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
รอมฎอนคือเดือนแห่งอัลกุรอาน
...
ความสำคัญของบิสมิลลาฮ์ ...
...
ท่านหญิงฟาติมะฮ์ ...
...
...
...
ซากีนะฮ์(อ.) ...

 
user comment