ไทยแลนด์
Thursday 28th of March 2024
0
نفر 0

คุณลักษณะของมนุษย์ผู้สมบูรณ์

คุณลักษณะของมนุษย์ผู้สมบูรณ์

คัมภีร์อัลกุรอาน ได้แนะนำถึงคุณลักษณะของมนุษย์ผู้สมบูรณ์ไว้ภายใต้ชื่อที่สวยงามอย่างยิ่ง นั่นก็คือ عِبادُ الرَّحْمنِ หมายถึง “ปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา” ซึ่งมีดังต่อไปนี้

 

    ความอ่อนน้อมถ่อมตน

            ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล)
            คัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญ กล่าวว่า

 
وَعِبادُ الرَّحْمنِ الَّذينَ يَمْشُونَ عَلىَ الاَرْضِ هَوْناً
“และปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตานั้น คือบรรดาผู้ซึ่งจะเดินในหน้าแผ่นดินด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน” (1)

 

    ความสุขุมคัมภีรภาพและความอดทนในการเผชิญกับคนโง่เขลา

             คุณลักษณะอีกประการหนึ่งของมนุษย์ผู้สมบูรณ์ คือการมีความอดทนอดกลั้นต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อกลุ่มชนที่ไม่รู้และโง่เขลา คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า

 
وَ إِذا خاطَبَهُمُ الْجاهِلُونَ قالُوا سَلاماً
“และเมื่อบรรดาคนโง่เขลาได้กล่าวกับพวกเขา พวกเขาก็จะ (เดินผ่านไปอย่างมีเกียรติและ) กล่าวตอบด้วยความสันติ” (2)

 
           ชายชาวอาหรับชนบทคนหนึ่งจากชนเผ่าบนีซะลีม ได้ไปพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกล่าวต่อท่านอย่างรุนแรงด้วยการไม่ให้เกียรติว่า “ท่านคือพ่อมดที่มุสา ไม่มีบุคคลใดภายใต้ชั้นฟ้าและแผ่นดินนี้ที่จะมุสายิ่งไปกว่าท่านเสียอีก!” ในขณะนั้นเอง อุมัร อิบนุค็อฏฏ๊อบ ต้องการที่จะฆ่าเขา แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “โอ้อุมัรเอ๋ย จงนั่งลงเถิด! ความอดทนอดกลั้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถึงขั้นที่บุคคลที่มีความอดทนอดกลั้นนั้นคู่ควรยิ่งต่อการเป็นศาสดา” (3)

 
           จะเห็นได้ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) แม้จะมีอำนาจและความสามารถสูงสุด แต่ท่านกลับตอบโต้ชายผู้กักขฬะนั้นด้วยความสุขุมและอดทนอดกลั้น ความมีอำนาจและบารมีของท่านจะไม่เป็นสาเหตุทำให้ท่านตอบโต้และแก้แค้นเอาคืนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

    การทำอิบาดะฮ์ในยามดึกสงัด

            คุณลักษณะประการที่สามของปวงบ่าวผู้แสวงหาความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า คือการทำอิบาดะฮ์ การวิงวอนและภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยความรักและความผูกพันในยามดึกของค่ำคืน คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

 
وَ الَّذينَ يَبيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّداً وَ قِياماً
“และบรรดาผู้ซึ่งใช้เวลาในยามค่ำคืน ในสภาพก้มกราบและยืน (ในการเคารพภักดี) พระผู้อภิบาลของพวกเขา” (4)

 
           บุคคลที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ จะถูกกล่าวถึงโดยท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยฉายานามว่า “อัชร๊อฟ” (ผู้มีเกียรติ) โดยที่ท่านกล่าวว่า

 
أَشْرافُ أُمَّتي حَمَلَةُ الْقُرْانِ وَ أَصْحابُ اللَّيلِ
“บรรดาผู้มีเกียรติของประชาชาติของฉัน คือผู้ที่ปฏิบัติตาม (และให้ความสำคัญต่อ) คัมภีร์อัลกุรอาน และเป็นผู้ทำอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืน” (5)

 

    การวิงวอนขอการปกป้องจากการลงโทษในนรก

وَ الَّذيـنَ يـَقـُولُونَ رَبَّنـَا اصـْرِفْ عـَنـّاعـَذابَ جـَهَنَّمَ إِنَّ عَذابَها كانَ غَراماً إِنَّها ساءَتْ مُسْتَقَرّاً وَ مُقاماً
“และบรรดาผู้ซึ่งจะกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ โปรดผินการลงโทษของนรก (ญะฮันนัม) ออกไปให้พ้นจากเหล่าข้าฯ ด้วยเถิด เพราะการลงโทษของมันคือความทุกข์ทรมานที่ยาวนาน แท้จริงมันเป็นที่พำนักและสถานที่อยู่ที่เลวร้ายยิ่ง” (6)

 

    การดำรงรักษาความพอเหมาะพอควรในการใช้จ่ายและการให้

            มนุษย์ผู้สมบูรณ์จะต้องไม่ตระหนี่ในการใช้จ่ายและการให้ และจะไม่ฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายในสิ่งเหล่านั้น

 
وَالَّذينَ إِذا أَنْفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَ لَمْ يَقْتُرُوا وَ كانَ بَيْنَ ذلِكَ قَواماً
“และบรรดาผู้ซึ่งเมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาจะไม่สุรุ่ยสุร่ายและจะไม่ตระหนี่ แต่จะดำรงความเป็นกลางในระหว่างนั้น” (7)

 

    ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ)

           คุณลักษณะอีกประการหนึ่ง คือการหลุดพ้นออกจากการเป็นทาสและการพึ่งพาสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า และการไปถึงยังเตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) อย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งจะทำให้พวกเขาออกห่างจากการตั้งภาคีใดๆ คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า

 
وَالَّذينَ لا يَدْعُونَ مَعَ اللّهِ إلهاً آخَرَ
“และบรรดาผู้ซึ่งจะไม่วอนขอพระเจ้าอื่นใดร่วมกับอัลลอฮ์” (8)

 
          สถานะตำแหน่งของความบริสุทธิ์ใจ (มะกอมุลอิคลาศ) คือระดับขั้นที่สูงส่งที่สุดของการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์และการจาริก (อัซซีร วัซซุลูก) สู่พระผู้เป็นเจ้า

 
          ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) มีระดับต่างๆ ซึ่งขั้นต่ำสุดของมันคือการที่มนุษย์จะทำให้การเคารพภักดีและการนมัสการ (อิบาดะฮ์) พระผู้เป็นเจ้าของตนเองบริสุทธิ์จากการตั้งภาคี (ชิรก์) การโอ้อวด (ริยาอ์) และความหลงตน เขาจะต้องกระทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น คุณค่าของการกระทำ (อะมัล) อยู่ที่การมีเจตนา (เหนียต) ที่สะอาดบริสุทธิ์จากการตั้งภาคีและการโอ้อวด ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวกับอบูซัร ว่า

 
يا أَباذَزٍّ إِنَّ اللّهَ تَبارَكَ وَ تَعالى لا يَنْظُرُ إِلى صُوَرِكُمْ وَلا إِلى أَمْوالِكُمْ وَ لكِنْ يَنْظُرُ إِلى قُلُوبِكُمْ وَ أَعْمالِكُمْ
“โอ้อบูซัร! แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง จะไม่ทรงมองดูที่หน้าตาของพวกท่านและทรัพย์สมบัติของพวกท่าน แต่ทว่าพระองค์จะทรงมองดูที่หัวใจของพวกท่าน และการกระทำต่างๆ ของพวกท่าน” (9)

 
         และนี่คือบางส่วนของคุณลักษณะต่างๆ แห่งความสมบูรณ์ของปวงบ่าวผู้สมบูรณ์และมีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่อคัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญบรรยายถึงบรรดาปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ว่ามีคุณลักษณะต่างๆ แห่งความสมบูรณ์เช่นนี้ ก็สามารถสรุปได้ว่า การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีและการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับกะม้าล (ความสมบูรณ์)

 
          บรรดาผู้ที่มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ที่แท้จริงนั้น จะไปถึงยังอุดมคติและความมุ่งหวังของตนได้ด้วยการเคารพภักดีและการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงก็จะต้องเสริมสร้างและพัฒนาคุณลักษณะที่สวยงามของความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในตัวเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) ซึ่งนั่นก็คือ “ความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์” (อินซานุ้ลกามิล)

 
แหล่งอ้างอิง :

 
(1) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 63

 
(2) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 63

 
(3) ซีมอเย่ อินซาน กามิล, ญะอ์ฟัร ซุบฮานี หน้าที่ 52, อ้างจากหนังสือ “หะยาตุ้ลหะยะวาน” เล่มที่ 2 หน้าที่ 68

 
(4) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 64

 
(5) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 87 หน้าที่ 138

 
(6) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 65-66

 
(7) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 67

 
(8) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 68

 
(9) นะฮ์ญุลคิฏอบะฮ์, อะละมุลฮุดา คูราซานี หน้าที่ 477

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
ดุอาประจำวันที่ 17 ...
...
เป้าหมายของการถือศีลอด ...
ค่ำคืนที่ประเสริฐกว่า 1000 เดือน
...
เตาฮีด ...
วิธีการรู้จักอิมาม
...
ความเชื่อต่ออิมามมะฮ์ดี (อ)คือ ...

 
user comment