ไทยแลนด์
Thursday 18th of April 2024
0
نفر 0

การเตรียมตัวเพื่อรอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 1)

การเตรียมตัวเพื่อรอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 1) จากเหตุการณ์การตื่นตัวของประชาชนที่เกิดขึ้นในโลกอิสลามในช่วงหลายปีมานี้ โดยเริ่มจากประเทศตูนิเซีย อียิปต์และลิเบียจนเป็นเหตุทำให้บรรดาผู้ปกครองเผด็จการถูกโค่นอำนาจลงและเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังคงลุกลามไปทั่วภู
การเตรียมตัวเพื่อรอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 1)



การเตรียมตัวเพื่อรอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 1)

 

จากเหตุการณ์การตื่นตัวของประชาชนที่เกิดขึ้นในโลกอิสลามในช่วงหลายปีมานี้ โดยเริ่มจากประเทศตูนิเซีย อียิปต์และลิเบียจนเป็นเหตุทำให้บรรดาผู้ปกครองเผด็จการถูกโค่นอำนาจลงและเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังคงลุกลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกลางและแอฟริกาเหนือ และปัจจุบันการเคลื่อนไหวตื่นตัวของประชาชนในการต่อต้านผู้ปกครองก็ได้ขยายตัวลุกลามไปสู่ประเทศต่าง ๆ แม้กระทั่งในโลกตะวันตกคือยุโรปและอเมริกา เหตุการณทั้งหมดเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้องติดตามและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเหตุว่าโลกในปัจจุบันนี้เหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดของโลกก็ตาม ผลกระทบของมันจะมาถึงตัวเราด้วยเช่นกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

     

และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เป็นหน้าที่ประการหนึ่งสำหรับมุสลิมที่พึงมีต่อกันในฐานะที่เป็นเสมือนเรือนร่างเดียวกัน ดังวจนะ (ฮะดีษ) ของท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า :

 

المؤمن اخو المؤمن کالجسد الواحد، ان اشتکى شیء منه وجد الم ذلک فی سائر جسده و ارواحهما من روح واحدة

“ผู้ศรัทธาคือพี่น้องของผู้ศรัทธา เปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน หากส่วนใดได้รับความเจ็บปวดส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็จะรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้นด้วย และจิตวิญญาณของพวกเขาก็เป็นจิตวิญญาณเดียวกัน” (1)

 

     

กล่าวโดยรวมแล้ว มุสลิมทุกคนในฐานะที่เป็นมุสลิมนั้น เขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมและต่อพี่น้องมุสลิมแต่ละคนของเขา ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลกก็ตาม หนึ่งในสิทธิและหน้าที่ที่มุสลิมพึงมีต่อกัน คือการเอาใจใส่และการให้ความสนใจในความทุกข์สุขของกันและกัน มิเช่นนั้นแล้วเขาจะไม่ถูกนับว่าอยู่ในฐานะของความเป็นมุสลิมที่ดี ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 

مَنْ أَصْبَحَ لَا یَهْتَمُّ بِأُمُورِ الْمُسْلِمِینَ فَلَیْسَ مِنْهُمْ وَ مَنْ یَسْمَعْ رَجُلًا یُنَادِی یَا لَلْمُسْلِمِینَ فَلَمْ یُجِبْهُ فَلَیْسَ بِمُسْلِم

“ผู้ใดที่ตื่นเช้าขึ้นมา โดยที่เขาไม่ใส่ใจต่อต่อกิจการ (และความเป็นไป) ของพี่น้องมุสลิม ดังนั้นเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากพวกเขา และผู้ใดที่ได้ยินเสียงบุคคลหนึ่งร้องเรียกว่า “โอ้มวลมุสลิมเอ๋ย!” (เพื่อขอความช่วยเหลือ) แล้วเขาไม่ตอบรับเสียงเรียกร้องนั้น ดังนั้นเขาไม่ใช่มุสลิม” (2)

 

      ในวะซียัต (คำสั่งเสีย) สุดท้ายของท่านอะมีรุลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ที่มีต่อบุตรชายทั้งสองท่าน คือท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงสุดท้ายแห่งอายุขัยก่อนการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่าน ท่านได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า :

 

کونا للظالم خصماً و للمظلوم عوناً

“เจ้าทั้งสองจงเป็นปรปักษ์ต่อผู้อธรรมและจงเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม” (3)

       

ปัจจุบันหากเราได้ติดตามข่าวสารในโลกอิสลามโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นในปาเลสไตน์ ซีเรีย บาห์เรนและในประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ประหนึ่งว่าคำพูดของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้ดังก้องขึ้นในโสตประสาทของเราอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นพิเศษ

 

เมื่อเราพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการตื่นตัวของโลกอิสลามในปัจจุบัน เราจำเป็นจะต้องพิจารณาภาพรวมเหล่านี้ควบคู่ไปกับแนวคิดและหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เพื่อที่เราจะได้สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์ความเป็นไปของโลกได้ดียิ่งขึ้น เพราะในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคัมภีร์อัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ได้ชี้ให้เราเห็นถึงแนวโน้มและวิถีความเป็นไปของโลก เพื่อเราจะได้สามารถแยกแยะและเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น


เป้าหมายหลักของการแต่งตั้งบรรดาศาสดา

 

      

เป้าหมายหลักของพระผู้เป็นเจ้าในการแต่งตั้งบรรดาศาสดามายังมนุษยชาตินั้น มีอยู่สองประการด้วยกัน เป้าหมายประการแรกคือ การสถาปนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างสิ่งถูกสร้างกับพระผู้สร้างของเขา หรือระหว่างบ่าวกับพระผู้เป็นเจ้า กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ การยังยั้งมนุษยชาติจากการเคารพภักดีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพระผู้สร้างของตนเอง ซึ่งถูกสรุปไว้ในถ้อยคำอันจำเริญ (กะลิมะตุฏฏ็อยยิบะฮ์) «لا الهَ الَّا اللهُ» “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่คู่ควรต่อการเคารพภักดี) นอกจากอัลลอฮ์” และเป้าหมายประการที่สองของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง นั้นก็คือ การสถาปนาความสัมพันธ์ที่ดีงามและเหมาะสมในระหว่างมวลมนุษย์ที่พึงมีต่อกันบนพื้นฐานของความยุติธรรม สันติภาพ ความจริงใจ ความร่วมมือ ความเมตตา ความรักและการรับใช้บริการซึ่งกันและกัน

 

       

คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงสองประเด็นนี้ว่า คือสองเป้าหมายและสองภารกิจหลักของบรรดาศาสดา ในกรณีที่เกี่ยวกับเป้าหมายแรก พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นศาสดาท่านสุดท้ายว่า :

 

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا  وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ بِإِذْنِهِ وَسِرَاجًا مُّنِيرًا

“โอ้ผู้เป็นศาสดา แท้จริงเราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นศาสนทูต เพื่อเป็นสักขีพยาน เป็นผู้แจ้งข่าวดี เป็นผู้ตักเตือน เป็นผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮ์ด้วยการอนุมัติของพระองค์ และเป็นประทีปที่ส่องสว่าง” (4)

 

      

และเกี่ยวกับเป้าหมายที่สอง พระองค์ทรงตรัสว่า :

 

لَقَدْ أَرْسَلْنَا رُسُلَنَا بِالْبَيِّنَاتِ وَأَنْزَلْنَا مَعَهُمُ الْكِتَابَ وَالْمِيزَانَ لِيَقُومَ النَّاسُ بِالْقِسْطِ

“แน่อนนยิ่ง เราได้แต่งตั้งบรรดาศาสนทูตของเรามาพร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ อันชัดแจ้ง และเราได้ส่งคัมภีร์และตราชูลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่ด้วยความยุติธรรม” (5)

 

       

จะเห็นได้ว่าคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนเพียงใด ว่าภาระหน้าที่และพันธะกิจของบรรดาศาสดานั้น คือการสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติ

       

ในโองการนี้ได้กล่าวว่า เราได้ส่งบรรดาศาสนทูตของเรามาพร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ อันชัดเจน และเราได้ส่งคัมภีร์และคำแนะนำพร้อมด้วยตราชูมาพร้อมกับพวกเขา กล่าวคือ กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีความยุติธรรม เพื่ออะไร? «ليقوم النّاس بالقسط» เพื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนจะได้ปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และหลักการของความยุติธรรมจะได้ถูกสถาปนาขึ้นในหมู่มนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นของการสถาปนาความยุติธรรมในหมู่มนุษยชาติ คือวัตถุประสงค์หลักและเป็นเป้าหมายโดยรวมของศาสดาทั้งหมด กล่าวคือ บรรดาศาสดาที่ถูกส่งมานั้น งานหนึ่ง หน้าที่หนึ่ง ภารกิจหนึ่งและพันธะกิจหนึ่งที่พวกท่านมีตามตัวบทที่ชัดแจ้งของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นก็คือ เรื่องของความยุติธรรม (6)
ระบอบที่ยุติธรรมและเสมอภาคคือสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

 

      

ระบอบการปกครองในอุดมคติที่จะสนองตอบความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมให้แก่มนุษยชาติและสังคมได้อย่างสมบูรณ์นั้นถูกนำเสนอโดยพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านบรรดาศาสดาของพระองค์นับจากท่านศาสดาอาดัม (อ.) จวบจนถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) บรรดาศาสดาเหล่านั้นใช้ความอุตสาห์พยายามมาโดยตลอดเพื่อที่จะทำให้อุดมคติดังกล่าวนี้เป็นจริงขึ้นในโลกแห่งการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าได้บอกข่าวถึงการบรรลุอุดมคตินี้ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านศาสดาท่านสุดท้าย คือท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในนามของรัฐบาลโลก และในความเชื่อของบรรดามุสลิม รัฐบาลโลกนี้คือคำมั่นสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกกล่าวไว้โดยคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งจะบรรลุความเป็นจริงด้วยการมาหรือการปรากฏกาย (ซุฮูร) ขึ้นของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้สืบทอด (วะซีย์) คนสุดท้ายของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และเนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงละเมิดและบิดพลิ้วในคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์ ดังนั้นจึงไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลยว่า คำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้จะบรรลุสู่ความเป็นจริงของมันอย่างแน่นอน แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีผู้ใดรับรู้ได้อย่างแน่ชัด แม้แต่ตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เองก็ตาม! ประเด็นดังกล่าวนี้ มีปรากฏในแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ทั้งจากชีอะฮ์และซุนนี่

 


ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จของอิสลาม

 

       

ด้วยกับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้ซึ่งจะมาเพื่อทำให้รัฐบาลโลกที่มีความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมบรรลุความเป็นจริงนั้น มีมิติและแง่มุมต่าง ๆ มากมาย แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ การสถาปนาและการจัดตั้งอำนาจการปกครองของอิสลาม ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ในคัมภีร์อัลกุรอานจึงมีการกล่าวถึงชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จของอิสลามที่มีเหนือลัทธิศาสนาและระบอบการปกครองอื่น ๆ ทั้งมวลไว้ ส่วนหนึ่งจากคำสัญญาเหล่านั้นคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบทอัตเตาบะฮ์ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

 

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

“พระองค์คือผู้ทรงส่งศาสนทูตของพระองค์มา พร้อมด้วยทางนำและศาสนาแห่งสัจธรรม เพื่อที่พระองค์จะทรงทำให้มันพิชิตเหนือศาสนาทั้งหลาย และแม้ว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีจะรังเกียจก็ตาม” (7)

 

      

ในโองการนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสัญญาเกี่ยวกับชัยชนะของอิสลาม และการที่มันจะพิชิตเหนือลัทธิศาสนาอื่น ๆ ทั้งมวลนั้น เมื่อพิจารณาถึงกรณีต่าง ๆ ของการใช้คำกิริยา (ฟิอ์ลุน) คำว่า «أظَهَرَه عليه» (อัซฮะร่อฮู อะลัยฮิ) “ทำให้มีชัยชนะเหนือ” ในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น จุดประสงค์ของมันในที่นี้คือชัยชนะและการพิชิตที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือ บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามอิสลามจะมีชัยชนะเหนือบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามลัทธิศาสนาอื่น ๆ
ชัยชนะในทุกๆ ด้าน

 

     

  เมื่อพิจารณาถึงการพิชิตและชัยชนะที่เป็นรูปธรรมของอิสลามที่จะเกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องกล่าวว่า จุดประสงค์ของโองการอัลกุรอานข้างต้น มิได้หมายถึงชัยชนะทางด้านตรรกะและทางทฤษฎีของหลักคำสอนของอิสลามที่มีเหนือหลักความเชื่อของศาสนาและลัทธิการปกครองอื่น ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าจุดประสงค์ของมันคือชัยชนะและการพิชิตทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจและทุก ๆ ด้านของอิสลาม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการชี้ถึงรัฐบาลโลกของบรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) ที่ต้องการจะดับแสง (รัศมี) แห่งพระผู้เป็นเจ้า และต้องการทำลายรากฐานของอิสลาม ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

يُرِيدُونَ أَن يُطْفِؤُواْ نُورَ اللّهِ بِأَفْوَاهِهِمْ وَيَأْبَى اللّهُ إِلاَّ أَن يُتِمَّ نُورَهُ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ

“พวกเขาปรารถนาที่จะดับรัศมีของอัลลอฮ์ด้วยปากของพวกเขา และอัลลอฮ์ทรงปฏิเสธ (ที่จะให้เกิดสิ่งนั้น) เว้นแต่พระองค์จะทรงทำให้รัศมีของพระองค์สมบูรณ์ และแม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธจะรังเกียจก็ตาม” (8)

 

       

บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ ชัยชนะและอำนาจการปกครองของรัฐบาลโลกอิสลามที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้ายของโลก ด้วยกับการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จึงเป็นคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่จะไม่ถูกบิดพลิ้วอย่างแน่นอน เพียงเนื่องจากจนถึงขณะนี้สิ่งดังกล่าวยังมิได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการรอคอยรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) จึงเป็นการรอคอยที่ถูกต้องเหมาะสมกับสติปัญญา และสอดคล้องกับโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน

 


อบูบะซีร กับโองการที่จะต้องเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน

 

      

ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ของอบูบะซีร จากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งเขากล่าวว่า : ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง ที่ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

 

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

“พระองค์คือผู้ทรงส่งศาสนทูตของพระองค์มา พร้อมด้วยทางนำและศาสนาแห่งสัจธรรม เพื่อที่พระองค์จะทรงทำให้มันพิชิตเหนือศาสนาทั้งหลาย และแม้ว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีจะรังเกียจก็ตาม”

 

       

ท่านอิมาม(อ.) ตอบว่า :

والله ما أنزل تاویلها

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ การตีความของโองการนี้ยังมาไม่ถึง”

       

อบูบะซีร จึงถามว่า “แล้วมันจะมาถึงเมื่อใด”

       

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า :

 

حتی یقوم القائم إن شاء الله فإذا خرج القائم لم یبق کافر و مشرک إلاّ کره خروجه حتی لوکان کافر أو مشرک فی بطن صخرة لقالت الصخرة یا مؤمن فی بطنی کافر أو مشرك فاقتله

“จนกว่ากออิม (มะฮ์ดี) จะยืนหยัดขึ้น หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ เมื่อกออิมปรากฏตัวขึ้น จะไม่มีผู้ปฏิเสธและผู้ตั้งภาคีคนใดหลงเหลืออยู่อีก นอกจากเขาผู้นั้นจะรังเกียจการปรากฏตัวของเขา จนกระทั่งว่ามาตรแม้นผู้ปฏิเสธคนหนึ่งหรือผู้ตั้งภาคีคนหนึ่ง (หลบ) อยู่ด้านในของก้อนหินก้อนหนึ่ง ก้อนหินนั้นก็จะกล่าวว่า โอ้ผู้ศรัทธาเอ๋ย! มีผู้ปฏิเสธคนหนึ่งหรือผู้ตั้งภาคีคนหนึ่งอยู่ด้านในของฉัน จงมาฆ่าเขาเถิด”

 

      

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวต่ออีกว่า :

فینحیّه الله فیقتله

“อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาออกมา แล้วผู้ศรัทธาก็จะฆ่าเขา” (9)

 

        

โองการนี้และโองการอื่น ๆ อีกมากมาย ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และรัฐบาลโลกของท่าน

คำรายงาน (ริวายะฮ์) กับแนวความคิดเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

 

       

นอกเหนือจากการชี้ชัดของอัลกุรอานถึงรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แล้ว ยังมีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากมายที่กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการอธิบายถึงมิติต่าง ๆ ที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะจากแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ของชีอะฮ์เพียงเท่านั้น แต่ทว่าในแหล่งอ้างอิงของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ก็สามารถพบเห็นได้อย่างมากมายเช่นกัน เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของคำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า มีประเด็นต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ปรากฏอยู่ในคำรายงานเหล่านี้ บนพื้นฐานของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) การที่ท่านจะมาจากอะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัว) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเป็นหนึ่งในลูกหลานของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) หรือกรณีที่ว่าท่านคือบุตรชั้นที่เก้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และสืบเชื้อสายโดยผ่านท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงโดยตรงในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ

 

       

เช่นเดียวกันนี้ยังมีการชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เป็นบุตรชายของท่านอิมามฮะซัน อัซกะรี (อ.) ทั้งในคำรายงาน (ริวายะฮ์) จากชีอะฮ์และซุนนี่ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงไว้ในคำรายงานต่าง ๆ อย่างมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่าน การที่ท่านจะทำให้โลกนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมหลังจากการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ที่ยาวนานของท่าน และด้วยกับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านนี้เองที่อิสลามจะปกคลุมโลกและจะพิชิตเหนือลัทธิศาสนาและระบอบการปกครองอื่น ๆ ทั้งมวล

 

       

นอกเหนือจากเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ยังมีคำรายงานอีกจำนวนมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และการมีอายุที่ยืนยาวของท่าน ดังนั้นมันจึงเป็นที่ชัดเจนว่า เรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) มีหลักฐานที่มามากมายจากคำรายงานทั้งของซุนนี่และชีอะฮ์ ยิ่งไปกว่านั้น บรรดานักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เองยังได้เรียบเรียงหนังสือต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ไว้ ซึ่งสิ่งนี้โดยตัวมันเองชี้ให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงความสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ที่มีอยู่ท่ามกลางมุสลิมทั้งซุนนี่และชีอะฮ์

 

       

เนื่องจากความจำกัดของเอกสารนี้จึงขอให้ผู้อ่านที่สนใจอยากจะรับรู้รายละเอียดในเรื่องนี้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนจากแหล่งอ้างอิงของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา

 

       

ในซอเฮี๊ยะฮ์บุคอรี รายงานจากอับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอูด ซึ่งกล่าวว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

لو لم یبق من الدنیا اِلا یوم لطوّل الله ذلک الیوم حتی یبعث رجلاً منّی ـ او من اهل بیتی ـ یوطّئی اسمه اسمی، یملأ الأرض قسطاً و عدلاً کما ملنت ظلماً و جورا

“หากไม่มีเวลาเหลืออยู่อีกสำหรับโลกนี้ นอกจากเพียงวันเดียว แน่นอนอัลลอฮ์จะทรงทำให้วันนั้นยืดยาวจนกระทั่งพระองค์จะทรงส่งบุรุษผู้หนึ่งจากฉัน (หรือจากอะฮ์ลุลบัยติ์ของฉัน) มา ชื่อของเขาเป็นชื่อเดียวกับฉัน เขาจะทำให้แผ่นดินเต็มเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรมและยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มันถูกทำให้เต็มไปด้วยความอธรรมและการกดขี่” (10)

 

       

อิมามอะห์มัด อิบนิฮัมบัล ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “มุสนัด” ของท่าน โดยอ้างรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

ابشرکم بالمهدی، یُبعث فی امتی علی اختلافٍ من الناس و زلازل، فیملأ الأرض قسطاً و عدلاً کما ملئت ظلماً و جوراً

“ฉันขอแจ้งข่าวดีแก่พวกท่านเกี่ยวกับมะฮ์ดี เขาจะถูกส่งลงมาในหมู่ประชาชาติของฉันเมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและแผ่นดินไหวมากมาย โดยที่เขาจะทำให้แผ่นดินเต็มเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรมและยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มันถูกทำให้เต็มไปด้วยความอธรรมและการกดขี่” (11)

 

       

อะห์มัด บินอับดุลฮะลีม ซึ่งถูกรู้จักในนาม “อิบนุตัยมิยะฮ์” ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มันฮาญุซซุนนะฮ์” ของท่านว่า :

 

ان الاحادیث التی یُحْتَجُّ بها علی خروج المهدی احادیث صحیحة رواها ابوداود و الترمذی و احمد و غیرهم من حدیث ابن‌مسعود و غیره

“บรรดาฮะดีษที่ถูกใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับการยืนหยัดขึ้นของมะฮ์ดีนั้น เป็นฮะดีษซอเฮี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) โดยที่ อบูดาวูด ติรมีซี อะห์มัด และบุคคลอื่น ๆ ได้รายงานมาจากฮะดีษของอิบนิมัสอูด และของบุคคลอื่น ๆ” (12)

 

       

อิบนุ อบิลฮะดีด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์” ว่า :

 

قد وقع إتفاق الفرق من المسلمين أجمعين على أن الدنيا والتكليف لا ينقضى إلا علي المهدی

“บรรดากลุ่มต่าง ๆ ทั้งหมดของมุสลิมมีทัศนะเห็นพร้องตรงกันว่า โลกและภาระหน้าที่จะยังไม่สิ้นสุดลงเว้นแต่ด้วยกับมะฮ์ดี” (13)

 

       

ด้วยเหตุนี้บรรดานักรายงานฮะดีษและเจ้าของหนังสือรวบรวมฮะดีษทั้งหลาย จึงอ้างรายงานฮะดีษบทหนึ่งจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

من انکر خروج المهدی فقد کفر بما أنزل علی محمد

“ผู้ใดที่ปฏิเสธการปรากฏตัวขึ้นของมะฮ์ดี ดังนั้นแน่นอนยิ่ง เขาได้ปฏิเสธสิ่งที่ถูกประทานลงมาให้แก่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ)” (14)

 

       

ดังนั้นการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ผู้ศรัทธาคนใดไม่อาจปฏิเสธได้ ดังที่ชี้ให้เห็นไปแล้วข้างต้นว่า ทั้งชีอะฮ์และซุนนี่มีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้ และแม้แต่บรรดาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็เช่นกัน ซึ่งในคัมภีร์ต่าง ๆ ของพวกเขาได้แจ้งข่าวดีถึงผู้ช่วยให้รอดคนหนึ่งแก่ผู้ปฏิบัติตามของพวกเขา ว่าจะมาปรากฏตัวในยุคสุดท้ายของโลก

 

      

ตัวอย่างเช่น : ในคัมภีร์เตารอต (พระคัมภีร์อิสยาห์) บทที่ 11 ได้กล่าวว่า "ท่านจะพิพากษาคนจนด้วยความยุติธรรม และตัดสินเพื่อผู้ที่ถูกกดขี่แห่งพื้นโลกด้วยความเที่ยงตรง... สุนัขป่าจะใช้ชีวิตอยู่กับลูกแกะ เสือดาวจะนอนอยู่กับลูกแพะ ลูกวัวกับสิงโตหนุ่มกับสัตว์อ้วนพีจะอยู่ด้วยกัน และเด็กเล็ก ๆ จะนำมันไป... สัตว์เหล่านั้นจะไม่ทำอันตรายหรือก่อความเสียหายในทั่วบริเวณหุบเขาอันบริสุทธิ์ของเรา เพราะว่าพื้นโลกจะเต็มไปด้วยความรู้เรื่องของพระเยโฮวาห์"

 

      

ในพันธสัญญาเดิม หนังสือสวดสดุดี 37 กล่าวไว้ดังนี้ "…เนื่องจากบรรดาผู้ที่ชั่วร้ายจะถูกทำให้สิ้นสุด แต่บรรดาผู้ที่รอคอยพระเจ้าจะกลายเป็นผู้สืบทอดมรดกแห่งแผ่นดิน พึงสังวรณ์เถิด! หลังจากช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย คนชั่วร้ายจะไม่เหลืออยู่ เจ้าจะค้นหาในสถานที่ของเขาและเขาจะไม่มีอยู่ แต่บรรดาผู้ที่มีความสุภาพอ่อนโยนจะสืบทอดมรดกแห่งแผ่นดิน... และมรดกของพวกเขาจะคงอยู่ตลอดชั่วนิรันดร์”

 

      

ในคัมภีร์อัลกุรอาน ในบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 105 กล่าวว่า :

 

وَ لَقَدْ كَتَبْنا فِى الزَّبورِ مِنْ بَعْدِ الذِّكْرِ أنَّ الارضَ يَرِثُها عِبادِىَ الصَّالِحُونَ

“และแน่นอนยิ่ง เราได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์ซะบูร (ของดาวูด) ภายหลังจากซิกร์ (เตารอต) แท้จริงแผ่นดินนี้ ปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของข้าจะสืบทอดมรดกมัน”

 

       

ในอินญีล (คัมภีร์ไบเบิล) ลูกา บทที่ 12 ได้กล่าว่า : ท่านทั้งหลายจงคาดเอวของท่านไว้ และให้ตะเกียงของท่านจุดอยู่ และพวกท่านจงเป็นเหมือนคนที่รอคอยรับนายของตน เมื่อนายจะกลับมาจากงานสมรส เพื่อว่าเมื่อนายมาเคาะประตูแล้ว พวกเขาจะเปิดให้นายได้ทันที ความโชคดีจงมีแด่บรรดาผู้รับใช้ ซึ่งเมื่อนายของพวกเขากลับมาก็จะพบพวกเขา (กำลังเฝ้ารอคอยอยู่)... ดังนั้นท่านทั้งหลายจงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเถิด เพราะบุตรมนุษย์จะมาในช่วงเวลาที่ท่านไม่คิดไม่ฝัน"

 

       

เป็นสิ่งชัดเจนยิ่งว่า ความหมายของสำนวนประโยคต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล ลูกา ก็คือ "อินติซอรุ้ลฟะญัร" (การรอคอยการคลี่คล้ายความทุกข์ยาก หรือในการตีความ คือการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั่นเอง) ซึ่งในทัศนะของชีอะฮ์ ผู้ที่รอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ที่แท้จริง ก็เหมือนกับบุคคลที่กำลังรอคอยการมาของแขกผู้มีเกียรติที่จะต้องทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเองเป็นอันดับแรก และจัดเตรียมอาหารเพื่อรับรองแขกผู้มาเยือน ผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำความสะอาดบ้านแห่งจิตวิญญาณของตนจากความแปดเปื้อนทางด้านวัตถุ และหลีกเลี่ยงจากความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า จะต้องมีความรักความผูกพันต่อความดีและกำชับกันให้ทำความดี รังเกียจความชั่วและมีการห้ามปรามกันในสิ่งดังกล่าว (ไม่ใช่เฉื่อยชาและไม่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้) เนื่องจากเขาคือผู้รอคอยความพินาศและการถูกทำลายของความอธรรมและการกดขี่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เขาจะต้องยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นตามขอบเขตความสามารถของเขา เขาจะต้องเป็นผู้ช่วยเหลือสัจธรรมและความยุติธรรม จะต้องเป็นศัตรูกับความหลงผิด ความอยุติธรรมและการกดขี่ และนี่คือความหมายของคำว่า "อินติซอรุ้ลฟะญัร" (การรอคอยการคลี่คล้ายความทุกข์ยาก หรือการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.)) ซึ่งในคำรายงานต่าง ๆ ของอะฮ์ลิลบัยติ์ (อ.) ถือว่ามันคือการอิบาดะฮ์ที่ประเสริฐที่สุด

 

      

ท่านติรมีซี ก็ได้อ้างรายงานนี้มาจากท่านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

افضل العبادة انتظار الفرج

“การอิบาดะฮ์ที่ประเสริฐที่สุด คือการรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก” (15)

 

       

แต่แน่นอนยิ่งว่า พี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์จะรับรู้ความหมายของคำรายงานนี้ต่างไปจากที่พี่น้องชีอะฮ์ที่ให้ความหมายว่ามันคือ การรอคอยท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

 

(โปรดติดตาม ตอนที่ 2 : การตื่นตัวและการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชาติมุสลิมก่อนการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)


แหล่งอ้างอิง :

(1) อุซูลลุลกาฟี เล่มที่ 2 หน้าที่ 166
(2) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 339
(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายอันดับที่ 470
(4) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ที่ 45, 46
(5) อัลกุรอานบทอัลหะดีด โองการที่ 25
(6) หนังสือมัจญ์มูอะฮ์ อาซาร ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, เล่มที่ 18, ซีรี ดัร ซีเร่เย่ อะอิมเมฮ์ อัฏฮาร (อ.) ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี (ร.ฮ.)
(7) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 33
(8) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 32
(9) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 51 หน้าที่ 60 ฮะดีษที่ 58
(10) ซอเฮี๊ยะฮ์บุคคอรี, มุฮัมมัด บินอิสมาอีล บุคคอรี, สำนักพิมพ์, ดารุ้ลมะอ์ริฟะฮ์, เบรุต
(11) ตาญุลอุรูซ, ญะวาฮิรุลกอมูซ, มุฮัมมัด มุรตะฎอ ซุบัยดี, ดารุ มักตะบะติลฮะญาต, เบรุต, พิมพ์ครั้งที่ 2
(12) มันฮาญุซซุนะตุนนะบะวียะฮ์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 183
(13) ชัรห์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อบิลฮะดีด เล่มที่ 10 หน้าที่ 96
(14) มุอ์ญะมุ อะฮาดีษิลอะมามิลมะฮ์ดี, เล่มที่ 2 หน้าที่ 18, อ้างจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ ของชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ และค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์, กุนดูซี เล่มที่ 3 หน้าที่ 295 ; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 51 หน้าที่ 73 ; มุนตะค่อบุลอะซัร, ซอฟี กุลพัยกานี, หน้าที่ 199 และ 625 และอื่น ๆ
(15) ซุนันติรมิซี เล่มที่ 5 หน้าที่ 528 ฮะดีษที่ 116


แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

มุนาญาต อัชชากกีน ...
...
บันทึกประวัติ “ปาเลสไตน์” ...
มารู้จักอิมามมะฮฺดีย์
การรอคอยอิมามแห่งการปฏิวัติโลก
อิมามฮุเซนฺ (อ.) คือ ใคร
ฟาฎิมะฮ์มิไช่หรือ?
สาเหตุการกล่าวคำปฏิญาณในอิสลาม
อะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา (ศ็อล ...
ซิกรุลลอฮ์ด้วยจิต

 
user comment